32 ปีที่แล้ว ป่าห้วยขาแข้งในยามวิกาลมักเต็มไปด้วยเสียงสัตว์ป่า เสียงปืนของพวกลักลอบล่าสัตว์ แต่ในรุ่งสางนั้นเสียง ‘ปัง’ ที่ดังกังวานไปทั่วทั้งป่า กลับไม่ใช่เสียงที่มาจากปากกระบอกปืนล่าสัตว์ แต่เป็นเสียงปืนจากการทำอัตวินิบาตกรรมของ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่อุทิศชีวิตมอบให้ผืนป่าเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาขบวนการล่าสัตว์และขบวนการค้าไม้เถื่อน ที่คอยทำลายและกัดกร่อนป่าห้วยขาแข้ง 

32 ปีผ่านไป คนยังรำลึกถึงวีรุบุรุษป่าไม้ หรือ ‘หัวหน้าสืบ’ การเสียสละของเขานำมาสู่ความตื่นตัวจนป่าห้วยขาแข้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก สืบจึงนับเป็นหนึ่งในตำนานนักอนุรักษ์ ผู้ยอมเสียสละอุทิศตนเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำเพื่อป่าและสัตว์ป่าได้

หากแต่สถานการณ์ป่าไม้ของไทยยังคงย่ำแย่ และดูจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ แม้จะมีพื้นที่อยู่ที่ 102 ล้านไร่ คิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์จากปี 2533 แต่ยังน้อยกว่านโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ขณะที่สถานการณ์ ‘สัตว์ป่า’ ที่หัวหน้าสืบห่วงใยเป็นพิเศษก็อยู่ในสภาพเปราะบางเช่นกัน ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าของภูมิภาค และจำนวน ‘สัตว์ป่าสงวน’ หรือสัตว์ป่าหายากมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 15 ชนิด เมื่อปี 2535 สู่ 19 ชนิด ในปี 2562 

เพื่อรำลึกถึงสืบ และทำความเข้าใจความเป็นไปของ ‘สุขภาพ’ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม จากวันนั้นถึงปัจจุบัน The Momentum ชวน หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่าผู้ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในวงการอนุรักษ์มามากกว่า 30 ปี และผู้เคยร่วมงานกับ สืบ นาคะเสถียร ในฐานะรุ่นน้อง 

หม่อมหลวงปริญญากรเท้าความถึงครั้งแรกที่ได้รู้จัก ‘พี่สืบ’ ว่าเขากับสืบคุ้นเคยกัน เนื่องจากทั้งสองต่างเป็นสมาชิกชมรมนิยมธรรมชาติ ในตอนนั้น หม่อมหลวงปริญญากรมีอายุราว 30 ต้นๆ ในขณะที่สืบอายุมากกว่าเขาราว 10 ปี 

“ตอนนั้นในชมรมมักจัดกิจกรรมเดินป่าอยู่บ่อยๆ ช่วงนั้นพี่สืบก็มาเป็นพี่เลี้ยง ทั้งหมดก็ทำให้ผมกับพี่สืบคุ้นเคยกัน ซึ่งผมเคารพพี่สืบในฐานะรุ่นพี่

“มีอยู่วันหนึ่ง ผมโทรไปบอกพี่สืบว่าเห็นนกเป็ดก่า อยู่ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นนกที่หายาก ตอนนั้นพวกเราดีใจและนัดกันว่าจะไปดูพวกมัน หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2533 สัก 2-3 วัน ก่อนวันที่ 1 กันยายน พี่สืบโทรมาตอนประมาณ 4 ทุ่ม บอกว่าที่นัดกันไว้ผมยกเลิกนะ เพราะพี่เขาติดธุระ

“หลังจากวางสายไป ผมก็มารู้ให้หลังว่านั่นคือการคุยกันครั้งสุดท้ายระหว่างผมกับพี่สืบ”

หากกล่าวถึง ‘แรงส่ง’ อันเป็นผลมาจากการกระทำอัตวินิบาตกรรมของ สืบ นาคะเสถียร เพื่อแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของผืนป่าห้วยขาแข้ง ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่าผู้นี้มองว่า หลังจากเหตุการณ์นั้น วันรุ่งขึ้น ถนนทุกสาย สรรพกำลังทุกภาคส่วน ต่างมุ่งหน้าไปที่ห้วยขาแข้งทั้งหมด 

“ในตอนนั้น หลายฝ่ายรู้แล้วว่ามีคนคนหนึ่งใช้ทั้งชีวิตของตัวเองเพื่อบอกเล่าเรื่องราว และปัญหาของผืนป่า ประกอบกับระหว่างที่พี่สืบทำงาน เขาก็เตรียมเอกสารที่จะยื่นให้ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว หลังจากที่พี่สืบตัดสินใจเลือกวิธีนี้เพื่อบอกให้ทั้งโลกรู้ว่าทุกคนควรต้องใส่ใจกับป่าผืนนี้ ก็เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือมีสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเข้าไปช่วย ทั้งดูแล ลาดตระเวนและปกป้องป่าผืนนี้”

หม่อมหลวงปริญญากรชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว นกยูงและวัวแดงเป็นสิ่งมีชีวิตที่หาดูได้ยาก หากระบบนิเวศบริเวณนั้นไม่อุดมสมบูรณ์ นกยูงและวัวแดงจะไม่อาศัยอยู่ ประกอบกับแต่ก่อน พื้นที่ห้วยขาแข้งเป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘แหล่งล่าสัตว์’ 

“สมัยก่อน คนจำนวนไม่น้อยมองการล่าสัตว์เป็นกีฬา พวกเขาจะหาอาวุธดีๆ คล้ายกับการมีไม้กอล์ฟดีๆ พอถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์ พวกผู้ชายก็พากันจับกลุ่มกันเข้าไป และด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ป่าแห่งนี้จึงเป็นที่นิยมมาก นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม ตามลำห้วยขาแข้งมักมีซากวัว ซากกระทิงอยู่ตามแอ่งน้ำเต็มไปหมด”

ในทางกลับกัน ทุกวันนี้ที่ห้วยขาแข้งมีความอุดมสมบูรณ์มาก ซากสัตว์ที่ถูกฆ่าแทบจะไม่มีแล้ว ป่าผืนนี้อุดมสมบูรณ์มากจนกระทั่งเพียงแค่ขับรถเข้าไปที่หน้าปากทางเข้า หรือเดินเข้าไปข้างในสักนิดก็สามารถเห็นนกยูงและวัวแดงได้ไม่ยาก ทั้งๆ ที่แต่ก่อนเป็นสิ่งหาดูยาก 

นอกจากนี้ เขายังรู้สึกว่า สิ่งที่ ‘พี่สืบ’ ทำคือการเผยแพร่ภาพของป่า สัตว์ป่า และการอนุรักษ์ป่า ผ่าน ‘อำนาจอ่อน’ หรือ Soft Power เพื่อให้คนไทยรู้สึกใกล้ชิดกับป่ามากขึ้น และป่าต้องไม่เป็นที่สำหรับนายพรานหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น หากแต่คือสมบัติของคนไทยทุกคน

“พี่สืบเชื่อว่าการถือปืนป้องกันเพียงอย่างเดียวมันไม่สำเร็จผล เพราะคนทั่วไปไม่ได้รู้สึกใกล้ชิดหรือเห็นความสำคัญของป่าไม้ ดังนั้น พี่สืบจึงเลือกใช้ซอฟต์พาวเวอร์ผ่านการสนับสนุนและยินดีต้อนรับคนทำสารคดีอย่างเต็มที่ พี่สืบต้องการให้ประชาชนเข้าถึงป่าไม้ผ่านสื่อเหล่านี้

“ตัวอย่างเช่น รายการส่องโลก รายการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเห็นภาพของสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิดมาก โดยงานชิ้นที่ทรงพลังมากที่สุด คือชิ้นที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ขณะที่พี่สืบกำลังช่วยอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ผมมองว่าสิ่งที่พี่สืบพยายามจะสื่อสาร พยายามจะถ่ายทอด มันไม่เคยล้าสมัยเลย มันคือข้อเท็จจริง มันเลยทำให้ทุกๆ วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี องค์ความรู้ตรงนี้มันสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดถึงได้เสมอ”

นอกจากนี้ แรงกระเพื่อมจากการกระทำของสืบไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะห้วยขาแข้ง หากแต่แผ่กว้างไปถึงพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ

“เราพูดได้เลยว่าการกระทำของพี่สืบมันส่งผลให้วงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก เรามีประชากรสัตว์ป่ามากขึ้น เรามีแผนงานการป้องกันที่แน่นหนามากขึ้น เรามีตำรวจลาดตระเวนที่เอาจริงเอาจัง หลายครั้งประชากรสัตว์ที่เราคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว เราก็เห็นมันกลับมา”

เพราะก่อนหน้านี้ คนทำงานป่าไม้สมัยก่อนมักเจอการปะทะ มีหลายคนที่บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต ในอดีตนายพรานที่เข้าป่ามักจะมีอาวุธที่ดีกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่ในปัจจุบัน ด้วยอานิสงส์จากการกระทำของสืบ ภาพแบบนั้นก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่ในปัจจุบันมีการอบรม พัฒนาทักษะ และมีอาวุธที่ล้ำสมัยมากขึ้น 

“ปัจจุบัน ถ้ามีคนเข้าไปล่าสัตว์ ทิ้งก้นบุหรี่ไว้ก้นเดียว หรือซองยาแก้ปวดไว้ซีกเดียว เจ้าหน้าที่สามารถนำมาตรวจสอบหาสารพันธุกรรมและจับกุมได้ไม่ยาก” 

อย่างไรก็ตาม แม้ภัยคุกคามของสัตว์ป่าในแบบเดิมอย่างการล่าสัตว์และตัดไม้ลดลง ทว่าปัญหาก็ยังไม่หมดไป ปัจจุบันยังมีตลาดรับซื้ออวัยวะสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นงาช้าง นอแรด หนังท้องเสือ หัวนกเงือก หัวนกชนหิน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่ายาเสพติดในตลาดมืด และที่น่ากังวลมากไปกว่านั้น คือโลกปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับโลกแห่งทุนนิยมที่เข้มแข็งมากจนกระทั่งนำมาซึ่งภัยคุกคาม ‘แบบใหม่’ ที่สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญ

“ตอนนี้ ระบบนิเวศพัฒนาจนมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณสัตว์ป่าพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในโลกขณะนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เติบโตมากเช่นเดียวกัน มนุษย์ก็มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น หลายครั้งจึงไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัยของสัตว์ จากเดิมที่ป่าเป็นผืนเดียวกันอย่างสมบูรณ์ มนุษย์ก็เข้าไปแบ่งป่าออกมาทำถนน ทำบ้านเรือน ทำอาคารชุด

“สิ่งที่ตามมาจากการแบ่งป่าออกเป็นท่อนๆ เช่นนั้น คือที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกตัดขาดออกจากกัน สัตว์ที่เคยเดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง บางส่วนก็ไม่สามารถทำได้ เกิดสภาวะคล้ายๆ สัตว์ติดเกาะ จนเกิดการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด สุดท้ายยีนด้อยกับยีนด้อยมาผสมกัน และพวกมันก็สูญพันธุ์ในที่สุด”

หม่อมหลวงปริญญากรอธิบายผลกระทบของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมต่อสิ่งแวดล้อมว่า ตามธรรมชาติสัตว์ทุกชนิดจะต้องเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาตามฤดูกาล เมื่อพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมันคับแคบลงจากการที่พื้นที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นถนน บ้านเรือน หรืออาคารชุด สุดท้ายสัตว์ป่าก็เดินทางออกมาเจอกับถนน บ้านเรือน ไร่สวนของชาวบ้าน 

ทั้งหมดกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า ที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่สัตว์ป่าไปกินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน ออกไปเหยียบรถนักท่องเที่ยว หรือออกไปทำร้ายคน

“ในแง่ของการทำงาน ปัญหาที่หน่วยลาดตระเวนเจอจริงๆ ต่างจากเมื่อ 32 ปีที่แล้วมาก มันไม่ใช่เรื่องความไม่ทันสมัยของอาวุธ แต่เป็นการพลาดถูกสัตว์ป่าที่ป่วยทำร้าย สัตว์ป่าเหล่านี้ป่วยจากการที่แหล่งที่อยู่อาศัยของมันคับแคบลง ที่อยู่อาศัยถูกตัดขาด การปะทะกับมนุษย์บ่อยๆ เนื่องจากไปกินผลิตผลทางการเกษตร พอพวกมันเครียดมากๆ มันก็จะออกไปทำร้ายคน และหนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่ลาดตะเวน”

สิ่งที่หม่อมหลวงปริญญากรกังวลก็คือ ‘ความซับซ้อน’ ของปัญหาที่ต่างจากเมื่อ 32 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน

“เพราะปัญหาแบบเดิมอย่างการล่าสัตว์ เราสามารถถือปืนออกไปป้องกันได้ ประกอบกับเรามีองค์ความรู้ มีอาวุธที่ทันสมัย 

“แต่ปัญหาสัตว์ป่าในปัจจุบัน ไม่ใช่การต่อสู้กับนายพรานที่ต้องการล่าสัตว์เพื่อขายอวัยวะ เรากำลังต่อสู้กับนโยบาย ต่อสู้กับโครงการของรัฐที่จะเข้าไปสร้างสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งหมดผมมองว่าเป็นปัญหาที่แก้ยาก และความหวังยังไม่เยอะเลย ผู้มีอำนาจมุ่งแต่จะเร่งพัฒนา อย่างเช่น ในป่าอนุรักษ์ที่ควรจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รัฐกลับมีโครงการสร้างเขื่อน มันยากที่จะป้องกัน และไม่รู้จะถือปืนไปสู้กับรัฐได้อย่างไร” 

แต่ในมุมของเขา ทั้งหมดยังพอมีความหวัง มีประชาชน มีองค์กรที่ไม่เห็นด้วยและออกมาคัดค้านอยู่เสมอ แต่ก็น่าเศร้าอีกที่ทั้งหมดกลับกลายเป็นว่า ประชาชนต้องออกมาต่อสู้ให้สัตว์ป่าโดยมีรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง

สำหรับโครงการของรัฐที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ คือนโยบายสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ใกล้กับอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลกแหล่งที่ 5 ของโลก และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแหล่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งกรมชลประทานเร่งผลักดันมาตลอดหลายปีก่อน

“ถ้าเราจะย้อนกลับไปหาพี่สืบ สิ่งหนึ่งที่พี่สืบทำคือการคัดค้านการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ถึงแม้สุดท้ายพี่สืบไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการสร้างเขื่อนนี้ได้ แต่พี่สืบก็ได้เอาข้อมูลการอพยพของสัตว์ป่าและภาพความทรมานของพวกมันออกมาแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็น เพื่อมาคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนจนสุดท้ายคัดค้านสำเร็จ”

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ทำร้ายสัตว์ป่าและธรรมชาติคือโครงการของรัฐ พวกเขามักคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่จะได้ ไม่ว่าจะเป็นได้น้ำมาใช้ ได้ไฟฟ้า ได้เกิดการจ้างงาน หรือได้เงินทอน แต่สิ่งที่พวกเขาไม่เคยนำเข้ามาคิดเลยคือมูลค่าของสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

“น่าเศร้าว่าในปัจจุบันมีโครงการสร้างเขื่อนออกมาเรื่อยๆ และหลายโครงการที่ชะลอไป มันไม่ได้ยกเลิกโดยสิ้นเชิง แต่หยุดเพราะกระแสสังคมไม่ต้องการ ผมคิดว่าโครงการเหล่านั้นมันพร้อมที่จะโผล่ขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลา”

เมื่อถามถึงภาพรวมของปัญหาสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่าชั้นครูผู้นี้มองว่า การอนุรักษ์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง เส้นทางแรกคือประชาชนที่เข้าใจและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และอีกเส้นทางคือกลุ่มคนที่ไม่สนใจและมองว่าสัตว์ที่สวยงามคือซากสัตว์ ส่วนป่าไม้ที่ดีคือป่าที่สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและตีค่าเป็นเงินได้

 “ประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหาแบบสองเส้นทางนี้ แต่น่าเสียดายตรงที่ถนนเส้นที่สองมักจะเป็นถนนที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยเดินอยู่ สถานการณ์ในประเทศตอนนี้จึงเป็นเหมือนว่า ประชาชนอย่าเผลอนะ ถ้าเผลอผู้มีอำนาจก็จะเข้ามาควบคุมทันที”

 

Tags: , , , , , ,