เสียงในความทรงจำของคุณเป็นอย่างไร?
ไม่ว่าแต่ละคนจะให้คำตอบแบบไหน แต่ในมุมมองทางมานุษยวิทยา เสียงไม่ได้มีความหมายจำกัดแค่การฟังในเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น ทว่ายังมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ และความทรงจำร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นตัวแทนของอำนาจ ความรู้ และสถาบันทางสังคมในเวลาต่อมา
บทสนทนาดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนา ‘ลบเลือน เคลื่อนที่ ทวีทบ’ (Memory, Mobility, and Multiplicity: Exploring Anthropological Possibilities) ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในวันที่ 3-5 มิถุนายน 2567 ในหัวข้อเสียงในความทรงจำ และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ภายใต้ชื่อ เคลื่อนโสต เลื่อนทัศน์ สดับอดีต: ชาติพันธุ์ ความทรงจำ และความพร่าเลือนผ่านการฟังชีวิตมนุษย์
เทพ บุญตานนท์ อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในวิทยากรพาทุกคนย้อนรอย ‘เสียงที่ถูกลืม’ ในฐานะความทรงจำร่วมกันของสังคม ด้วยเรื่องราวของเชลยศึกชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เทพตั้งต้นว่า ปกติแล้ว เรื่องเล่าของเชลยศึกในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มักถูกครอบงำด้วยชาติตะวันตกอย่างฝ่ายสัมพันธมิตรเสียส่วนใหญ่ สะท้อนจากผลงานภาพยนตร์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์มากมาย เช่น ภาพยนตร์ The Railway Man (2013) ที่นำเสนอชีวิตทุกข์ทรมานของเชลยศึกชาติตะวันตก จากการสร้างรถไฟสายมรณะในกาญจนบุรี หรือหนังสือ Last Man Out: Glenn McDole, USMC, Survivor of the Palawan Massacre in World War II (2004) ว่าด้วยเรื่องราวของ เกว็น แม็กโดล (Glenn Mcdole) ทหารอเมริกันในฐานะเชลยศึกของญี่ปุ่น ที่มีชีวิตรอดจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในค่ายปาลาวัน (Palawan) ประเทศฟิลิปปินส์
ทว่าข้อมูลจากเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำให้เทพค้นพบว่า เชลยศึกในประเทศไทยยังรวมถึงทหารญี่ปุ่นระดับล่าง ที่ต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ไม่ต่างกัน แต่กลับไม่ได้อยู่ในความทรงจำของคนส่วนใหญ่
เทพพาทุกคนย้อนเรื่องราว ด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดว่า ญี่ปุ่นตระหนักดีว่า ไทยในฐานะพันธมิตรฝ่ายอักษะ (Axis) ภายใต้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จะละทิ้งและตีตัวออกหาก ซึ่งในจุดหนึ่ง ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นถึงกับวางแผนยึดครองประเทศไทย เพื่อค้ำประกันว่า รัฐบาลไทยจะไม่เข้าหาฝ่ายสัมพันธมิตร
ต่อมาแผนดังกล่าวไม่สำเร็จ เพราะญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) และเมืองนางาซากิ (Nagasaki) ในเวลานั้น จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ประกาศศิโรราบแต่โดยดี ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยก็ได้รับสารดังกล่าว และยอมแพ้เช่นเดียวกัน ทว่าเทพเน้นย้ำจากหลักฐานว่า ทหารญี่ปุ่นระดับล่างไม่ได้แสดงความเสียใจ แต่กลับดีใจมากที่จะได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนเสียที หลังจากกรำศึกเป็นระยะเวลา 3-4 ปี
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทหารญี่ปุ่นเริ่มเตรียมตัวกลับบ้าน ทั้งนำอาวุธยุทโธปกรณ์ไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อเสื้อผ้า ของใช้ เพื่อหาเงินกลับประเทศ ทำให้ค่ายทหารอื่นๆ วุ่นวายจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม นายทหารระดับล่างไม่รู้สภาพความเป็นจริงว่า ญี่ปุ่นเสียหายจากสงครามครั้งนี้แค่ไหน เพราะอยู่ห่างไกลจากข่าวสาร เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน
เหล่านี้สะท้อนจากบันทึกการพูดคุยระหว่างตำรวจไทยในจังหวัดพิษณุโลก กับสิบเอก ฮายี เมฟูคูตะ โดยทหารนายนี้แสดงความคิดเห็นว่า ญี่ปุ่นไม่ได้แพ้สงครามแบบเบ็ดเสร็จ แต่ถึงจุดจำเป็นที่ต้องยอมแพ้ เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งยังเชื่อว่า อีก 15 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม พร้อมทำสงครามต่อในอนาคตข้างหน้า โดยมีไทยเป็นพันธมิตรที่ดีกับญี่ปุ่น ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของนายทหารชั้นสูงก่อนหน้านี้ที่เล็งเห็นว่า ไทยเป็นพันธมิตรที่แย่มาก
ประเด็นน่าสนใจที่เทพตั้งไว้ในระหว่างบทสนทนาดังกล่าว คือทหารญี่ปุ่นจำนวนมากรู้ว่า ญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณู แต่พวกเขาไม่คิดว่า สหรัฐฯ ในฐานะชาติที่มีมนุษยธรรมจะเป็นฝ่ายลงมือ กลับกันญี่ปุ่นคิดว่า ชาติคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายทิ้งระเบิด โดยยึดระเบิดปรมาณูจากเยอรมนีที่เป็นผู้คิดค้นอาวุธร้ายแรงดังกล่าว
“แน่นอนว่า ข้อมูลบางส่วนมาจากกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่ประจำการในไทย แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์ของทหารญี่ปุ่นระดับล่างว่า สถานการณ์น่าจะเป็นเช่นนี้ และถูกถ่ายทอดออกมาต่อ”
อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลย้ำและเล่าว่า ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม รัฐบาลไทยจัดตั้งกองประสานระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารญี่ปุ่น เพื่อดูแลเชลยศึกชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ไทยจะไม่ยอมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ และพยายามจัดการควบคุมเชลยศึกด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลิกตาลปัตร เพราะเชลยศึกทหารเหล่านี้ไม่ได้กลับประเทศ โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการทำตามคำสั่งของชาติตะวันตกในการจัดการเชลยศึก
เทพอธิบายว่า นโยบายจัดการเชลยศึกญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร คือการกระจายคนไปในอดีตค่ายบัญชาการญี่ปุ่นทั่วประเทศ ที่มีการคมนาคมสะดวกเพื่อเดินทางมาในกรุงเทพฯ ได้ เช่น ราชบุรี นครปฐม และบางบัวทอง ขณะที่นายทหารระดับสูงถูกจำคุกในเมืองหลวง
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตในนโยบายควบคุมเชลยศึก คือรัฐไทยมักเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า เนื่องจากข้อตกลงสงบศึกระหว่าง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ว่า ไทยต้องดูแลเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรให้ดีที่สุด โดยทำอย่างไรก็ได้ให้อีกฝ่ายรู้สึกพึงพอใจ ไม่เช่นนั้น ชาติตะวันตกจะไม่ยอมรับเงื่อนไขของทางการไทย
นั่นจึงทำให้เชลยศึกญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในสภาวะ ‘ตามมีตามเกิด’ โดยทางการไทยมอบเงินช่วยเหลือรายบุคคลให้เพียง 1 บาท 50 สตางค์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินน้อยมากในการใช้ชีวิต หากคำนวณว่า คนทั่วไปใช้จ่าย 50 สตางค์ต่อ 1 มื้อในเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ การคอร์รัปชันในกองทัพไทยยังเป็นอุปสรรคสำคัญของเชลยศึกญี่ปุ่น หลังมีการจัดหาพ่อค้าคนกลางที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทัพ ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีความโด่งดังในจังหวัดนครนายก เมื่อทหารญี่ปุ่นรายหนึ่งฟ้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรว่า พ่อค้าคนกลางไม่ส่งอาหารอย่างอื่นนอกจากปลาเค็ม ผัก และข้าว จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในต่อมา
“ปรากฏว่า กลุ่มที่กังวลกับสภาวะความเป็นอยู่ของเชลยศึกญี่ปุ่นมากที่สุด คือฝ่ายสัมพันธมิตร เขาต้องมาตรวจสอบว่า อาหารการกินเพียงพอ หรือคุณภาพดีหรือไม่” เทพอธิบาย ก่อนจะย้ำว่า บางพื้นที่คุณภาพอาหารแย่ลงอย่างชัดเจน จากบางค่ายที่เคยกินปลาน้ำเค็ม กลับกลายเป็นกินปลาน้ำจืดในพื้นที่ง่ายๆ หรือข้าวมีความชื้น คุณภาพแย่กว่าเดิม
ท้ายที่สุด รัฐไทยพยายามหาทางออกด้วยการให้เชลยศึกชาวญี่ปุ่นปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคเสียเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับชีวิตของนายทหารระดับสูงในกรุงเทพฯ โดยทางการพยายามประนีประนอมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ทำให้หลายคนกินอาหารดี ราคาแพง และมีคุณภาพมากมาย เช่น ไอศครีม ขนมปังขาว หรือเนย
เช่นเดียวกับกลุ่มเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรชาวดัตช์ แม้ทุกคนจะได้เบี้ยเลี้ยงรายวันเท่ากับทหารญี่ปุ่น คือ 1 บาท 50 สตางค์ แต่ปรากฏว่า พวกเขามีความเป็นอยู่ดีกว่า เพราะรัฐบาลไทยพยายามทำตามข้อตกลงสงบศึก
เทพยกตัวอย่างทิ้งท้ายว่า ทางการจะพยายามเรี่ยไรเงินหรือสิ่งของจากร้านค้า และนักธุรกิจ อย่างครั้งหนึ่งมีการขอบริจาคบุหรี่ 1 หมื่นมวนให้เชลยศึกชาวดัตช์ เนื่องจากรัฐไทยไม่สามารถจัดหาได้ทันเวลา ประกอบกับบาดแผลทางเศรษฐกิจจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
Tags: สงครามโลก, จักรวรรดิญี่ปุ่น, เชลยศึก, ทหารญี่ปุ่น, ฝ่ายสัมพันธมิตร, ฝ่ายอักษะ, ญี่ปุ่น, ทหาร, สงครามโลกครั้งที่ 2, ไทย, กองทัพไทย