การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำทีม เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ นับจากคดีสังหารนักการทูต และคดี ‘เพชรซาอุ’ สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งคนไทยและประชาคมโลก

ความหมายสำคัญที่ทางการไทยยืนยัน ก็คือการเดินทางเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้ นำไปสู่การเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาดห์ เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ที่ไทยจะส่งทูตไปประจำอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ไทยจะค้าขายกับซาอุฯ ได้มากขึ้น และแรงงานไทยก็จะสามารถกลับไปทำงานยังซาอุฯ ได้อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับยุคทองของการค้าแรงงานเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

The Momentum ต่อสายคุยกับ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษา เพื่อทำเข้าใจถึงบทบาท และนัยความสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้

จรัญเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเกิดคดี ‘เพชรซาอุฯ’ ไทยและซาอุฯ ถือเป็นประเทศที่เป็นราชอาณาจักรเหมือนกัน มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง โดยแรงงานไทยถือเป็นแรงงานที่มีฝีมือ และมีความสำคัญในการทำงาน สร้างระบบเศรษฐกิจให้กับซาอุฯ แต่ติดปัญหาคือคดีเพชรซาอุฯ 32 ปีแล้วที่ยังแก้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องเพชรจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทางการซาอุดีอาระเบียติดใจเรื่องของเพชรน้อยกกว่าเรื่องของการเสียชีวิตของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์ซะอูด และนักการทูตชาวซาอุฯ 3 คน เพราะเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศของเขา แม้ว่าจะมีสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม

ทั้งนี้ แม้ทางการไทยจะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสะสางคดีสังหารนักการทูต ตำรวจไทยก็ ‘จับผิดจับถูก’ รอบแรกไปจับ สุชาติ เฮลาบี ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ารับรู้เหตุการณ์ แต่ว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ รวมทั้ง ทองใบ ทองเปาด์ และสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ร่วมกันทำคดี ต่างก็ยืนยันว่า สุชาติ เฮลาบี อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี และสุดท้ายแม้ว่าจะได้รับปล่อยตัว แต่สุชาติก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือชดเชยแต่อย่างใด

“การหายตัวไปของอัลรูไวลีสร้างผลสะเทือน เพราะทางซาอุดีอาระเบียเขารอมา 20 ปี ก็ไม่เคยได้คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับอัลรูไวลี กระทั่งทางการไทยได้บอกว่า นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ได้หายตัวไป อย่างน้อยก็เป็นการช่วย เพราะว่าครอบครัวเขาสามารถแบ่งมรดกได้”

ส่วนเรื่องเพชร ‘บลูไดมอนด์’ ก็กลายเป็นเรื่องสับสนว่าอันตรธานไปอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใคร และมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะจากปากคำให้การของคนที่นำเพชรกลับมาไทยคือ เกรียงไกร เตชะโม่ง นั้น ไม่ได้รู้จักเพชร เพียงแต่ต้องการนำเพชรกลับบ้านเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ปัญหาของเพชรซาอุฯ ที่สะเทือนใจที่สุดก็คือ แม้จะมีการนำเพชรไปคืนแล้ว กลับมีเพชรบางส่วนเป็นเพชรปลอม และเพชรจำนวนไม่น้อย ก็ตกไปอยู่ในมือคนอื่น โดยเฉพาะ ‘พ่อค้าเพชร’ จนกลายเป็นเพชรอาถรรพ์ที่นำมาสู่ความตายของคนจำนวนไม่น้อย

และสุดท้าย โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคห์จา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ณ ขณะนั้น ได้ขอให้ทุกคนนำมาคืนเพชร เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฎกรรม แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าทั้ง ‘บลูไดมอนด์’ และเพชรส่วนที่เหลือนั้นอยู่ที่ไหน

กลับมาที่เรื่องการฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ จรัญวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะนโยบาย ‘Vision 2030’ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman: MBS) มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย พระราชโอรสองค์ที่ 7 จาก มเหสีที่ 3 ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ อัล ซาอูด และขึ้นมามีบทบาทสำคัญในช่วงพระชนมพรรษาที่ 34 ซึ่งถือเป็นคนหนุ่มไฟแรง ที่ได้ปรับเปลี่ยนประเทศจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยการเปลี่ยนประเทศซาอุดีอาระเบียจากประเทศอนุรักษนิยมให้กลายเป็นประเทศสายกลาง เพิ่มให้มีคนต่างประเทศเข้ามาทำงานมากขึ้น

ทั้งยังปรับเปลี่ยนสิทธิผู้หญิงให้สามารถร่วมเล่นกีฬาได้ ขับรถได้ และรวมตัวกันเองได้ และในเวลาเดียวกันก็เปลี่ยนวิถีชีวิตให้คนในประเทศมาเป็นแรงงานมากขึ้น เพราะซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากร 34.81 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติประมาณ 10 ล้านคนที่เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียปากีสถาน อินเดีย และบังคลาเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่าน้ำมัน 2 ใน 3 ของโลกจะอยู่ในตะวันออกกลาง และซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีน้ำมันมากที่สุดในโลกตะวันออกกลาง แต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็มองการณ์ไกล โดยประเมินไปถึงอนาคตว่า หากน้ำมันในตะวันออกกลางหมดไป หรือมีอุปสงค์ลดลงในอนาคต ซาอุดีอาระเบียจะรักษาระบบเศรษฐกิจและทำให้ระบบเศรษฐกิจด้วยวิธีใด จึงเริ่มมีความกระตือรือร้นในการสร้างระบบสาธารณูปโภคให้มีความเตรียมพร้อมมากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนผ่านให้คนซาอุดีอาระเบียหันมาทำงานอื่น เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว

นั่นจึงเป็นเหตุให้ซาอุฯ เริ่มหันมาติดต่อกับประเทศอื่นมากขึ้น และทำให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เชื่อมสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนที่มีประเทศมุสลิม 3 ประเทศคือ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น รวมถึงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย การเปลี่ยนจากอุปทูตเป็นเอกอัครราชทูตก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือแบบ ‘พหุภาคี’ จากวิสัยทัศน์ของเจ้าชาย MBS ได้อย่างชัดเจน

จรัญบอกอีกว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียยังถือเป็นเรื่องที่ไทยได้ดุลมากกว่าเสียดุล เพราะจะทำให้เรื่องหลายเรื่องที่เป็นประเด็นมาตลอดคลี่คลายลงได้ ยกตัวอย่างเช่น

1. ความสัมพันธ์กับมุสลิมไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจดีมากขึ้น

2. การที่ชาวมุสลิมในไทยจะสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้มากขึ้น

3. แรงงานไทยจะสามารถเข้าไปทำงานได้

4. การท่องเที่ยวที่คนซาอุดีอาระเบียสามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ ซึ่งแต่ก่อนอนุญาติเฉพาะบุคคลสำคัญเท่านั้น

5. การที่ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่เป็นหัวหอกในประเทศมุสลิม จะทำให้เรามีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมุสลิมอื่นด้วย

6. การส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลกมุสลิมหรือที่เรียกว่า The Islamic Chamber of Commerce and Industry ซึ่งประเทศไทยถือป็นสมาชิกสังเกตการณ์ และได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสำคัญแทบทุกครั้ง

จรัญอ่านอนาคตของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และอนาคตของประเทศซาอุดีอาระเบียไว้ว่า ด้วยอำนาจและด้วยวิสัยทัศน์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็น่าเชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนซาอุฯ ยุคใหม่ต่อไปได้ ทั้งในการพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศมุสลิม การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย ความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศ

และสุดท้าย หากสามารถปรับเปลี่ยนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางศาสนาพร้อมกับรักษาแบบอย่างวิถีชีวิตโลกมุสลิมได้ เชื่อว่าการทำแบบนี้ ซาอุดีอาระเบียจะเป็นประเทศอิสลามที่น่าจับตาและมีอนาคตต่อไป

Tags: ,