สองปีที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของ ‘น้ำ’ – จิราพร สินธุไพร เพราะแม้จะเป็น ส.ส.ร้อยเอ็ด เพียงแค่สมัยแรก แต่เธอก็ได้รับมอบหมายจากพรรคเพื่อไทยให้ ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงสามครั้งสามครา และล่าสุด เธอยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค เป็น ‘เลือดใหม่’ คนสำคัญของพรรคเพื่อไทย

อันที่จริงครอบครัว ‘สินธุไพร’ ไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงการเมือง นิสิต สินธุไพร พ่อของเธอ เป็นอดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และเป็นแกนนำคนหนึ่งของ ‘คนเสื้อแดง’ ที่หลายคนขานชื่อเขาในฐานะ ‘ผอ.นิสิต สินธุไพร’ หรือผู้อำนวยการโรงเรียน นปช. แดงทั้งแผ่นดิน นั่นทำให้เลือด ‘คนเสื้อแดง’ ของจิราพรเข้มข้นอย่างยิ่ง

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จิราพรยังกลายเป็น ‘ปรากฏการณ์ใหม่’ ของสภาผู้แทนราษฎรไทย กลายเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่มีแฟนคลับมากที่สุดใน TikTok คู่กับ ‘อิ่ม’ – ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.ลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย จนกลายเป็น ‘คู่จิ้นอิ่มน้ำ’ และกลายเป็นครั้งแรกในสภา ที่มีคู่จิ้นหญิง-หญิงเกิดขึ้น

จนถึงวันนี้ #พี่อิ่มน้องน้ำ ยังคงเป็นเทรนด์อยู่ใน TikTok แฮชแท็ก #สสน้ำ มียอดวิววิดีโอรวมแล้วกว่า 358 ล้านวิว ขณะที่ #สสอิ่ม อยู่ที่ 318 ล้านวิว ทุกอิริยาบถของ ส.ส.น้ำในสภา ได้รับการนำมาเผยแพร่ใน TikTok และหากเป็น ‘โมเมนต์’ ที่ ส.ส.อิ่ม-น้ำ อยู่ด้วยกัน ก็จะยิ่งได้รับความนิยม และมียอดวิวที่สูงมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องของ #พี่อิ่มน้องน้ำ #คูมธีคูมจิ (ย่อมาจาก คุณธีรรัตน์ และ คุณจิราพร) ยังกลายเป็น ‘แฟนฟิค’ สำคัญในเว็บไซต์แต่งนิยายออนไลน์หลายแห่ง และด้อม #อิ่มน้ำ ยังมีที่ทางสำคัญทั้งในไลน์ กรุ๊ปเฟซบุ๊ก และ Openchat

แฟนคลับของจิราพรส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงวัยมัธยมฯ ที่หลายครั้งจะนำขนมสารพัดไปให้เธอที่พรรคเพื่อไทย บ้างก็ตามไปเฝ้าที่รัฐสภา และบางครั้งถึงกับติดตามไปถึง ‘ร้อยเอ็ด’ พื้นที่ของจิราพร ไม่เพียงเท่านั้น แฟนคลับของเธอยังตั้งตัวเป็น ‘ด้อม’ เล็กๆ ไม่ต่างกับวัฒนธรรม ‘ติ่งเกาหลี’ ที่ในวัยหนึ่งจิราพรก็เคยอยู่ในวังวนนี้เช่นกัน 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตเธอ เป็นจังหวะเหมาะที่ The Momentum จะชวน ส.ส. อายุน้อย ผู้มีรอยยิ้มและคำพูดที่แหลมคมเป็นอาวุธ สนทนาถึงเส้นทางชีวิตการเมืองของเธอ ความ ‘ผูกพัน’ กับคนเสื้อแดงในฐานะลูกหลานคนหนึ่ง ไปจนเรื่องถึงคู่จิ้น #อิ่มน้ำ ที่เธอก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น แต่ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ

ก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง คุณน้ำทำอะไรมาบ้าง

น้ำเคยทำงานที่บริษัททิพยประกันภัย ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทอีกใบหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ พอกลับมาก็ได้มีโอกาสไปทำงานประจำอยู่ที่สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศอาเซียน อะไรที่เป็นประเด็นเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะมีการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศ ก็จะผ่านกองนี้ 

พอถึงเวลาหนึ่ง หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย พร้อมจะเปิดโอกาสให้กับเลือดใหม่ๆ เข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น เลยคิดว่าน่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะพอดี แล้วน้ำก็พร้อมพอสมควรจากประสบการณ์ทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน รวมถึงเคยมีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่า อยากจะเจริญรอยตามคุณพ่อที่ทำงานทางการเมือง เลยตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2562

การโตมากับครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่เป็นนักการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนที่คุณพ่อจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ตอนปี 2544 คุณพ่อเคยรับราชการครู แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นนักเคลื่อนไหว เป็นนักกิจกรรม และเป็นคนที่พาชาวบ้านเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องนมโรงเรียน หรือเรื่องป่า

ตอนนั้นน้ำกับน้องสาวยังเด็ก แต่จำความได้ว่าเรามีโอกาสไปร่วมกิจกรรมกับคุณพ่อเรื่อยๆ กระทั่งคุณพ่อผันตัวจากครูมาทำงานการเมือง ก็บอกกับน้ำ บอกกับน้องสาวว่า เมื่อคุณพ่อตัดสินใจเป็นนักการเมือง ทำงานการเมือง ทุกคนก็ถือว่าทำงานการเมืองด้วยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งเรื่องเวลาและเรื่องต่างๆ ทั้งหลังบ้านก็ต้องช่วยกัน ต้องดูแลทุกอย่างเหมือนกัน เลยได้คลุกคลีการทำงานการเมืองกับคุณพ่อมาตั้งแต่เด็ก ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามไปลงพื้นที่ ตอนเด็กๆ ก่อนที่เราจะเห็นคุณพ่อทำงานทางการเมือง เรามักจะคิดเสมอว่า การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล ความรุนแรง เมื่อก่อนเราจะได้ยินข่าวบ่อยมากที่มีคดีฆาตกรรมกัน ยิงกัน รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ทรงอิทธิพล เรารู้สึกว่าเราเข้าไม่ถึง

แต่เมื่อคุณพ่อตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมือง ก็เปลี่ยนทัศนคติของน้ำต่อนักการเมืองไปเลย ว่าจริงๆ แล้วนักการเมืองก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่หากมีความตั้งใจจริง ก็ทำงานให้กับประชาชนได้ เลยเริ่มฝันว่าอยากจะเจริญรอยตามคุณพ่อ

คุณน้ำคิดว่าได้อะไรจากคุณพ่อมากที่สุด

สิ่งสำคัญคือแนวคิดทางการเมือง เพราะว่าคุณพ่อนอกจากจะเป็นอดีต ส.ส. ก็เคยเป็นอดีตแกนนำ นปช. เป็นคนเสื้อแดงคนหนึ่ง คุณพ่อมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างจะแรงกล้า และยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย 

คุณพ่อทำให้เราได้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ได้พยายามมาปลูกฝังว่าเราต้องคิดแบบไหน หรืออย่างไร เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกคิด เลือกเสพข่าว เลือกอ่านข่าวต่างๆ ได้เอง แล้วก็ตัดสินใจเองได้ ซึ่งพอได้เห็นการต่อสู้ของคุณพ่อ น้ำก็เริ่มที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทางการเมือง คุณพ่อจึงกลายเป็นไอดอลของเรา

นอกจากนี้ เราก็เห็นการทำงานของคุณพ่อว่าไม่ได้เป็นแค่นักการเมืองคนหนึ่ง แต่เป็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งนั้นได้ส่งต่อมาหาเราอย่างเต็มที่ ตอนที่น้ำประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขต 5 เราก็ประกาศชัดเจนว่าเราขอมาอาสารับไม้ต่อจากคุณพ่อในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

รู้สึกอย่างไรกับการที่เป็นลูกสาวแกนนำเสื้อแดง เพราะตอนนั้นหลายคนก็รู้สึกว่าเสื้อแดงเป็นพวกหัวรุนแรง หรือบ้างก็เรียกว่าเป็น ‘ควายแดง’

มันมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แต่ว่าในส่วนของน้ำ เรามองว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมาเห็นพ้องต้องกันหมดทุกอย่างในเรื่องการเมือง ยิ่งเป็นประเทศที่บอกว่าเรียกร้องประชาธิปไตย ก็เป็นธรรมดาที่คนจะเห็นไม่ตรงกัน เพียงแต่ต้องยึดหลักการว่า เราต้องต่อสู้โดยใช้สันติวิธี ซึ่งสันติวิธีก็เป็นแนวทางที่คนเสื้อแดงยึดมั่นมาตลอด

น้ำเลยมองว่า ถึงเขาจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดง แต่ว่าอย่างหนึ่งที่ควรจะเห็นตรงกันก็คือ คนไทยควรจะมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกทางการเมือง สามารถที่จะเรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งที่เป็นธรรมให้กับทุกคนได้

เพราะฉะนั้น หลักการก็คือหลักการ หลักการของคนเสื้อแดงคือเราไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินไปกว่าเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันในสังคม

สิ่งกระตุ้นสำคัญที่ทำให้คุณตัดสินใจทำงานการเมืองคืออะไร

อย่างที่บอกว่าน้ำเองมีความฝันตั้งแต่เด็ก คือมีคุณพ่อเป็นแบบอย่างในการทำงานทางการเมือง ในตอนแรกเราก็ยังรู้สึกว่ามันถึงเวลาของเราแล้วหรือยัง โอเค คิดแล้วเราก็มีประสบการณ์ระดับหนึ่งแล้ว และพร้อมจะทำงานให้กับประชาชน

แต่อีกจุดหนึ่งก็คือ คุณพ่อน้ำที่เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีหลายอย่าง ตอนนั้นคุณพ่อต้องเดินเข้าออกเรือนจำเป็นว่าเล่นเกิน 5 ครั้ง ทำให้ไม่สามารถที่จะทำงานทางการเมืองได้อย่างปกติ

เราคิดว่าเราอยากเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาต่อแถวฝั่งประชาธิปไตยให้ยาวขึ้น เราอยากมารับไม้ต่อทางการเมืองเพื่อต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย น้ำไม่ได้คิดอะไรไกลเกินกว่าแค่มาต่อแถวฝ่ายประชาธิปไตยให้ยาวขึ้น เพื่อจะให้ประชาชนได้รับรู้ว่า แกนนำที่เคยต่อสู้ เคยถูกดำเนินคดี ถูกจัดการทางการเมืองหลายๆ อย่าง อย่างไม่เป็นธรรม ถึงเวลาหนึ่ง ก็ยังมีคนรุ่นหลังที่พร้อมที่จะมาต่อสู้ร่วมกับพี่น้องประชาชนต่อไป

อย่างการเลือกตั้ง 2562 คุณคงเห็นชัดอยู่แล้วว่ามันเป็นระบบที่ไม่ปกติ และรู้ใช่ไหมว่าตัวเองจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

ความจริงก็เตรียมใจไว้ระดับหนึ่งว่า เรามี ส.ว. 250 คนที่เขาวางตัวไว้ มันเป็นเหมือนเครื่องชี้นำทางการเมือง ทำให้พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ กลายเป็นว่าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคฝั่งตรงข้าม จัดตั้งรัฐบาลโดยมี ส.ว. 250 คนช่วยหนุนอยู่ 

เราทราบอยู่แล้วว่าเราต้องเป็นฝ่ายค้าน และคิดว่าการเมืองต้องเดินไปในสภาวะที่ไม่ค่อยปกติเท่าไร แต่น้ำก็คิดอย่างเดียวว่า เราได้รับมอบหมายหน้าที่จากประชาชนแล้วว่าให้ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และแม้จะเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลได้

ประเด็นอะไรที่คุณสนใจเป็นพิเศษหรืออยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในการทำงานเป็น ส.ส.

ในฐานะ ส.ส.เขต ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาหลักจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะในภาคอีสาน แต่เป็นเรื่องเดียวกันทั้งประเทศ น้ำเพิ่งมีโอกาสกลับไปอ่านรายละเอียดสมัยพรรคไทยรักไทย ตอนที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยมีโครงการทำโมเดลแก้จน ‘อาจสามารถโมเดล’ ไปลงพื้นที่ที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด หลายวันเหมือนกันที่ท่านทักษิณไปลงพื้นที่เอง พาคณะรัฐมนตรี พานักการทูตจากทั่วโลกไปลงพื้นที่ เพื่อสาธิตวิธีแก้จน เป็นแบบอย่างให้ข้าราชการนำไปขยายผลต่อ

น้ำได้อ่านเอกสารบางส่วน ก็เห็นว่าท่านวางวิสัยทัศน์การแก้จนไว้ทุกอย่างหมดแล้ว เรารู้ว่าวิธีการเป็นอย่างไร แล้วท่านก็ได้ทำเป็นตัวอย่างไประยะหนึ่ง ซึ่งเห็นชัดว่าปัญหาใหญ่ที่มันครอบให้ประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง คนจนก็ยังจนอยู่ ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ มันคือโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งโมเดลแก้จนของท่านทักษิณตอบโจทย์ได้ทั้งหมด 

ตอนท่านไปลงพื้นที่ อำเภออาจสามารถเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แต่ทำได้ระยะหนึ่ง ก็ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทุกอย่างก็ถูกพับลงไปทั้งหมด หลังจากนั้นก็มีรัฐบาลทหาร สลับกับรัฐบาลพลเรือน ก็เกิดความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยอีกอย่างคือความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ถูกอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงอยู่เรื่อยๆ ทำให้การดูแลปากท้องของพี่น้องประชาชนนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่อาจสามารถ นับจากวันนั้น ผ่านมา 16 ปีแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

มีหมู่บ้านหนึ่งนะคะ เคยเป็นหมู่บ้านขอทาน ชาวบ้านที่สิ้นหวังจากการทำมาหากินปกติ ก็ชวนกันไปทำอาชีพขอทาน แต่ว่าพอนายกฯ ทักษิณไป ก็ไปให้อาชีพ ใครมีปัญหาที่ดินก็แก้ไขให้ ไปสำรวจแหล่งน้ำ ให้เครื่องมือทำกินกับประชาชน ขนาดว่าโดนทำรัฐประหาร แต่โครงการก็ยังเดินต่อได้อีกระยะหนึ่ง

เพราะประชาชนเขาเกิดความหวังในชีวิตว่า ถ้าเขาขยันทำมาหากินแล้ว จะสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ กลายเป็นว่าทุกวันนี้ไม่มีขอทานแล้ว หมู่บ้านขอทานกลายเป็นหมู่บ้านที่ทุกคนมีอาชีพของตัวเอง สามารถทำมาหากิน สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเล็กน้อย ถ้าไม่โดนทำรัฐประหารไปก่อน ป่านนี้ประชาชนในอาจสามารถหรืออาจจะเป็นทั้งจังหวัดร้อยเอ็ดก็น่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้

เวลาอภิปรายในสภาแต่ละครั้ง หรือครั้งล่าสุดที่อภิปรายเรื่องวัคซีน คุณน้ำเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ก่อนที่น้ำจะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 3 คือน้ำเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วตั้งแต่ครั้งแรก ซึ่งทุกครั้งน้ำก็เป็นผู้อภิปรายหลักของพรรคมาโดยตลอด อาจจะเป็นเพราะว่าน้ำได้รับโอกาสให้ขึ้นอภิปรายตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้อยู่ที่สภาแห่งนี้ คือพูดเรื่องแผนปฏิรูปประเทศ ก็ทำเต็มที่ แล้วผลออกมาก็อาจจะได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี 

หลังจากนั้น เราก็ทำการบ้านทุกครั้ง เวลาที่จะอภิปราย ก็เตรียมตัวอย่างดีในแต่ละแมตช์ จะใช้เวลาเก็บข้อมูลหลายเดือน เก็บเอกสาร ค่อยๆ สะสมข้อมูลเอาไว้ จนเอามากลั่นกรองเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นในการอภิปราย 

อย่างครั้งล่าสุดก็ใช้เวลาเก็บข้อมูลมาเป็นเดือนเหมือนกัน อ่านเอกสารเยอะมาก เป็นแฟ้มหนาๆ 3-4 แฟ้ม แล้วก็เลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่านี่น่าจะเป็นจุดน็อกของรัฐบาล พอสุดท้าย มีการปรับเปลี่ยนหน้างานกันอีก คือพรรคมอบหมายงานลักษณะเร่งด่วนให้น้ำว่า ให้อภิปรายสรุปเกี่ยวกับประเด็นโควิด-19 ทั้งหมดของพรรค แล้วก็ขยี้ประเด็นที่รัฐบาลตอบไปแล้วไม่ชัดเจนหรือยังไม่ตอบ 

เพราะว่าเราเห็นการชี้แจงของทางรัฐบาล ทั้งจากพลเอกประยุทธ์ หรือคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ไม่สามารถตอบคำถามได้หลายคำถาม เราเลยต้องการจะจี้แผลตรงนั้น น้ำก็เลยต้องปรับสคริปต์การพูดทั้งหมดในสองคืนก่อนที่จะอภิปราย เก็บประเด็นหน้างาน แล้วอภิปรายจี้ประเด็นตรงนั้นไป ซึ่งก็กดดันพอสมควร แต่ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ตามที่ประชาชนมอบหมาย

มักจะมีคนพูดว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อให้อภิปรายดีแค่ไหน สุดท้ายตอนยกมือโหวตก็แพ้อยู่ดี คุณมองอย่างไร

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีอยู่น้อยครั้งมากที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสามารถทำให้เกิดการโหวตแล้วชนะรัฐบาลในสภาได้ แต่เป้าหมายของเรานั้น ถึงแม้จะแพ้มือในสภา แต่สิ่งที่ประชาชนจะได้คือ พรรคฝ่ายค้านสามารถเปิดแผลของรัฐบาล ไส้ในต่างๆ ที่เน่าเฟะ เรื่องที่พวกเขาเคยซุกไว้ใต้พรม เรื่องที่เคยอยู่ในที่มืด การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นการลากรัฐบาลออกมาอยู่ในที่แจ้งให้ประชาชนได้เห็น และได้ทราบว่ารัฐบาลทำอะไรผิดพลาด ล้มเหลว บกพร่อง หรือทุจริตเรื่องใดบ้าง

โดยเฉพาะรอบนี้ได้ผลเกินคาดมาก เพราะได้ทำให้เกิดความแตกแยกของรัฐบาลเองด้วยซ้ำ กลายเป็นการสั่นคลอนฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ ที่พอหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิดการไปปลดรัฐมนตรีที่ไม่ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วก็เกิดแผลในพรรคพลังประชารัฐจนสั่นคลอน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคนคาดการณ์ว่า หลังจากนี้รัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ถึงจนครบ 4 ปีตามวาระ นี่คือสิ่งที่เราได้เปิดแผลเอาไว้ 

แล้วถ้าเราดูคะแนนพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่อภิปรายไม่ไว้วางใจรอบแรก รอบสอง รอบสาม คะแนนก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งก็แสดงว่าการอภิปรายของเรามีผลต่อคะแนนความนิยมของพลเอกประยุทธ์ แม้แต่ในฟากรัฐบาลด้วยซ้ำ

ถึงตอนนี้จะไม่สามารถน็อกรัฐบาลคาที่ได้ แต่จะเป็นประเด็น เป็นข้อมูลสำคัญที่ประชาชนจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในวันที่เขาเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า รัฐบาลนี้ควรได้รับการไว้วางใจให้เป็นรัฐบาลต่ออีกสมัยหรือเปล่า

มาคุยกันเรื่องประเด็น ‘คู่จิ้น’ บ้าง วันแรกที่คุณน้ำได้ยินเรื่องคู่จิ้น #พี่อิ่มน้องน้ำ รู้สึกอย่างไรบ้าง

(ยิ้ม) เออ… ตอนแรกก็แปลกใจอยู่เหมือนกันนะคะ และถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ทราบที่มาที่ไปว่ามาจากที่ไหน เริ่มจากอย่างนี้ก่อน น้ำเติบโตจากการอภิปรายในสภา ก็จะมีพี่ๆ น้องๆ ที่เป็นคอการเมืองอยู่แล้ว ได้รู้จักเราผ่านการอภิปรายในสภา หรือว่าจากการสัมภาษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นการเมือง

แต่ว่ารอบนี้เป็นกระแสที่มีน้องๆ ที่ชื่นชอบเราในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่รูปแบบที่เคยผ่านมาในนักการเมืองทั่วไป  พอไปลองถามดูว่ามาจากไหน ส่วนใหญ่ตามมาจาก TikTok ที่จะมีการทำคลิป ทั้งคลิปการอภิปราย คลิปการลงพื้นที่ รวมไปถึงอิริยาบถต่างๆ ของเรา

น้องๆ บอกว่าประทับใจในการทำงานของเราในฐานะการเมือง แล้วก็… มันมีมุมที่เขารู้สึกว่า เออ เราเองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เขาเข้าถึงได้ ก็เลยเริ่มมาค้นดูว่าเราเป็นใคร ทำอะไร แล้วก็สุดท้ายกลายมาเป็นแฟนคลับเล็กๆ ของเราทั้งหมดนี้น้ำก็ดีใจที่น้องๆ สนใจการเมืองนะคะ น้ำก็ทำหน้าที่ ส.ส. อยู่แล้ว จริงๆ แล้วมันเป็นกระแสที่เราควรดีใจที่มีคนมาชื่นชอบชื่นชมเรา

ก่อนหน้านี้ คนอาจมองนักการเมืองในแง่ลบว่าเป็นคนที่เข้าถึงยาก มีอิทธิพล เป็นพวกทุจริต เป็นกลุ่มอาชีพที่รู้สึกว่าคนไม่ได้มองในแง่บวกเท่าไร แต่กลายเป็นว่ามีน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง แล้วมาชื่นชอบเรา จนกระทั่งใช้เราเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน กระทั่งอยากจะทำงานทางการเมือง อยากเป็นนักการเมืองเหมือนเรา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือได้ทำให้เด็กๆ มองภาพนักการเมืองเปลี่ยนไป

อีกอย่างหนึ่ง น้ำเคยพูดมาตลอดว่า อยากให้คนทุกเพศทุกวัยมีส่วนร่วมทางการเมือง วันนี้ เขาได้เริ่มก้าวข้ามสู่ประตูการเมืองมาแล้ว ได้เริ่มติดตามการเมืองในรูปแบบ ภายใต้การนำเสนอที่เขาชื่นชอบ ไม่ว่าจะทำเป็นคลิปน่ารักๆ หรือคลิปต่างๆ โมเมนต์ต่างๆ 

น้ำว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก แล้วก็เป็นกระแสที่เราควรที่จะต่อยอดให้น้องๆ เองได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนการเมืองให้ไปต่อในเชิงสร้างสรรค์

สำหรับ ‘พี่อิ่ม’ (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.ลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย) วันแรกที่เจอกัน คุณน้ำจำได้ไหมว่าเป็นอย่างไร

วันแรกน่าจะเจอกันที่พรรคนี่ล่ะค่ะ คือตอนนั้นน้ำยังไม่ได้เป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่ว่าเคยรู้จักพี่อิ่มผ่านทางคุณแม่ (เอมอร สินธุไพร) แล้วก็น้องสาว (ชญาภา สินธุไพร) เพราะว่าคุณแม่เคยเป็นอดีต ส.ส.พร้อมกับพี่อิ่ม แล้วพอน้ำตัดสินใจว่าจะทำงานทางการเมือง ก็มาเจอพี่อิ่มที่พรรคเลยค่ะ 

ตอนแรกน้ำกับพี่อิ่มยังไม่ได้สนิทกันมากเท่าไร ด้วยความที่พี่อิ่มเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 แล้ว น้ำเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก แต่ด้วยความที่น้ำเป็นคนชอบฟังการอภิปราย ชอบอยู่สภา แล้วก็นั่งฟัง ถ้าไม่ได้ติดอะไรก็จะนั่งอยู่ตลอด บังเอิญว่าพี่อิ่มก็เป็นคอเดียวกัน ชอบฟังการอภิปรายเหมือนกัน อยู่เฝ้าสภาเหมือนกัน ก็เลยกลายเป็นว่าได้เริ่มมีการแลกเปลี่ยนกันบ่อยขึ้นจนสนิทสนมกัน 

แล้วกลายมาเป็น ‘คู่จิ้น’ ได้อย่างไร

(ยิ้ม) คือน้ำกับพี่อิ่มก็ทำงานการเมืองปกติ เราเองก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ทำหน้าที่อภิปรายในสภาแล้วก็ลงพื้นที่ แต่เข้าใจว่าเมื่อทำงานในสภา พออภิปรายเสร็จแล้วลงพื้นที่ อาจจะมีอิริยาบถบางอย่างที่เหมือนกับว่ามันสบาย เข้าถึงได้

น้องๆ ก็เลยอาจจะลองมาดูอภิปราย มาลองดูงานในสภาแล้วเห็นโมเมนต์ เห็นตอนที่น้ำกับพี่อิ่มอยู่ด้วยกันบ่อย ก็เลยกลายมาเป็น ‘คู่จิ้น’ ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องปกติใน ‘ด้อม’ ดาราเกาหลีหรือญี่ปุ่น และเป็นวัฒนธรรมที่มักเกิดขึ้นกับศิลปินต่างประเทศ

แต่ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เหมือนกัน ที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นกับนักการเมือง และน้ำก็มองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจเหมือนกันที่น้องๆ หันมาชื่นชอบเราในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการชอบแบบที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักที่บริสุทธิ์มากที่น้องๆ ให้กับเรา แล้วก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า ความรักไม่ได้จำกัดเพศ ไม่ได้จำกัดชายหญิง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ซึ่งเราก็ชื่นชม

นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่เพิ่งเคยเห็นก็คือมีการฝากขนม ฝากของขวัญมาให้ ส.ส. เล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

(ยิ้ม) เวลามีคนมาชื่นชม ชื่นชอบ เราก็ดีใจนะคะ รู้สึกขอบคุณ แต่ก็ขอบอกทุกคนว่าน้ำเกรงใจ แค่ทุกคนให้ความรักความเมตตามาทุกวันนี้ เราก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานมากแล้ว อาจจะไม่ต้องถึงขั้นรบกวน มีของหรือมีอะไรมาให้ก็ได้ ที่น้องๆ หลายคนวาดรูปหรือเขียนการ์ดเล็กๆ มาให้ แค่นี้น้ำก็มีกำลังใจมากแล้วค่ะ

สิ่งที่คุณน้ำได้เรียนรู้จาก ‘พี่อิ่ม’ มีอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่ในพรรคเพื่อไทย เราจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองกันเรื่อยๆ อยู่แล้วค่ะ กับพี่อิ่มเองก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายๆ คน คือเรื่องการขยันประชุมสภา คือพี่อิ่มจะอยู่ติดกับที่ประชุมตลอด เวลามีการประชุม ไม่ว่าดึกแค่ไหน น้ำกับพี่อิ่มก็อยู่จนจบ

อย่างตอนเปิดสมัยประชุมครั้งแรก วันที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลวันสุดท้าย คือเลิกตอนตีสาม สามสิบสามนาที เราก็อยู่กันจนจบ แทบจะเรียกว่าเช้ามาใส่บาตรต่อได้เลย  

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ติดภารกิจอะไรก็จะอยู่ประชุมอย่างนั้น อยู่เฝ้าสภา อยู่ฟังการอภิปราย แล้วก็คอยดูว่ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า จะต้องประท้วงหรือเปล่า พี่อิ่มเป็นตัวอย่างที่ดีมากค่ะ

จากปรากฎการณ์นี้ที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองและนักการเมืองนั้น ไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยจะต่อยอดไปจนถึง Soft Power ในแง่มุมใดได้อีกไหม

มันเป็นกระแสที่เราไม่ได้คาดหวังแต่แรก ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เราก็ทำหน้าที่ ส.ส. ปกติ อภิปรายในสภาเต็มที่ ลงพื้นที่ก็ดูแลพี่น้องประชาชน แต่มันอาจจะเป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดียพอดี ที่มีหลายช่องทางที่น้องๆ สามารถจะเลือกดู เลือกสัมผัสนักการเมือง แล้วก็เลือกเอาอิริยาบถต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ หรือการอภิปรายก็ตาม มาทำคลิปเผยแพร่ อย่างใน TikTok น้ำไปแอบดูก็น่ารักดี

น้องๆ เขาสามารถนำเสนอได้น่ารัก คือดูแล้วก็เป็นอีกมุมของนักการเมืองไปเลย ไม่ใช่แค่อภิปรายดุเดือดในสภา แต่ในอีกมุม นักการเมืองก็คือคนที่ทำงานอยู่กับพี่น้องประชาชนทั้งหมด เลยกลายเป็นการนำเสนอนักการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายๆ คนเข้าถึงได้ จับต้องได้ น้องๆ หลายเพศ หลายวัย สามารถที่จะเข้าถึงนักการเมืองได้หลายๆ รูปแบบตามที่เขาชอบ

อีกอย่างคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หลายครั้งที่ฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายผู้มีอำนาจ พยายามที่จะป้ายสีนักการเมืองว่าเป็นคนในเชิงลบ มีการทุจริต มีการฉ้อโกง แต่เมื่อวันหนึ่ง ที่สื่อโซเชียลเข้าถึงคนได้มากขึ้น คนสามารถที่จะเข้าถึงเราได้เอง ก็เลยไม่ต้องให้ใครมานั่งบอกว่า นักการเมืองเป็นแบบไหน เขาได้เห็นการทำงานของเราจริง ทั้งในสภา นอกสภา ก็เลยเป็นกระแสต่อเนื่องจนถึงวันนี้

เวลามีคนจับตามองมากๆ ทำให้คุณน้ำทำหน้าที่ยากลำบากมากขึ้นไหม

น้ำไม่ได้รู้สึกว่าน้ำใช้ชีวิตลำบากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราเป็นคนของประชาชนอยู่แล้ว คือโดยหน้าที่ปกติของน้ำเป็น ส.ส.เขต นอกจากทำงานในสภา ก็ต้องมีการอภิปรายออกสื่ออยู่แล้ว เวลาลงพื้นที่ เราก็อยู่กับประชาชน แต่ถ้าไม่ได้มีภารกิจที่ต้องไปลงพื้นที่ อยู่ที่สำนักงาน ก็มีประชาชนแวะเวียนมาหา ให้กำลังใจตลอดอยู่แล้วค่ะ ก็ไม่ได้ถึงกับขั้นจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา

ตัวน้ำเองก็เคยเป็นแฟนคลับเกาหลี พูดง่ายๆ คือเคยเป็นติ่งเกาหลีมาก่อน เราเข้าใจถึงความรู้สึกน้องๆ ที่มีต่อเรา เวลาที่เขามองเราเป็นแบบอย่าง เป็นไอดอล มันคือสิ่งที่… ถ้าไม่เคยผ่านช่วงเวลานั้นมา จะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคนคนหนึ่งถึงขั้นชื่นชมหรือยกให้นักการเมืองหรือเราเป็นแบบอย่างในการเรียน หรือว่าการทำงานของเขา 

แบบนี้แล้วจะต้อง ‘แฟนเซอร์วิส’ กว่านี้ไหม

จริงๆ ก่อนหน้าที่จะมีกระแสคู่จิ้นอิ่มน้ำออกมา น้ำกับพี่อิ่มก็ทำงานด้วยกันตลอดอยู่แล้วในสภาอย่างที่เล่าไป ส่วนในพรรคเพื่อไทย น้ำเป็น ส.ส. สมัยแรก แต่ว่าได้รับโอกาสจากพรรคให้เป็นวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน แล้วพี่อิ่มก็เป็นวิปพรรคร่วมฝ่ายค้านเหมือนกัน แล้วเราก็อยู่ในคณะทำงานของพรรคอีกหลายคณะ ทั้งคณะกรรมการการเมือง คณะกรรมการคนรุ่นใหม่ คณะกรรมการนโยบายวิชาการ ซึ่งจะมีการประชุมเรื่อยๆ อยู่แล้ว

ทำให้ตลอดหนึ่งอาทิตย์ เราจะเจอกันบ่อยมาก ต้องโทรประสานงานกันบ่อย เพราะฉะนั้น พี่อิ่มกับน้ำสนิทสนมกันมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ มันเป็นวิถีชีวิตปกติของเรา แต่ว่าน้องๆ อาจจะเห็นมุมน่ารักๆ ของน้ำกับพี่อิ่มในการทำงาน ก็อาจจะมีการให้เราเป็นคู่จิ้น หรือเป็นไอดอลของเขาในอีกแบบหนึ่ง

ปกติแล้วคุณเล่น Tiktok ไหม รู้สึกอย่างไรบ้าง เวลาไปเจอตัวเองอยู่ในนั้น

(หัวเราะ) เล่นค่ะ คือเพิ่งมาสมัครตอนที่คนมาบอกว่าน้องๆ ที่ชื่นชอบเราส่วนใหญ่มาจาก TikTok ดูคลิปการอภิปราย ดูคลิปการทำงาน น้ำก็เลยแอบสมัครไปส่อง เพิ่งสมัครได้น่าจะเดือนเดียวเอง น้ำก็มีโอกาสเข้าไปดูบ้างแต่ยังไม่บ่อยเท่าไร แต่ก็เห็นคลิป น่ารักดี (หัวเราะ) แล้วบางคลิปเขาก็สร้างสรรค์ดีเหมือนกันเนอะ บางทีเป็นคลิปอภิปราย แต่มาตัดต่อให้มันดูน่าสนใจมากขึ้น

ถ้าอยากบอกถึง ‘น้องๆ’ หรือบรรดาแฟนคลับ อยากให้พวกเขาติดตามคุณน้ำในแง่ไหนมากที่สุด

น้ำว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของน้องๆ ที่อยากจะเลือกชื่นชอบ ชื่นชมเราในรูปแบบไหน เรื่องอะไร เพราะเราก็เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะการทำงานในสภา เรื่องการใช้ชีวิตทั่วไป หรือการที่เราลงพื้นที่ คงไม่สามารถจะไปห้ามได้

แต่อย่างหนึ่งที่น้ำเห็นชัดเลยก็คือ น้องมีเราเป็นแบบอย่างในการเรียน หลายๆ คนบอกว่ามีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น เพราะว่าเห็นการทำงานของเรา เห็นว่ากว่าที่เราจะได้มาเป็น ส.ส. มันต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก ต้องผ่านชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบาก เขาก็เลยรู้สึกว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จเแบบเรา เขาก็ต้องตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี หลายคนคือแท็กมาลักษณะนี้ น้ำเลยรู้สึกว่า เออ… จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราคงไม่รู้ว่าการมีอยู่ของคนคนหนึ่ง การทำงานของคนคนหนึ่ง มันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอีกหลายคนได้ 

ทางน้องๆ เอง หลายคนก็บอกว่าพอมาชื่นชอบน้ำหรือพี่อิ่ม กลายเป็นว่าพวกเขาเจอกันผ่านออนไลน์ จนเกิด community เล็กๆ ขึ้นมา เป็นกลุ่มเล็กๆ ของเขา ทำให้เขาได้เพื่อนใหม่ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ก็ได้มารู้จักกัน แล้วกลายเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน น้ำมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ที่อยากให้น้องๆ รักษามันไว้

ในอนาคต อาจจะไม่จำเป็นต้องชอบน้ำหรือพี่อิ่ม สามารถจะเป็นนักการเมืองท่านไหนก็ได้ในฝั่งประชาธิปไตย แต่ว่านี่คือความสวยงามของความสัมพันธ์ อยากให้น้องๆ รักษาไว้ และในอนาคต หากน้ำกับพี่อิ่มสามารถเป็นประตูที่เชื่อมน้องๆ เข้าสู่การเมืองได้ อยากให้น้องๆ ได้ติดตามการเมืองต่อ แล้ววันหนึ่งค่อยเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ มาช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ให้การเมืองของประเทศไทยเป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ เป็นการเมืองที่ให้โอกาส ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนอย่างเท่าเทียม

กลับมาที่เรื่องพรรคเพื่อไทย อาจจะมีคนบอกว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคคนแก่ แล้วก็พอมี ‘น้องน้ำ-พี่อิ่ม’ ขึ้นมา ก็กลายเป็นพรรคเด็ก ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพรรคมากขึ้น คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม

น้ำมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เป็นสถาบันทางการเมืองที่รวมคนทุกเพศทุกวัยเอาไว้ ที่บอกว่าเป็นพรรคคนแก่นี่ น้ำมองว่าอายุไม่ได้เป็นตัวตัดสิน แต่ว่าเป็นจุดแข็งของพรรคด้วยซ้ำ ที่มีทั้งคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานทางการเมือง ผ่านการบริหารประเทศจริงมาแล้ว แล้วก็สามารถทำนโยบายต่างๆ ได้จริงด้วยซ้ำ นอกจากนี้ก็ยังมี ส.ส.รุ่นใหม่ มีคนหลากเพศ หลายวัย มารวมกันอยู่ จนเกิดการถ่ายทอด เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นว่าพรรคเราสามารถทำงานให้กับประชาขนได้ทุกเพศทุกวัย

คิดอย่างไรกับการแบ่งฟาก เป็น ‘ติ่งแดง’ – ‘ติ่งส้ม’ หรือการทะเลาะกันเองในฝ่ายประชาธิปไตย

ในสังคมประชาธิปไตย ความเห็นต่างในบางเรื่องถือเป็นเรื่องปกติมาก เพียงแต่ว่าในเส้นทางการเมืองนั้น น้ำมองว่าตอนที่มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนการเลือกตั้งปี 2562 น้ำดีใจด้วยซ้ำนะคะที่มีพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าเมื่อก่อน พรรคเพื่อไทยเหมือนเป็นพรรคหลักพรรคเดียวที่ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการ

วันนี้ เรามีเพื่อนร่วมเดินทางเพิ่มขึ้นหลายพรรค แต่ที่ผ่านมา ระหว่างทาง มันอาจจะมีเห็นแย้ง เห็นต่างกันบ้างในบางประเด็น ก็เป็นเรื่องปกติ

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องการองคาพยพขนาดใหญ่ ต้องการแนวร่วมจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากที่คนจะเห็นไม่ตรงกัน แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าเป้าหมายของเราคือเป้าหมายใหญ่เหมือนกัน คืออยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย น้ำมองว่าทุกคนก็คงพร้อมที่จะเปิดใจให้กว้าง รับฟังซึ่งกันและกัน เห็นแย้งเห็นต่างก็พูดคุยกัน แล้วสุดท้ายเดินจับมือกัน เดินหน้าไปด้วยกัน เพราะเป้าหมายของเราคือการต่อสู้กับเผด็จการ ไม่ได้ต่อสู้กันเอง

สำหรับคนที่รู้สึกสิ้นหวังกับการเมือง นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เราอยู่กันมาแบบนี้ 15-16 ปีแล้ว คุณน้ำอยากจะบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง ในฐานะที่เป็นทั้งลูกแกนนำเสื้อแดง เป็นคนที่อยู่ในระบบรัฐสภา และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

น้ำมองว่าคนส่วนใหญ่ที่สิ้นหวัง เพราะเขารู้สึกว่าเลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบแล้วก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล หรือบางทีเลือกรัฐบาลที่ตัวเองชอบมาแล้วก็โดนทำรัฐประหาร โดนอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง และหากนับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ก็มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญหลายครั้งเกิดขึ้น แต่ละครั้งมีคนบาดเจ็บล้มตาย มีการสูญเสีย แต่ประเทศก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่น้ำอยากจะให้กำลังใจว่า ที่ประเทศเรายังไม่ได้กลายเป็นประเทศเผด็จการเต็มรูปแบบ ก็เพราะว่าทุกครั้งที่มีการต่อสู้ มันได้ทิ้งคุณูปการ ทิ้งอุดมการณ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้แล้วก็ถือไม้ต่อ ต่อสู้มาเรื่อยๆ ทำให้ประเทศเรา แม้จะโดนฝ่ายอนุรักษนิยมหรือผู้มีอำนาจพยายามจะดึงประเทศไปในเขตแดนที่เขาคิดว่ามันน่าจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับเขา แต่ก็จะมีพี่น้องประชาชนนี่แหละ ทั้งคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ลากมันกลับมาเสมอ เพื่อที่จะให้ประเทศสามารถที่จะเป็นประชาธิปไตย ต่อสู้ให้ประเทศเดินหน้า นำไปสู่ประเทศที่เปิดกว้าง มีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันให้กับประชาชน

เพราะฉะนั้น ในแต่ละครั้ง ในแต่ละยุค แต่ละสมัย เรามีความฝัน มีความหวังที่อาจจะแตกต่างกันออกไปตามบริบทของโลก บริบทของประเทศในขณะนั้น แม้ว่าการต่อสู้ในแต่ละครั้ง มันอาจจะไม่สามารถทำให้ทุกอย่างจบที่รุ่นเราได้ แต่ว่ามันได้เป็นอุดมการณ์ เป็นเชื้อไฟที่ทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้สานต่อ

คนแต่ละรุ่นแต่ละยุคสมัยอาจจะไม่ได้มีความหวัง ไม่ได้มีความฝันที่เหมือนกันหมดเสียทีเดียว แต่การที่เราไม่สามารถทำความฝันทั้งหมดจบที่รุ่นเราได้ มันไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างมันจบ แต่สุดท้าย แต่ละอย่างที่เป็นคุณูปการให้กับประเทศที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ทำเอาไว้ ก็ยังสามารถส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อไป เพื่อจะได้ร่วมกันผลักดันหรือต่อสู้ต่อไปได้ ทั้งหมดมันไม่ได้หายวับไปกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ หรือกาลเวลา

การสู้ครั้งนี้ น้ำเข้าใจว่าน้องๆ ทำกันเต็มที่ ถ้าทำเต็มที่แล้ว มันยังไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราหวัง หรือต้องการ หรือปักธงเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมานั้นล้มเหลวทั้งหมด แต่มันทิ้งร่องรอย มันทิ้งประสบการณ์ มันทิ้งอุดมการณ์เพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถที่จะมาสานต่อได้ 

เพราะฉะนั้น อย่าหมดหวัง ทำเต็มที่ แต่อย่าถึงขั้นไปเสียใจว่าบางอย่างอาจจะไม่จบที่รุ่นนี้ เพราะสุดท้าย ก็จะมีคนรุ่นต่อไปมาสานต่อ

Fact Box

  • นิสิต สินธุไพร บิดาของ จิราพร สินธุไพร นอกจากจะเป็น อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด แล้ว ยังถือเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนสำคัญ มีบทบาทอย่างสูงในการชุมนุม เมื่อปี 2553 หลังถูกคดีรุมเร้า นิสิตตัดสินใจวางมือทางการเมือง ก่อนส่งไม้ต่อให้ลูกสาว 2 คน คือ จิราพรและชญาภา ซึ่งปัจจุบันเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย
  • ‘อาจสามารถโมเดล’ คือรายการเรียลลิตีโชว์แก้จน ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเลียนแบบจากรายการ ‘ทรู อคาเดมี แฟนตาเซีย’ รายการประกวดร้องเพลงแบบเรียลลิตีโชว์ 24 ชั่วโมง ที่โด่งดังในขณะนั้น เป็นการตามติดชีวิตของทักษิณตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2549 ออกอากาศทางช่องทรู โดยทักษิณจะนำเสนอโมเดล ‘การแก้จน’ ในอำเภอเล็กๆ อย่างอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้ข้าราชการ นักการเมือง เดินหน้าใช้แนวทางเดียวกันเป็นแบบอย่า
  • ขณะนี้ ตระกูล ‘สินธุไพร’ ทำงานอยู่ใน 3 พรรคการเมืองหลัก จิราพรเป็น ส.ส. พรรคเพื่อไทย, วิเชียรชนินทร์ สินธุไพร น้องชายของนิสิต อยู่พรรคอนาคตใหม่ และต่อมาย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกล ขณะที่ จุรีพร สินธุไพร น้องสาวของนิสิต อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด อยู่พรรคพลังประชารัฐ และได้รับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
Tags: , , , ,