พรุ่งนี้ (24 มกราคม 2567) เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ITV’ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังการเปิดประเด็นของ นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย ว่า พิธาถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเป็นจำนวน 4.2 หมื่นหุ้น จนนำมาสู่การฟ้องร้องว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่

ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมามีหลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นกับกรณีการถือหุ้น ITV ของพิธา ที่อาจซ้ำรอยกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด

The Momentum รวบรวมลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการถือหุ้น ITV ของพิธา ดังนี้

1. จุดเริ่มต้นมหากาพย์ หุ้นสื่อ ‘ITV’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต.ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น” ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า พิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

2. พิธาโอนหุ้นให้ทายาทคนอื่น พร้อมตั้งข้อสังเกตความพยายามปลุกผี ITV

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 พิธาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โอนหุ้นไปให้ทายาทผู้ที่ได้รับครองหุ้นคนอื่นแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตการเปลี่ยนประเภทธุรกิจของ ITV จากข้อมูลนำส่งงบระหว่าง 2561-2566 ว่าเป็นการพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลับมาเป็นธุรกิจสื่อหรือไม่

3. กกต.รับเรื่องพิจารณา

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 กกต.รับเรื่องไว้พิจารณาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 151 ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องระวางโทษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมายืนยันว่า พิธายื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 พร้อมแนบคำสั่งศาลว่าเป็นผู้จัดการมรดกหุ้น ITV จริง

4. ฐปณีย์เปิดหลักฐานการประชุม

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ข่าว 3 มิติ เปิดเผยคลิปเสียงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ITV ประจำปี 2566 โดยตอนหนึ่งของการประชุมมีผู้ถือหุ้นถามว่า “ITV มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งประธานการประชุมตอบกลับว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอคดีความสิ้นสุดก่อน” ข้อความดังกล่าวนั้นขัดแย้งกับบันทึกการประชุม

5. กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

12 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมของ กกต.มีความเห็นว่า พิธาพ้นสถานะความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงมีมติส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมทั้งมีคำร้องถึงศาลให้สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ของพิธาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

6. พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางการโหวตนายกฯ รอบ 2

ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตั้งแต่วันนี้จนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย วันดังกล่าวเป็นวันเดียวกับวันที่รัฐสภามีการประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 อีกด้วย

7. ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยาน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานรวม 3 ปาก ได้แก่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต., พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ภายหลังการไต่สวน พิธาเปิดเผยต่อสื่อว่า รู้สึกพอใจ เป็นไปตามที่หวังทุกประการ และหวังว่าจะได้กลับไปทำหน้าที่ ส.ส.เช่นเดิม

8. ก้าวไกลปล่อยคลิปพิธาไม่หลุด ส.ส.

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567 พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่วิดีโอผ่านสื่อสังคมออนไลน์แจงเหตุผลว่า ทำไมพิธาจะไม่ถูกตัดสิทธิหรือพ้นสมาชิกภาพ สส.โดยแจงเหตุผลทั้งหมด 6 ข้อดังนี้

1. ITV ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่

2. การออก พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ ก่อให้เกิด Thai PBS ส่งผลให้ ITV ต้องเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์

3. ประธานการประชุมสามัญ ITV เผยว่า ITV ไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อ และไม่มีแผนที่จะทำสื่อ

4. ITV ไม่มีหลักฐานจดแจ้งการพิมพ์

5. ITV ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วิดีทัศน์ และสื่อโฆษณา

6. ศาลปกครองสูงสุดเคยชี้ว่า ITV ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว

วันพรุ่งนี้ (24 มกราคม 2567) เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่พิธาถือหุ้นสื่อ ITV ว่ามีความผิดจริงหรือไม่ หากศาลพิจารณาว่าผิดก็ถือว่าพิธาได้สะดุดล้มแผลเก่าเฉกเช่นเดียวกับกรณีของธนาธรที่เคยมีคำวินิจฉัยศาลว่า ถือหุ้นสื่อวี-ลัคมีเดีย จนทำให้ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.ไปในท้ายที่สุด

Tags: , , , ,