บ่ายวันจันทร์ที่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร สนามเลือกตั้งที่ทำให้พรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองอายุ 10 ปีเศษดูคึกคักที่สุด

ใช่ — นี่เป็นสนามเลือกตั้งแรกหลังพรรค ‘ผ่าตัด’ โครงสร้างใหม่ ด้วยการทำตัวเองให้ ‘อายุน้อยลง’ พร้อมกับเปลี่ยนทีมงานผู้บริหารพรรคให้มี ‘เลือดใหม่’ ผสมผสานกับ ‘เลือดเก่า’ มากขึ้น ไล่ลงมาตั้งแต่หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ในแบบที่เข้าสู่สถานะ ‘พร้อมรบ’ มากที่สุดหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

เวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะเจาะพอดี หากพรรคใหญ่พรรคนี้ชนะการเลือกตั้งที่หลักสี่-จตุจักรได้ เพราะนั่นหมายความว่าพรรคอาจปูทางไปสู่ชัยชนะสนามใหญ่ได้มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเสียรังวัดแพ้คู่แข่งอย่างพรรคพลังประชารัฐติดต่อกันหลายครั้งในหลายสนามเลือกตั้งซ่อม

ขณะที่พรรคหลักของฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐกำลังง่อนแง่นกับกรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และสภาฯ ล่มต่อเนื่องหลายครั้ง ส่อนัยว่าพรรคการเมืองต่างๆ และพรรคเพื่อไทยอาจต้องเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเร็วขึ้น โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับ ‘พรรคใหญ่’ อันทำให้พรรคเพื่อไทยได้อานิสงส์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปด้วย เพราะคงสถานะพรรคใหญ่ พร้อมทั้งพรรคหลักไปโดยปริยาย ในวันที่พรรคใหญ่อีกขั้วอย่างพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นกำลังสั่นคลอน

สองคำที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง หลังการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 คือคำว่า ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ และ ‘แลนด์สไลด์’ สองคำที่ทำให้บรรดาสมาชิกเก่าแก่ของพรรคต่างพากันฮึกเหิม สองคำที่ทำให้แฟนคลับดั้งเดิมจำนวนไม่น้อยหันกลับมามองเพื่อไทยอย่างจริงจังอีกครั้งหลังเริ่มปันใจไปหาพรรคอื่น และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นสองคำที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาเยาะเย้ย ถากถาง อย่างสนุกปากได้เช่นกัน

ในบรรดากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ‘อิ่ม’ — ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.เขตลาดกระบัง อาจเป็น ส.ส.​ ที่มีแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่งในเวลานี้ ทุกวันจันทร์และวันอังคาร ซึ่งเป็นวันที่ธีรรัตน์เข้าพรรค จะมีน้องๆ มารอตั้งแต่เช้าตรู่ อยู่ยาวกันจนถึงค่ำ เพื่อพบปะให้กำลังใจเธอ และวันไหนที่ธีรรัตน์มีกำหนดการลงพื้นที่ ก็จะมี ‘แฟนด้อม’ จำนวนไม่น้อยไปร่วมลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน

ความนิยมที่ว่านี้วัดจากแฮชแท็ก #สสอิ่ม ใน TikTok ที่มียอดเข้าชมมากกว่า 557 ล้านครั้ง (ตัวเลข ณ วันที่ 27 มกราคม 2565) เคียงคู่กับ #สสน้ำ ที่มียอดเข้าชม 556.8 ล้านครั้ง และในวันที่ The Momentum ไปเยือนพรรคเพื่อไทย ก็ได้พบปะกับแฟนคลับ ‘พี่อิ่ม’ หรือ ‘คูมธี’ จำนวนมากที่มารอให้กำลังใจในแบบที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน

เรานัดคุยกับธีรรัตน์เพื่อเป็นตัวแทนฉายภาพถึงการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ของพรรคเพื่อไทย ผ่านสายตาเธอ เพื่อวิเคราะห์การเมืองที่ง่อนแง่นอยู่ในขณะนี้ และเพื่อลงลึกถึงตัวตนของเธอ ให้เห็นว่า ‘พี่อิ่ม’ ของน้องๆ แฟนคลับ และ ‘ธีรรัตน์’ โฆษกพรรคเพื่อไทยที่ ‘ฟาด’ รัฐบาลอย่างเจ็บแสบอยู่บ่อยครั้ง มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

ตั้งแต่วันที่ประกาศพรุ่งนี้เพื่อไทยมาถึงวันนี้ มีสัญญาณว่าอาจใกล้ถึงวันเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง ในฐานะที่เป็นพรรคหลัก พรรคเพื่อไทยพร้อมขนาดไหน และเป้าหมาย แลนด์สไลด์ของพรรคนั้นใกล้ความจริงหรือไม่

พวกเราเริ่มทำงานตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งวันแรก ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเกิดอุบัติเหตุก่อนครบวาระเมื่อไร เราก็มีความพร้อมเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนเสมอ

ในช่วง 2 ปีกว่าในสภาฯ ที่เราได้ทำงานร่วมมา เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย ทั้งในส่วนของผู้บริหาร การดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาให้มีส่วนร่วมกับฝ่ายบริหารมากขึ้น การคิดค้นนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน กล่าวได้ว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศออกไปแล้ว เราทำได้จริง นโยบายต่างๆ ถึงมือพี่น้องประชาชนจริง เราคิดค้นกันไว้เรียบร้อยแล้ว รอแต่วันที่ประกาศออกมาเท่านั้น

ในส่วนของ ส.ส.พื้นที่ของพรรคเพื่อไทยมีทั้งสิ้น 137 คน ตอนนี้เหลือ 132 คน สิ่งที่อยากบอกคือ 132 คนไม่เคยหยุดทำงาน ยังคงลงพื้นที่ต่อเนื่องเสมอมา นั่นคือสิ่งที่พวกเราอยากให้เป็นหลักประกันกับพี่น้องประชาชนว่า เราพร้อมอย่างมากในการเลือกตั้งที่กำลังใกล้มาถึงนี้

คุณอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมา 11 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงมาก็มาก หากต้องมองพรรคเพื่อไทยในวันเก่า กับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

พรรคเพื่อไทยมีหลักการทำงานที่พูดมาตลอดว่า ‘หัวใจคือประชาชน’ ตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น การที่เราจะออกนโยบายมาตัวหนึ่ง เราต้องคำนึงว่าพี่น้องประชาชนต้องได้ประโยชน์ และไม่ได้ผลักภาระด้านใดด้านหนึ่งให้ประชาชน เพราะประชาชนในประเทศนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายลงไปถึงประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม ครอบคลุม ทั่วถึงมากที่สุด

 

พอจะยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เข้ามาเป็นโฆษกพรรคให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ไหม

ย้อนไปก่อนวันที่ 28 ตุลาคม 2564 วันที่เราประกาศ disrupt ตัวเอง มีการทำงานร่วมกันทุกส่วน ตั้งแต่วัยรุ่น คุณหมอ หลายคนเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ทำให้การทำงานของพรรคมีความเข้มข้นมากขึ้น

เราเชื่อว่าความเข้มแข็งขององค์กรต้องเริ่มจากภายใน สามารถคุยได้ทุกเรื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำความเข้าใจ และสื่อสารไปถึงประชาชน ตอนนี้มีคนยุคใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างแนวคิดเก่าจากผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองกับแนวคิดใหม่ๆ ที่ได้จากคนรุ่นใหม่ จนได้ส่วนผสมที่ลงตัวมากที่สุด

 

ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าครั้งนี้จะ ‘แลนด์สไลด์’ แน่ๆ อะไรคือสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ขนาดนั้น

ความจริงเรื่องแลนด์สไลด์ไม่ใช่จุดที่เราเพิ่งยกขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนปี 2554 สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย เราชนะการเลือกตั้งได้ทุกครั้ง เป็นคำตอบได้ดีที่สุดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

จุดสำคัญที่ทำให้เราได้รับการยอมรับคือนโยบาย เราเรียกกันว่า ‘นโยบายที่กินได้’ เป็นนโยบายที่ถึงมือประชาชนได้จริง ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ทุกคนได้รับสิทธิที่ควรจะเป็นอย่างทั่วถึง เว้นเสียแต่ตอนปี 2562 มีกติกาที่เกิดจากรัฐประหาร กติกาที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอำนาจ ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยอาจจะใช้คำว่าแลนด์สไลด์ไม่ได้

แต่มั่นใจว่าหลังจากนี้ถ้าเรามีกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการรับฟังเสียงจากประชาชนมากขึ้น เราก็จะไปถึงแลนด์สไลด์ได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมแคมเปญเราถึงไปทางนั้น ทำไมเราถึงต้องบอกประชาชนว่าเราจำเป็นต้องแลนด์สไลด์ แลนด์สไลด์ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของประชาชนทั้งหมด

 

แต่ว่าคู่ต่อสู้ยังคงเป็นอำนาจรัฐที่ยังเข้มแข็งอยู่ คุณประเมินคู่ต่อสู้ของคุณอย่างไร

เรามองว่าสุดท้ายแล้วอำนาจที่เขาใช้จะเป็นคมดาบทิ่มแทงตัวเขาเอง เพราะการที่เขาใช้อำนาจมากเกินไป การที่เขากดหัวประชาชนให้อยู่ใต้การปกครองที่ไม่เป็นธรรม สักวันหนึ่งประชาชนพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นและพร้อมที่จะแสดงพลัง

ถ้าย้อนกลับไปในสมัยพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล สมัยที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันนั้นเราถูกยึดอำนาจไป ก็ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ยอมรับหรือว่าประชาชนไล่เรา แต่มันเกิดจากกองกำลังทหาร เกิดมาจากอาวุธที่พวกเขามี แล้วก็ใช้วิธีข่มขู่ จับกุม คุมขังอย่างไม่เป็นธรรม แต่วันนี้ ฝั่งนั้นกำลังอยู่ในอำนาจ จึงไม่มีทางที่จะมีคนเอากองกำลังทหารออกมายึดอำนาจจากพวกเขา เราเชื่อว่า การไล่พวกเขาออกไปต้องอาศัยพลังจากประชาชน ซึ่งการเลือกตั้งจากปลายปากกาของประชาชนจะเป็นคำตอบของทั้งหมด

 

ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งใหญ่ ประชาชนจะได้เห็นอะไรมากขึ้นจากพรรคเพื่อไทย พรรคจะทำอย่างไรให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมั่นใจได้ว่า เพื่อไทยจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาแน่นอน

เราได้ศึกษาและรวบรวมปัญหาของประชาชนเอาไว้ ส่วนที่บอกถึงวิธีที่ทำได้ เราก็พยายามบอกรัฐบาล แต่ในส่วนที่จะเป็นแนวทางในอนาคต ก็ยังมีส่วนที่เรารอวันที่เป็นฝ่ายบริหาร ทั้งหมดต้องเริ่มจาก trust and confidence (ความเชื่อใจและความมั่นใจ) ถ้าประชาชนมีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในฝีมือของผู้บริหาร มันจะไปได้และไปได้ไกล

สำหรับพรรคเพื่อไทย เราพูดแล้วทำได้จริง ต่อให้สถานการณ์ตอนนี้กำลังย่ำแย่ ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง หรือเรื่องความเป็นอยู่ เราก็ยังมั่นใจว่าถ้าเราได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ มีวิธีการในการหารายได้เข้าประเทศ หารายได้อื่นนอกเหนือจากหารายได้ภายในประเทศ สามารถที่จะค้าขายกับต่างชาติได้ด้วย จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ทุกคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

ในสายตาธีรรัตน์ พรรคเพื่อไทยมีเจ้าของไหม ยังอยู่ใต้ตระกูลชินวัตรอยู่หรือไม่

(ตอบทันที) เรามองว่าเจ้าของพรรคเพื่อไทยคือประชาชน เรามั่นใจ เราอยากที่จะทำให้พรรคของเราเป็นสถาบันที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด การที่เราอาจถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นพรรคของนายทุน เป็นพรรคของคนตระกูลนู้น ตระกูลนี้ นั่นก็คือเป็นเพียงแค่วิธีทางการเมืองที่จะดิสเครดิตหรือด้อยค่าพวกเรา ต้องถามกลับไปว่า ทุกครั้งที่เราทำงาน เราทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือ เราทำเพื่อตระกูลใดตระกูลหนึ่งหรือ ซึ่งไม่ใช่ เราทำเพื่อประชาชน

สิ่งที่เราจะบอกคือ ความต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกัน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการเมือง เข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย ไม่ใช่ประชาชนบอกอย่างหนึ่ง เราไปทำอีกอย่างหนึ่ง อย่างนั้นไม่มีใครเอาค่ะ การที่เราจะอยู่ในตำแหน่งหรือทำหน้าที่บริหารได้ก็ต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่จากคนอื่น

รอบนี้พรรคเพื่อไทยเจอกับคู่แข่งจำนวนมาก ไม่ว่าจะฝ่ายประชาธิปไตยหรือพรรคที่เป็นเครือข่ายของรัฐบาล พรรคเพื่อไทยวางตัวเองอย่างไรในการทำให้พรรครักษาที่นั่งได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับการ Disrupt จากขั้วการเมืองหลายขั้ว

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ในใจคนได้ตลอด สิ่งที่พยายามบอกกับตัวเองมากที่สุดว่าเวลาเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งทั้งจากฝ่ายเราเอง หรือฝ่ายตรงข้ามในทางที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เราเอาตรงนั้นทิ้งไปเถอะ อย่าเอามาเป็นเรื่องสำคัญเลย

สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือปัญหาของประชาชนที่เราต้องแก้ไข เราบอกกับเพื่อนสมาชิกเสมอว่าทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนให้ได้ดีที่สุด แล้วสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตอบคำถามว่า พรรคคุณจะอยู่ในใจของพวกเขาต่อไปไหม พรรคคุณสมควรที่จะได้รับการเลือกตั้งต่อไปหรือเปล่า

 

ต้องกลัวการถูกดูดจากพรรคอื่นๆ ที่อาจจะมีพลังมากกว่าไหม 

โดยส่วนตัว แรงดูดคือการวัดเนื้อแท้อย่างหนึ่ง เป็นเครื่องที่บอกว่าใครคือคนที่คิดถึงประชาชนมากกว่าตัวเอง เพราะวิธีที่เขาใช้ในการดูดคืออำนาจเงินหรือข้อต่อรองต่างๆ แต่ถ้าหากมีอุดมการณ์ที่ดีพอ มีสามัญสำนึกในการเป็นผู้แทนที่ดีพอ เราว่าเขาไม่ไป แต่ถ้าคนที่เขาตัดสินใจไป จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็ต้องปล่อยเขาไป

สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนบอกว่า เวลาที่เขาเลือกคุณเข้ามา เขาเลือกเพราะอะไร และถ้าคุณไปแล้ว คุณก็อาจไม่สมควรที่จะได้รับสิทธินั้นอีกต่อไป

 

ถ้ามีคนมาดูด จะตอบเขาไปว่าอะไร

(หัวเราะ) ก็คงต้องขอบคุณเขา แต่วันนี้เราอยู่ในจุดที่ประชาชนยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเลือกที่จะอยู่ฝั่งประชาธิปไตย อยู่กับประชาชน ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไปตอบรับว่าคนมาดูดแล้วต้องไป ต่อให้เอาเงินมาให้ก็ตาม แต่คุณจะเดินตลาดได้อย่างมีความสุขไหม คุณจะไหว้สวัสดีประชาชนได้อย่างเต็มมือไหม อย่างนี้ต้องคิดหนักนะ

 

ที่ผ่านมามีคนถามกันมากว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ คือเส้นขนานกัน ความเหมือนของสองพรรคนี้คืออะไร

ก็เป็นพรรคการเมืองเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน วิธีการทำงานก็เรียกว่าอาจจะแตกต่างกันด้วย ในส่วนของพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีที่มาเป็นเผด็จการ แต่ทางพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ ก็คงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของพรรคการเมืองสองพรรคนี้ แล้วก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่พรรคพลังประชารัฐ ถ้าเป็นพรรคอื่นที่สนับสนุนเผด็จการ หรือสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ล้วนเป็นพรรคที่มีความคิด และอุดมการณ์ที่แตกต่างจากเพื่อไทย

 

ในอนาคต พรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐจะจับมือกันได้ไหม 

อย่างที่บอก แนวทาง อุดมการณ์ ความคิดต่างกันชัดเจน เพื่อไทยคือฝั่งประชาธิปไตย มีพี่น้องประชาชนเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ในการต่อสู้ ในขณะที่ฝั่งพลังประชารัฐเป็นผู้ที่ชูและหนุนเผด็จการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ไม่เคยรับฟังเสียงประชาชน เป็นผู้ที่เอื้อนโยบายต่างๆ ให้กับนายทุนใหญ่ ทิ้งฐานรากของประชาชนทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทำงานด้วยกันไม่ได้

 

แล้วพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลต่างกันอย่างไร อะไรคือความแตกต่างระหว่างสองพรรคนี้ ที่คุณอยากบอกกับคนอื่น

พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน เป็นพรรคที่มีแนวทางร่วมกันในเรื่องของการไล่เผด็จการ ความแตกต่างคงเป็นเรื่องของวิธีที่จะไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ การทำงานหรือวิถีทางอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ก็มีอุดมการณ์เดียวกันคืออยู่ข้างประชาชน แล้วก็อยู่ฝั่งประชาธิปไตย

 

ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนมีการ ข้ามเส้นไปมาระหว่างสองพรรคนี้อยู่บ่อยๆ ทั้งจากตัวบุคคลของสมาชิกพรรคหรือประชาชนที่สนับสนุน มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

เรามองว่ามันก็เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตยที่พวกเราต่างก็มีความหลากหลายทางความคิด มีแนวทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยผ่านเรื่องต่างๆ มามากมาย ตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน แล้วก็มาจนถึงพรรคเพื่อไทย

เราสั่งสมประสบการณ์ เราถูกกระทำ เราสู้มาหลายรูปแบบ ทำให้รู้เลยว่าการที่เรามีจุดหมายแบบนี้ จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้บ้างระหว่างทาง และต้องใช้วิธีไหนที่จะทำให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ โดยไม่ถูกทำร้ายเสียก่อน

เหมือนกับทหารหรือนักรบ ถ้าตายไปในสงครามก็จบ อย่างมากได้แค่เหรียญเชิดชู ได้คำประกาศ แต่ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ไปจนได้รับชัยชนะในสงครามนั้นเลย เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้เรามีชีวิตต่อไปได้ ทำอย่างไรที่จะต่อสู้ให้ลูกหลานของเราหมดทุกข์ ต่อสู้เพื่อที่จะไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้กับรุ่นต่อๆ ไปให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอดและเราคิดว่าเราต้องทำมันให้สำเร็จ แม้รุ่นเราอาจจะไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องทิ้งภาระให้รุ่นต่อไปน้อยที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่แตกต่างกัน ต้องยอมรับซึ่งกันและกันให้อยู่ร่วมกันให้ได้ แล้วก็ไปถึงเป้าหมายไปด้วยกัน และไปได้ด้วยกัน

 

บอกได้ไหมว่าถ้าเลือกพรรคเพื่อไทยรอบนี้ จะจบไม่เหมือนเดิม จะไม่โดนยึดอำนาจ จะไม่มีปัญหาแบบที่ผ่านมาอีก

มันถึงเป็นที่มาของคำว่า ‘แลนด์สไลด์’ การที่พลังของประชาชนบอกถึงสิ่งที่เขาต้องการ แล้วฝั่งเราเองแพ็กกันอย่างเข้มแข็งมากพอ จะเป็นจุดที่บอกว่าจริงๆ แล้วประชาชนต้องการอะไร แล้วทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก

ตรงนั้นเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้มาเหมือนกัน ว่าถ้าเราทำอะไรบางอย่างจะเกิดการแทรกแซงขึ้น จะเกิดการนำกำลังทหารเข้ามา แต่เราก็มีวิธีไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกเหมือนกัน โดยทั้งหมดต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนเป็นหลัก แต่เรามั่นใจว่าเป็นไปได้

 

ในความคิดเห็นของคุณ จุดขายของพรรคเพื่อไทยอาจต้องมีเรื่องการถือธงนำ ‘ประชาธิปไตย’ เพิ่มเติมจากเรื่อง ‘ปากท้อง’ หรือนโยบายเศรษฐกิจด้วยหรือไม่

ใช่ เราไม่ปฏิเสธเลย การที่เราจะทำให้ประชาธิปไตยโตขึ้นได้ การที่เราจะทำให้ประชาชนเข้มแข็งได้ ต้องเกิดขึ้นจากฐานรากของพวกเขาจริงๆ ว่าเขาสามารถดูแลตัวเองได้ สามารถเลือกได้ว่าต้องการอะไร แล้วมารวมพลังกัน

ถ้าตราบใดที่คุณยังไม่สามารถทำให้เขาเข้มแข็งพอ ยังไม่สามารถที่จะทำให้เขาลุกยืนขึ้นด้วยขาของเขาเองได้ คุณบอกให้เขาใช้มือแค่สองมือสู้ สุดท้ายคุณก็จะโดนฟันคอขาด รากฐานที่เข้มแข็งจะทำให้ประชาธิปไตยของเราเติบโตขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพในการต่อกรกับกลุ่มผู้มีอำนาจได้มากที่สุดด้วย

 

ถามในฐานะที่คุณธีรรัตน์เป็น .. ตอนนี้ประเทศไทยเข้าใกล้ ช่วงท้ายของรัฐบาลมากแค่ไหน เพราะในมุมคนนอก สิ่งที่ได้เห็นเป็นประจำมีแต่ภาพของ สภาฯ ล่มและองค์ประชุมไม่ครบอยู่บ่อยครั้ง

ต้องใช้คำอย่างไรดี…เรียกว่าสุ่มเสี่ยง ล่อแหลม แล้วก็ปริ่มมาก เสียงมันปริ่ม เราก็เห็นถึงกระบวนการทำงานของเขาที่ขัดขากันเองอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเกิดอุบัติเหตุได้ทุกนาทีเลย

สถานการณ์รัฐบาลตอนนี้ไม่มั่นคงเลย สั่นคลอนมาก ถามว่าเรากังวลไหมตรงนี้ ก็กังวลนะคะ เพราะแทนที่รัฐบาลจะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่กลายเป็นว่า ต้องหมดเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาภายในทั้งหมด

เท่ากับว่าปัญหาประชาชนถูกทิ้งลอยแพเลย ดูแลตัวเองกันไป เราในฐานะตัวแทนประชาชนที่ลงพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียน ก็เจ็บทุกครั้งว่าทำไมคุณไม่พร้อม คุณควรจะออกไปได้แล้ว คุณไม่ได้มีความสามารถหรือศักยภาพ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้เลย การสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุน ความเชื่อมั่นทางการค้าทางธุรกิจก็ไม่มี คุณควรจะต้องถอยออกไปได้แล้ว เหมือนอย่างที่พี่อ้อม (สุนิสา บุญสังข์) ร้องเพลงบอกว่า — ให้ถอยดีกว่า

 

ในฐานะ ส.ส. คนหนึ่ง รู้สึกอย่างไรที่ประชุมทีไร เดี๋ยวก็องค์ประชุมไม่ครบ เดี๋ยวก็ปิดประชุมอีกแล้ว

รู้สึกแย่ เปลืองงบประมาณ รู้สึกว่าอะไรวะ ผลงานไม่มีสักนิดเลยหรือ ประชุมกันทั้งวัน น่าจะมีบทสรุปอะไรของปัญหาใดปัญหาหนึ่งบ้าง

เราเครียดนะ เรามาประชุม ใช้งบประมาณ ใช้กำลังคนเท่าไร ค่าอาหาร ค่าห้องประชุม ค่านู่น ค่านี่ เยอะแยะไปหมด แต่ว่าไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันเลย ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย มันคือการเสียโอกาส เวลาที่เราต้องสูญเสียไปมันตั้งกี่ปี ตลอดระยะเวลาที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่ง เมืองไทยเสียโอกาสไปขนาดไหน คิดดูแล้วกัน ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

 

พอเป็นแบบนี้ เดี๋ยวก็สภาฯ ล่ม เดี๋ยวก็คนไม่ครบ สภาพแบบนี้ สภาฯ จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

ไม่นานค่ะ ก็อยู่ที่จิตสำนึกของพลเอกประยุทธ์เองว่าการที่คุณมาทำให้ประเทศต้องเสียเวลา สูญเสียงบประมาณไปขนาดนี้โดยที่ไม่มีอะไรดีขึ้นมา คุณจะยังอยู่ต่อไปหรือ คุณจะไม่อายฟ้าอายดินบ้างหรือ เรื่องนี้มันอยู่ที่พวกเขาเอง เพราะเราไม่มีกำลังทหารไปยึดอำนาจจากเขาอยู่แล้ว เรามีแต่ปลายปากกาของประชาชนที่รอวันเลือกตั้งอยู่เท่านั้นเอง

 

รู้สึกอย่างไรกับการได้รับเลือกให้เป็นโฆษกพรรค ที่ต้องทำหน้าที่พูดแทนพรรค และสื่อสารนโยบายหรือประเด็นต่างๆ ของพรรค

ดีใจที่พรรคให้โอกาส เพราะเป็นตำแหน่งที่สำคัญตำแหน่งหนึ่งเลย เราต้องเป็นเหมือนตัวแทนของพรรคในการนำเสนอ สื่อสารกับประชาชน สิ่งที่เราทำได้ก็คือทำให้ดีที่สุด เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นจากผู้ที่อาวุโสทางการเมือง มาประยุกต์ใช้กับการทำงานของเรา

 

โฆษกฯ เป็นตำแหน่งที่คุณอยากเป็นไหม

(หัวเราะ) เรียกว่าเหนือความคาดหมายมากกว่า เราโชคดีที่เข้ามาในพรรคแล้วก็ได้รับโอกาสสำคัญหลายๆ ตำแหน่งด้วยกัน ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งครั้งแรก เราเป็น ส.ส. สมัยแรกก็ได้รับหน้าที่ประสานงานวิปฝ่ายรัฐบาล เราได้เรียนรู้งานต่างๆ เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้งานต่างๆ ทั้งสภาฯ รวมถึงการเชื่อมโยงกับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้

ก่อนที่จะได้เป็นโฆษก เราได้รับการแต่งตั้งจากทางพรรคให้เป็นเหรัญญิก แปลว่าทางพรรคให้ความมั่นใจมากๆ ว่าต้องเป็นผู้ที่ตรวจสอบเรื่องของการเงิน ตรวจสอบบัญชีต่างๆ ว่าการใช้เงินควรทำอย่างไร ซึ่งก็ต้องทำให้ลงตัวทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายบัญชีแล้วก็ฝ่ายพรรค

ส่วนการที่เราได้รับความไว้วางใจให้เป็นโฆษกพรรค มองว่าเกิดจากความทุ่มเทในการทำงานของเราที่ผ่านมา เราเป็นตัวแทนในการ represent ความเป็นพรรคในทางที่พรรคอยากเห็น อันที่จริง พรรคไม่เคยบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แต่คือสิ่งที่เราแสดงออกไปแล้ว พรรคก็รู้สึกว่าอยากให้เราเข้ามาช่วยตรงนี้ ให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่แม้เราไม่ได้คาดหวัง แต่เมื่อพรรคให้โอกาสเราก็ยินดีที่จะทำให้ดีที่สุดด้วย

 

ในฐานะนักการเมือง ที่อยู่ในภูมิทัศน์การเมืองที่ ‘สิ้นหวัง’ วันนี้ มีความหวังอะไรบ้างไหม

ชีวิตต้องมีความหวังค่ะ ถ้าตัวแทนยังหมดหวังก็อย่าไปนึกถึงประชาชนเลย เขาจะอยู่กันอย่างไร เขาคงไม่รู้จะไปพึ่งใคร ทุกครั้งที่ประชาชนเข้ามาเล่าถึงปัญหาของเขาให้ฟัง เข้ามาขอคำปรึกษา สิ่งแรกที่เราต้องพยายามให้ประชาชนได้รับทราบก็คืออนาคตยังมีความหวัง เรายังต้องสู้กันต่อไป และยิ่งวันนี้ ยิ่งเจอปัญหา ก็ยิ่งต้องช่วยกันผ่านไปให้ได้

เรามองว่าแม้อะไรต่างๆ อาจยังไม่เป็นใจนัก แต่ก็คิดว่าเป็นช่วงวิกฤตของบ้านเราที่เกิดขึ้นแล้ว และเราสามารถใช้ปัญหานี้มาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เราลุกขึ้นสู้ เพื่อที่จะเอาชนะ เพราะนั่นไม่ได้หมายถึงเราอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงลูกหลานของเรา หมายถึงคนรุ่นต่อไป ที่ต้องมาอยู่ในสังคมเดียวกันนี้ ต้องสู้ให้ปัญหาได้รับการแก้ไขมากที่สุด

 

ภาพของนักการเมืองสมัยเด็กๆ จนวันนี้ ที่กลายเป็นชีวิตนักการเมืองเต็มตัว มันตรงกับที่คุณเคยคิดไหม

เราเองอยู่ในครอบครัวที่คุณพ่อติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาตลอด ในฐานะคนทำธุรกิจ ก็ต้องอยากรู้ว่าสถานการณ์การเมืองเป็นอย่างไรบ้าง ความเชื่อมั่นต่างๆ มีมากหรือน้อย ตอนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก เพราะยังเรียนหนังสือ แต่พอได้ยินข่าวรัฐประหารก็ตกใจ คิดว่ายังมีอยู่อีกหรือทั้งที่เราไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเชียร์ใครเลยนะ ตอนนั้นเศรษฐกิจบ้านเราดีเสียด้วยซ้ำ กำลังรุ่งโรจน์เป็นเสือตัวที่ 5 ในเอเชีย

ตอนนั้นถามว่าเราฝักใฝ่ฝ่ายใดไหม เวลาที่ไปเลือกตั้งเราลงช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียง’ ด้วยซ้ำ เพราะเรารู้สึกว่าก็ยังไม่มีใครตอบโจทย์ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่เคยคิดว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น

พอเรียนหนังสือจบมา ปี 2554 เข้ามาทำงานการเมืองได้สองปีเศษ ก็คิดว่ามันจะไปได้ดีแล้วนะ เราคิดว่ามีโอกาสช่วยเหลือประชาชนได้ คิดว่ามีความพร้อมที่เราจะได้รับโอกาสตรงนั้นด้วย จึงเดินทางสู่เส้นทางการเมือง แล้วก็ทำมันให้ดีที่สุด รู้สึกว่าตอนนั้นทำงานสนุกมาก เพราะเวลาเสนออะไรไป ได้รับการแก้ไขให้พี่น้องประชาชน เขาดีใจที่เราแก้ปัญหาให้เขาได้ ก็รู้สึกว่าชีวิตคนมันต้องสู้ เผื่อจะมีความหวังว่ามันจะดีขึ้นบ้าง

แต่กลายเป็นว่าปลายปี 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ แล้วปี 2557 ก็มีการยึดอำนาจอีกครั้ง ตอนนั้นก็งงมากเหมือนกันว่าไม่มีเหตุผล ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะยึดอำนาจเลย เพราะเขาก็ยุบสภาฯ แล้ว คุณควรจะคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็กลับมีการยึดอำนาจอีก อันนี้เกิดจากความพยายามของฝ่ายทหารและเผด็จการที่ต้องการให้ประชาชนอ่อนแอ เพื่อไม่ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้

เรื่องนี้ควรเป็นบทเรียนสำคัญให้กับประชาชนได้แล้วว่า ถ้าคุณแตกแยกกันเอง ถ้าคุณเปิดช่องให้เผด็จการเข้ามายึดอำนาจ อนาคตคุณก็จะไม่ไปไหน คุณก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ ฉะนั้น ต้องพยายามบอกกับทุกคนให้ได้ว่าอย่าลืมเหตุการณ์ในอดีต

 

แล้ว Career Path ของการเป็นนักการเมืองเป็นอย่างไร พอคุณเป็น ส.ส. แล้ว เป้าหมายคืออะไร จะไปถึงตรงไหนอีก คุณวางไว้ไหม

ถามว่าตอนนี้เป็น ส.ส. แล้วต่อไปจะเป็นอะไรหรือ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่แปลกเหมือนกันนะ เป็นแล้วเป็นอย่างอื่นไม่ได้ด้วย (หัวเราะ) เราคิดว่าทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ถ้าวันหนึ่ง ในวันที่ประชาชนอาจไม่ตอบรับเราอีกแล้ว ก็คงอาจจะหาธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ทำ แต่ถ้าตราบใดที่ประชาชนยังยอมรับเรา ยังคาดหวังว่าเราเป็นตัวแทนของพวกเขาได้ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด

 

ในจุดเปลี่ยนของการเป็น ส.ส. สมัยที่สองของคุณ คือการมีแฟนคลับจำนวนมากเป็นเด็กรุ่นใหม่ ด้วยวิธีที่ไม่น่าจะเคยเห็นมาก่อน รู้สึกอย่างไรบ้าง

ดีใจมากที่น้องๆ ให้ความสนใจแล้วก็ติดตามในทุกเรื่อง แล้วบางครั้งมีข้อเสนอแนะอะไร เขาก็มาบอกเราด้วยซ้ำ เพราะปกติเราติดตามข่าวสารการเมืองมากกว่า แต่ประเด็นสังคมบางทีเราก็มีหลุดไปบ้าง น้องๆ เขาก็บอกว่าตอนนี้คุยกันถึงเรื่องนี้อยู่ พี่อิ่มมีความคิดเห็นอย่างไร

จุดนี้ทำให้เราได้เห็นความหลากหลาย ไม่เฉพาะแนวการเมืองที่เราทำงานอยู่เท่านั้น แต่ทำให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน เห็นความสนใจของคนทั่วไปมากขึ้น

 

บรรยากาศการลงพื้นที่พร้อมๆ บรรดาแฟนคลับเป็นอย่างไรบ้าง

เวลาที่ลงพื้นที่พร้อมกัน น้องๆ น่ารักมากนะคะ ครั้งหนึ่งเคยลงพื้นที่อยุธยาพร้อมพี่หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปดูเรื่องน้ำท่วม ก็มีน้องๆ ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงมาหา ในอยุธยาเองก็มีกลุ่มน้องๆ พากันไปให้กำลังใจ แต่เวลาเราทำงานเขาก็ไม่กวนเวลาของเรานะ เพียงแค่ให้เรารู้ว่าตรงนี้มีน้องให้กำลังใจ คอยสนับสนุนพี่ๆ อยู่ห่างๆ

เหมือนน้องๆ เองก็อยากเห็นการทำงานของ ส.ส. ด้วย เพราะเดิมทีน้องๆ ที่เป็นเยาวชน ค่อนข้างห่างไกลจากการรับรู้ว่า ส.ส. ของเขาคือใคร ส.ส. ต้องทำอะไร แต่พอวันนี้เขาได้เข้ามาใกล้ชิด ก็ทำให้เขาอยากรู้ว่า ส.ส. เขตของเขาคือใคร แล้วก็ได้ไปติดตามดูการทำงาน

บางทีเจอ ส.ส. ของเพื่อไทย น้องๆ เขาก็ไปแนะนำตัวว่าเขาอยู่เขตนี้ เพราะฉะนั้น ส.ส. อย่าละเลยพวกเขานะ ทำให้เห็นว่าพวกน้องๆ เข้ามาสนใจการเมืองแล้ว ต่อไปถ้า ส.ส. จะทำงานอะไร ไม่ว่าจะเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับเขา ก็จะมีน้องๆ จับตาอยู่เสมอ

 

ดูเหมือนว่า ‘ด้อม’ ของเพื่อไทยจะอยู่นาน อยู่ยาว ไม่ได้เป็นแค่กระแสแบบมาแล้วก็ไป คิดว่ามีเหตุผลอะไรไหมที่ทำให้น้องๆ ติดตามคุณได้นานขนาดนี้

ปัจจุบัน ด้วยการทำงานที่ผ่านมาของเรา เราคิดว่าน้องๆ คงไปขุดมาดู และยิ่งขุดก็ยิ่งเจอ (หัวเราะ) แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเกี่ยวพันกับชีวิตพวกเขา ทั้งเรื่องการเรียน ปัญหาที่เกิดขึ้นในการศึกษา เรื่องโควิด เขารู้สึกว่าตอนนั้นก็โดนแบบนี้เลย แต่สุดท้ายต้องช่วยเหลือตัวเองเพราะไม่มีใครคอยช่วย

พอเขาเห็นว่ามี ส.ส. ที่เคยพูดเรื่องพวกนี้อยู่ เป็นเรื่องที่พวกเขารู้สึกว่าเข้าถึงได้ รู้สึกว่าพบเจอปัญหาเดียวกันมา ไม่ว่าจะเรื่องที่เขารู้สึกเคว้งคว้าง รู้สึกไม่มีใครเข้าใจ เขาก็ไปดูผลงานในอดีต ก็เจอว่าพี่อิ่มเคยพูดถึงเรื่องนี้ พี่อิ่มเคยให้ความเห็นเอาไว้ เคยแก้ไขอะไรไปแล้วบ้าง ก็เลยทำให้เกิดความต่อเนื่อง

เขาคงรู้สึกว่าในอนาคต หากเขามีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ เขามีข้อเสนอแนะอะไรที่อยากให้ผู้ที่มีอำนาจรับฟัง เราสามารถเป็นตัวเชื่อมให้เขาได้ ทำให้เสียงของเขาดังขึ้นได้

สิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เขายังติดตามการทำงานของเราตลอด รวมถึงจับตาดูการทำงานในพื้นที่ นโยบาย หรือบทบาท ส.ส. น้องๆ ก็ไปดูย้อนหลังทุกครั้ง แล้วเอามาบอกกับกลุ่มเพื่อนว่า “เรื่องนี้ที่เราเคยคุยกัน พี่อิ่มเคยพูดเอาไว้แล้ว” เป็นเรื่องที่ดีกับ ส.ส. ในพรรคคนอื่นๆ จะได้รู้ความต้องการของน้องๆ และสื่อสารในสิ่งที่น้องๆ ต้องการไปด้วย

ก่อนหน้านี้ มีหลายกรณีที่นักการเมืองมีแฟนคลับวัยรุ่นคอยติดตามข่าวการทำงาน แต่จะเป็นแฟนด้อมเดียว ตามนักการเมืองที่ชอบคนเดียว แต่ในเคสของธีรรัตน์ มักถูกนำไป ชิป หรือ จิ้น กับ จิราพร สินธุไพร หรือที่เรียกกันว่า ‘น้องน้ำ’ ตรงนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดไหม 

ไม่เลย ไม่อึดอัด เราว่าเป็นสไตล์ของน้องเขา แล้วแฟนด้อมที่ว่าจะมีทั้งสองประเภท คือกลุ่มที่ติดตามเฉพาะพี่อิ่ม กับกลุ่มที่ติดตามเฉพาะน้องน้ำ หรือติดตามท่านอื่นๆ แต่ในกรณีที่มีการจับคู่ให้พี่อิ่มกับน้องน้ำว่าเหมือนเป็นคู่กัน เรามองว่าเกิดจากการทำงานของเราในสภาฯ เวลาเห็นน้ำอภิปรายฯ พี่อิ่มก็นั่งให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ ขณะที่เวลาพี่อิ่มทำงาน ก็มีน้ำคอยเหมือนส่งกำลังใจให้เหมือนกัน

เราคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น้องๆ เห็นถึงการซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจระหว่างเพื่อนกับเพื่อน พี่กับน้อง หรือจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มันคือสิ่งที่ดี สิ่งที่สวยงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย เป็นตัวแบบที่ดีให้กับพวกเขา มีประโยชน์มากกว่าจะมีโทษอยู่แล้ว

ภาพ: ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์

ในฐานะเป็น ส.ส. รุ่นพี่ มองการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมาของ ‘น้องน้ำ’ อย่างไรบ้าง

น้ำเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย เป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสามารถอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นไม่ได้มาลง ส.ส. หรอก น้องน้ำเป็นลูกสาวของพี่นิสิตกับพี่เอมอร สินธุไพร ที่มีเส้นทางทางการเมืองที่ชัดเจน เป็นนักต่อสู้ฝั่งประชาธิปไตย ด้วยโอกาสที่เขาได้รับทำให้ก้าวสู่การเลือกตั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนแบบล้นหลาม เห็นน้ำบอกว่าอันดับหนึ่งของร้อยเอ็ด หรืออาจจะเป็นอันดับต้นๆ ของอีสานเลยก็ว่าได้ น้องน้ำบอกว่า คะแนนเยอะมาก เพราะฉะนั้น ความคาดหวังที่ประชาชนมีให้ก็เยอะขึ้นไปด้วย น้องน้ำบอกกับพี่อิ่มว่า ยิ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องทำงานให้หนักมากขึ้นไปกว่านั้น

ตั้งแต่น้ำเข้ามาเป็นผู้แทน เราเห็นน้องมาโดยตลอด และเห็นถึงความตั้งใจทำงาน ถ้าไปย้อนดูเฟซบุ๊กเก่าๆ จะเห็นเลยว่าบางช่วง มีการประชุมถึงตีสามกว่า ก็มีพี่อิ่มกับน้ำมาอยู่ด้วยกัน มีวิปอีกสองสามคนอยู่ด้วยกันเพื่อเฝ้าสภาฯ ถือว่าเป็นคนที่มีความตั้งใจในการทำงาน

Fact Box

  • ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นลูกสาวของ วิบูลย์ สำเร็จวาณิชย์ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพฯ และนักธุรกิจผู้กว้างขวางในเขตลาดกระบัง เธอจบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอก จนจบการศึกษาปริญญาเอก สาขา ‘สหวิทยาการศึกษา’ จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย โดยหลังเรียนจบ ได้ทำงานด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะได้รับการเชิญชวนจาก วิชาญ มีนชัยนันท์ มาเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ลง ส.ส. เขตลาดกระบัง เมื่อปี 2554
  • ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ธีรรัตน์ได้คะแนนเสียง 4.4 หมื่นคะแนน เอาชนะ สลวยเลิศ กิมสูนจันทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ภรรยาของ มงคล กิมสูนจันทร์ ส.ส.เก่า 4 สมัย ที่ได้ 2.6 หมื่นคะแนน และในปี 2562 ธีรรัตน์ได้คะแนนเสียง 3.3 หมื่นคะแนน เอาชนะ เอกฤทธิ เจียรขจร จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ 2.2 หมื่นคะแนน ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ วิสูตร สำเร็จวาณิชย์ อาของธีรรัตน์ ที่ลงเลือกตั้งแข่งกับธีรรัตน์ในเขตเดียวกัน ในนามพรรค ‘พลังประชารัฐ’ ซึ่งได้ 2 หมื่นคะแนน
  • ‘น้ำ’ - จิราพร สินธุไพร บอกว่าธีรรัตน์เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การขยันประชุมสภา หากต้องประชุมถึง ‘ตีสาม’ ก็ต้องอยู่จนจบ ‘โมเมนต์’ ของทั้งคู่เวลาอยู่เคียงข้างกัน จนมีการนำไปตัดเป็นคลิปสั้น และกลายเป็น ‘คู่จิ้น’ ในที่สุด
Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,