เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 4 ร่าง รวมถึงร่างของ สมชัย ศรีสุทธิยากร และคณะ ที่ให้ยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผ่านการแก้ไขมาตรา 272 โดยแม้ ส.ส. ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลจะประสานเสียงให้ตัดอำนาจ ส.ว. แต่กลับกลายเป็นฝ่าย ส.ว.ที่มีเสียงไม่ถึง 1 ใน 3 ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างฯ ดังกล่าวตกไปทันที
หากพิจารณาเสียงทั้งหมดจะพบว่า มี ส.ว.เห็นด้วยกับประเด็น ‘ตัดอำนาจ’ เพียง 23 คน จากทั้งหมด 250 คน น่าสนใจว่าหนึ่งใน ส.ว.ที่เห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ คือ ‘แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์’ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
วันนี้ (9 กันยายน 2565) The Momentum สนทนากับเธอเพื่อขอรายละเอียดของเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้
คุณหญิงพรทิพย์เล่าถึงเจตนารมณ์ของการเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. ว่า ในช่วงแรก รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญกับแนวคิดการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน รวมทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ขึ้นชื่อเรื่องการปฏิรูป แต่ในความเป็นจริงเมื่อเข้าไปทำงาน ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“ในตอนแรกมองว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างจริงจัง แต่เมื่อเข้ามาก็มีข้ออ้างมากมาย หนึ่งในนั้นคือโควิด-19 อะไรที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ก็อ้างโควิด-19 ทั้งๆ ที่บางครั้งเรื่องที่จะปฏิรูปไม่ได้เกี่ยวกับโควิดเลย ในฐานะ ส.ว. ความรู้สึกตอนนี้คือไม่คาดหวังอะไรจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อีกแล้ว”
ในประเด็นเรื่องความรับผิดชอบ คุณหญิงพรทิพย์อธิบายว่า ในฐานะ ส.ว. มีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือติดตามการทำงานของ ส.ส. และติดตามเรื่องการปฏิรูป “แผนการปฏิรูปมีเยอะมาก ส่วนตัวสนใจแค่สองประเด็น ประเด็นแรกคือกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ แต่พอเข้าไปเดือนสองเดือนก็ต้องถอยออกทันที เพราะประธานและกรรมาธิการเป็นตำรวจเกือบทั้งหมด คือมันไปเน้นที่คำท้าย (กิจการตำรวจ) ไม่ได้เน้นที่คำว่ากระบวนการยุติธรรม”
ส่วนประเด็นที่ 2 คือกรรมาธิการทหาร ที่คุณหญิงพรทิพย์ยอมรับว่าไม่ได้สนใจเรื่องทหาร แต่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาก็มาจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่พอเข้าไปก็ผลักดันเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ จึงย้ายมาอยู่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน
“ในกรรมาธิการนี้ก็พอจะทำได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ภาพใหญ่เชิงระบบกลับไม่สำเร็จ เนื่องจากกลไกมันไม่เอื้อ โดยในกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน เราพยายามผลักดันเรื่องสิทธิที่จะรับรู้ถึงวิธีการรวบรวมพยานหลักฐานในแต่ละคดี ทำให้มันโปร่งใสมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถผลักดันภาพใหญ่ได้ ได้แค่ช่วยรายคดี”
คุณหญิงพรทิพย์อธิบายว่า มี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ภารกิจในการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของเธอไปไม่ถึงฝั่ง ซึ่งประกอบด้วย
1. ระบบการเมืองของประเทศไทยเป็นระบบที่นายกฯ ไม่สามารถจัดสรรคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงให้เข้าไปดูแลแต่ละกระทรวงได้ เนื่องจากแต่ละกระทรวงถูกแบ่งตามผลประโยชน์และอำนาจ โดยแบ่งเป็นกระทรวงเกรด A เกรด B และเกรด C ว่ากันว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากก็จะสามารถต่อรองกับรัฐบาลเพื่อเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงเกรดดีๆ ได้
“พรรคการเมืองบางพรรคก็จะบอกว่าไม่เอาหรอกกระทรวงยุติธรรม เพราะมันเป็นกระทรวงเกรด C ส่วนใหญ่ก็จะอยากได้กระทรวงที่มีอำนาจ มีผลประโยชน์ที่อาจได้รับมากกว่ากระทรวงอื่น”
2. ระบบราชการซึ่งควรจะต้องเป็นระบบที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลาและนำพาประชาชนให้สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ในความเป็นจริง บุคคลที่เข้าไปทำงานในระบบข้าราชการไม่ได้ต้องการทำงานในตำแหน่งนั้นจริงๆ เพียงแต่เข้าไปเพื่อหาลู่ทางในการเลื่อนตำแหน่งและเพิ่มเงินเดือน
“ข้าราชการเองก็ต้องคอยดูว่าผู้บริหารทางการเมืองจะไปทางไหน ถามว่าทำไมต้องคอยดู ก็เพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ในปัจจุบันมันเป็นระบบที่ทำให้ข้าราชการเข้ามาแล้วต่างก็มองหาลู่ทางไปต่อ ไม่ใช่ข้าราชการที่เข้ามาในตำแหน่งเพื่ออยากทำงานในตำแหน่งนั้นๆ อย่างแท้จริง”
ส่วนประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น คุณหญิงพรทิพย์ยอมรับว่าแม้จะผ่านมาหลายปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น
“แผนปฏิรูปที่รัฐบาลทำออกมา เป็นแผนที่ไม่สามารถนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปได้เลย จนมาถึงทุกวันนี้ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศออกมาประกาศว่าปฏิรูปประเทศสำเร็จแล้ว แต่ในประเด็นที่หมอกล่าวมาก็ไม่มีการส่งไม้ต่อให้ผู้รับผิดชอบหน่วยอื่นเลย”
คุณหญิงพรทิพย์อธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ไม่สามารถปฏิรูปได้ เพราะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจจำนวนมาก ในมุมของ ส.ส. กลุ่มคนเหล่านั้นมีอำนาจในการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เขาได้รับโอกาสดีๆ หรือช่วยให้เขาไม่ต้องรับผิดในบางเรื่องได้ ทั้งหมดทำให้ ส.ส.ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวและไม่กล้าปฏิรูปเรื่องนี้
“พูดตรงๆ นะคะ ปัญหาที่เจอเยอะมากในปัจจุบันคือเรื่องตำรวจ การปฏิรูปตำรวจยากมากที่สุด เพราะมีกลุ่มคนที่มีอำนาจเยอะ ทุกวันนี้เรามาได้แค่การปฏิรูปโครงสร้าง ไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากนับเป็นเปอร์เซ็นต์ ได้มาแล้ว 0 เปอร์เซ็นต์ค่ะ”
ในเมื่อไม่สามารถเข้าไปปฏิรูปในประเด็นที่เธอสนใจอย่างกระบวนการยุติธรรมได้ จึงเป็นที่มาของการยอมตัดอำนาจตัวเองและส่งไม้ต่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดูแลต่อเอง
“ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. เราก็เห็นด้วย เนื่องจากเหตุผลสำคัญของการที่รัฐธรรมนูญเปิดให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เพราะต้องการให้ประเทศไทยมีนายกฯ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศ ผ่านดุลพินิจของเหล่า ส.ว.
“แต่ขณะนี้ เราเห็นได้ชัดว่านายกฯ เข้ามาแล้ว อย่างไรเสียก็ไม่สามารถหลีกระบบการเมืองได้ ไม่สามารถทำตามคำสัญญาได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่โหวตตัดอำนาจวุฒิสมาชิก มันไม่มีประประโยชน์แล้ว”
คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ในอนาคตหากมีนายกฯ ให้เลือก 2 คน คนหนึ่งเหมาะสม อีกคนไม่เหมาะสม ก็ให้เป็นอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือก เพราะตามหลักการของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ ไม่เคยบัญญัติให้วุฒิสมาชิกเลือกนายกฯ เลย ดังนั้น ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม ในปัจจุบัน ส.ว. ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ แล้ว
คุณหญิงพรทิพย์ย้ำว่า เธอเข้ามาเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ในเมื่อวันนี้ทุกองคาพยพไม่สามารถเอื้อให้เกิดการปฏิรูปได้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่อำนาจของ ส.ว.จะต้องมีอยู่ และขอฝากให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ต่อไป
“ตอนแรกที่เข้ามา เราหวังว่าจะได้ใช้สมอง ใช้ความสามารถของเรา ซึ่งปรากฏว่ามันไม่ค่อยได้ใช้ค่ะ คือปัญหาของประเทศมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่รัฐบาลกลับกำหนดกรอบที่มันหยุดนิ่ง และไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับกลไกของรัฐบาลที่ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่กล่าวไป ทั้งหมดมันเป็นทั้งปัญหาเรื่องคนและเรื่องระบบ”
เมื่อถามว่าตลอดระยะเวลาการทำงานมีสิ่งใดที่เธอทำสำเร็จไปแล้วบ้าง คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่ามีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย และกฎหมายเรื่องการกำหนดระยะเวลาในขั้นตอนยุติธรรมที่ชัดเจน
“มันทำสำเร็จไม่กี่อย่าง แต่สิ่งที่หมอไม่อยากเห็นมากที่สุดคือ แพะในกระบวนการยุติธรรม ตอนนี้เราเห็นเพียงระบบในการเยียวยาแพะ ระบบนี้มันเป็นระบบที่คนมีเงินกับมีอำนาจจะวิ่งเต้นหาทางออก หาเส้นสายได้เพื่อไม่ต้องรับผิด”
แม้ว่าคุณหญิงพรทิพย์จะเป็น 1 ใน 23 ส.ว.ที่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจในการเลือกนายกฯ ของตัวเอง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็น ‘อำนาจพิเศษ’ ที่มีอยู่เพียงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าไม่อยากให้มองว่าอำนาจนั้นเป็นอำนาจพิเศษ
“อย่าไปฟังสื่อหรือคนที่บอกว่าพวกเรามีอำนาจพิเศษ ส.ว.ไม่มีอำนาจพิเศษอะไรเลย จริงๆ ส.ว.ไม่โหวตเลือกนายกฯ ก็ไม่มีปัญหา เสียงจาก ส.ส. ก็พอแล้ว ที่ผ่านมาบ้านเมืองถูกปั่นหัวให้สนใจอยู่กับแค่เสียงเลือกตั้งนายกฯ แต่จริงๆ ส.ว.ทำสิ่งดีๆ เยอะแยะ เช่น การลงพื้นที่ พวกเราทุกคนพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้มองเพียงว่าพวกเราเข้ามาเลือกนายกฯ แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย”
เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับความเห็นที่ว่า “คนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับอำนาจ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลับมีอำนาจในการเลือกนายกฯ เทียบเท่ากับ ส.ส. ที่มาจากเสียงประชาชน” คุณหญิงพรทิพย์ให้ความเห็นว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน
“ด้วยความที่เป็นคนที่เป็นตัวของตัวเอง เราทุกคนถูกอุปโลกน์ว่าระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ดีที่สุด ลองไปดูสิว่าระบอบประชาธิปไตยมาจากไหน มันมาจากตะวันตก ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าฝรั่งจะดีกว่าไทยเลยค่ะ ไม่ได้คิดว่าระบอบประชาธิปไตยคือพระเจ้า แต่เราคิดว่าทุกคนที่อยู่ในแผนดินไทยต่างหากที่ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ว่ากันว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงเส้นทางยุติธรรม เข้าถึงสิทธิ เข้าถึงทุกๆ อย่างได้ดีที่สุด แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ มันกลับเป็นระบบที่คนที่ได้เสียงส่วนมากคิดว่าอำนาจต้องอยู่ที่ฉัน พวกเขาไม่ได้เข้ามาเพื่อทำหน้าที่ แต่เข้ามาเพื่อมีอำนาจ
“ทั้งหมดก็เลยเป็นที่มาของความคิดที่ว่าจะโหวตนายกฯ หรือไม่โหวตนายกฯ ก็ได้ เพราะเราเข้ามาแค่ทำงาน”
ท้ายสุด เธอฝากความหวังของการพัฒนาและปฏิรูปประเทศให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจในการที่อาจพัฒนาประเทศได้ “ส.ส. มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญมากๆ มีอำนาจในการที่จะทำให้ประเทศพัฒนามากกว่า ส.ว. มหาศาล ขอเพียงอย่าใช้แต่คำพูดสร้างความเท่ ต้องลงมือทำ ลงมือเพื่อสร้างประเทศอย่างจริงจัง
“ส.ส.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งมีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการคิดวิเคราะห์ที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่เคารพ ใช้วาจาไม่ดี ใช้ความรุนแรงและเหมารวมไปหมด ตัวเขา (ส.ส.) ยังไม่เคยทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติเลย เพียงแค่ได้รับเสียงจากการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นอยากฝากให้รักษาศีล 5 มันเป็นสิ่งที่เราควรยึดเอาไว้ ยึดไว้ก็แล้วกันค่ะ”
ภาพ: a day BULLETIN
Tags: พรทิพย์ โรจนสุนันท์, ส.ว., มาตรา 272