องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งปัญหาโรคเอดส์ถือเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกต่างยกให้โรคเอดส์เป็นวาระการแก้ไขระดับสูง โดยไทยมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 แต่ทว่าเมื่อกลับมาดูสถิติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทย ระบุว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 9,200 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 25 คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ประมาณ 1.1 หมื่นรายต่อปี หรือเฉลี่ย 30 รายต่อวัน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 5.6 แสนคน ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์เมื่อปี 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 9,300 รายคนต่อปี
นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติระบุถึงผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสเอดส์ประมาณ 457,133 ราย ในจำนวนตัวเลขนี้จะเห็นว่า มีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตมากกว่า 1 แสนคน หรืออาจจะมากกว่านั้นที่ไม่ได้เข้ารับยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์
PrEP, PEP นวัตกรรมป้องกันเอดส์
แม้จะมีการรับยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งมีผลวิจัยออกมาว่า ผู้ที่รับยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งสามารถตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวี หรือไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่หากไม่ปฏิบัติตามแพทย์สั่งและมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการดื้อยา เช่น การดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยาไม่ตรงตามเวลา ก็ส่งผลต่อเชื้อในร่างกายให้กลับมาแพร่เชื้อได้ ดังนั้น การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรักษาเมื่อติดโรคแล้ว โดยนวัตกรรมที่ช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ยา PrEp และยา PEP
เพร็พ (PrEP: Pre-Exposure Prophylaxis) คือยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ โดยเริ่มใช้เตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ และใช้ต่อเนื่องไปจนหมดโอกาสนั้น
ส่วน เพ็พ (PEP: Post-Exposure Prophylaxis) คือยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ ที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมาในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน อีกทั้งก่อนรับยาจะต้องมีการตรวจผลเลือดผู้รับยาก่อนทุกครั้ง
การใช้ PrEP, PEP ในไทยที่ยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยง
ในประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปรับปรุงการให้บริการยา PrEP ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 และมีหน่วยบริการของทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 271 แห่ง จาก 69 จังหวัด
ประเทศไทยมีการให้บริการยา PrEP และ PEP ฟรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยให้บริการยา PrEP และ PEP จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้รับบริการยา PrEP กลับไม่เพิ่มตาม โดยผลสำรวจล่าสุดของ PrEPWatch พบว่า ตัวเลขจำนวนผู้ใช้สะสมอยู่ที่ 62,775 คน ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงและอัตราการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อรายใหม่
PrEP และ PEP ที่ยังไม่ POP
ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสนี้ เนื่องมาด้วยเหตุผลหลายข้อ เช่น ไม่ยอมตรวจเลือด เลือกไม่ตรวจเพราะกลัวติด หรือไม่ตรวจเพราะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีความเสี่ยง เมื่อไม่มีการตรวจเลือด ซึ่งเป็นด่านแรกที่จะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ทั้งการปรึกษา กระบวนการหลังจากนี้ โดยเฉพาะการรับยา PrEP, PEP หรือแม้กระทั่งการรับยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี จึงไม่เกิดขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่มีกระจายออกไปเรื่อยๆ
อีกปัจจัยที่สำคัญ คือคนในสังคมขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การปลูกฝังค่านิยมทางเพศ ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่สังคมไทยเผชิญ เนื่องจากในระบบการศึกษามักสอนเด็กให้รู้ถึงลักษณะของอวัยวะเพศ การมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่สอนให้เด็กและเยาวชนเข้าใจพื้นฐานเรื่องเพศ อารมณ์ทางเพศ และการต่อรองกับคู่นอนอย่างจริงจัง ทำให้เวลาเกิดปัญหาหรือความไม่เข้าใจ หลายคนมักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มั่นใจว่าเป็นทางแก้ที่ถูกต้องหรือไม่ จนอาจสายไปสำหรับบางปัญหา
แม้โรงเรียนมีการสอนในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เมื่ออยู่ในสนามจริง น้อยมากที่จะมีการใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่สื่อทางเพศเข้าถึงง่าย หลายสื่อมีการนำเสนอค่านิยมทางเพศแบบผิดๆ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยาง จึงเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและอาจนำไปสู่ความเชื่อที่ผิดได้
อีกปัจจัยที่ยังคงมีการผลักดันกันอย่างต่อเนื่องในไทย คือการเพิ่มสถานบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเป็นความลับ อย่างไรก็ดี ในบริบทของสถานบริการเหล่านี้ที่ครอบคลุมน้อย และมักไปกระจุกกันในตัวเมือง หรือบางจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือจังหวัดใหญ่ๆ แต่รอบนอกยังคงขาดสถานบริการ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมไปรับบริการ เพราะเดินทางที่ลำบาก
นอกจากนี้ การรังเกียจและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การเข้ารับการตรวจเลือด หรือการเข้ารับยาต้านไวรัสเอดส์ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากคนในสังคมมักจะมีอคติและเลือกปฏิบัติเมื่อรู้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ จึงนำไปสู่การไม่ตรวจเลือด ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ไม่ตรวจเท่ากับไม่ติด’ เมื่อไม่ติดก็แปลว่าไม่ต้องถูกรังเกียจ
สร้างความเข้าใจ ให้คนนิยมใช้ PrEP,PEP
การแก้ไขปัญหาค่านิยมของ PrEP และ PEP เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไข โดยอาจเริ่มจากการสร้างความเข้าใจ รวมถึงการปลูกฝังค่านิยมเรื่องเพศในสังคมไทย ให้เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ทั่วไป ขณะที่ผู้ให้บริการต้องส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงสถานบริการอย่างครอบคลุม และให้บริการอย่างเป็นความลับ ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อเป็นการจูงใจให้คนใช้ยา PrEP และ PEP
สื่อเองก็ควรเข้ามามีบทบาทในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนเกิดความเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึง และช่วยดึงค่านิยมของยา PrEP และ PEP ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและมาตรการการป้องกันโรคเอดส์ที่เข้มแข็งมากขึ้น
อ้างอิง
– https://hivhub.ddc.moph.go.th/epidemic.php
– https://www.prepwatch.org/countries/thailand/
– https://buddystation.ddc.moph.go.th/
– https://love2test.org/public/blog/preppep/
Tags: เอดส์, PrEP, วันเอดส์โลก