วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ขึ้นอภิปรายในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กล่าวถึงปัญหาของการรัฐประหารในปี 2557 ว่าส่งผลให้คนไทยเสียโอกาสทางการเมืองไปมากแค่ไหนบ้าง

โดยพิธาระบุว่าวันนี้ถือเป็นการอภิปรายครั้งสำคัญ แม้จะไม่มีการลงมติ และจะเป็นกลไกครั้งสุดท้ายของรัฐสภาชุดนี้ แต่จะเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่ประชาชนได้ใช้ข้อมูลในการอภิปราย ในการพิจารณาและนำไปสู่การลงมติโดยประชาชนผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เพราะในการเลือกตั้งปี 2562 และช่วงเวลาก่อนการยึดอำนาจในปี 2557 ก็ไม่มีการอภิปรายเช่นนี้ จะมีก็แต่สัญญาปากเปล่า สัญญาเลื่อนลอย สัญญาว่าจะมาปกครองบ้านเมือง สัญญาว่าจะมาปฏิรูป สัญญาว่าจะมาแก้จน สัญญาว่าจะมารักษาความสงบ สัญญาว่าจะขอเวลาอีกไม่นาน แต่ในความเป็นจริงนับตั้งแต่ปี 2557-2566 จนถึงปัจจุบัน เกือบจะหนึ่งทศวรรษ สิ่งที่ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรม คือทศวรรษที่สูญหาย ทศวรรษที่สูญหายของงบประมาณ ทศวรรษที่สูญหายของเวลา และทศวรรษที่สูญหายของโอกาส” พิธากล่าว

ในทศวรรษที่สูญหายของงบประมาณ พิธากล่าว่าที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 28 ล้านล้านบาท ซึ่งหากตีเป็นราคาทอง คือการใช้ทองเป็นงบประมาณไปแล้วว่า 1,000 ล้านแท่ง ที่มีปริมาณมหาศาลจนสามารถนำมาปูเป็นพื้นถนนไป-กลับทั่วประเทศไทยได้ถึง 2 รอบ

แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจที่ประชาชนชาวไทยได้รับคือตัวเลขการเติบโต GDP ของประเทศไทย หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประมาณการโดย IMF ตกมาอยู่ในอันดับ 7 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และหากเทียบตัวเลขการฟื้นตัวของ GDP โดยใช้ฐานจากปี 2562 ก่อนที่จะมีโรคโควิด-19 ก็พบว่าประเทศไทยมีอัตราการฟื้นฟูในลำดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้น แม้จะมีวิกฤตโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีความถดถอยทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดจากการดำเนินงานของรัฐบาลชุดนี้

“พี่น้องทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันครับว่าเศรษฐกิจแบบนี้ แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย เลือกความสงบ จบที่ลำบากเป็นอย่างไร” พิธากล่าว

ในทศวรรษที่ผ่านมา พิธาเล่าว่า 3 สิ่งที่สูญหายไปกับเวลา คือการศึกษา คอร์รัปชัน และภัยแล้ง ในด้านการศึกษา ประเทศไทยมีอันดับการศึกษาโลกด้านภาษาอังกฤษซึ่งจัดโดยองค์กร Education First (EF) อยู่ในอันดับ 97 จาก 111 ประเทศ ส่วนการคอร์รัปชันประเทศไทยมีดัชนีการคอร์รัปชัน 36 จาก 100 คะแนนเพียงเท่านั้น สุดท้ายคือปัญหาภัยแล้ง โดยประเทศไทยมีภัยแล้งเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีมี 3 ครั้ง เป็น 10 ปีมี 6 ครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา และในส่วนของภาคกลางมีพื้นที่แล้งซ้ำซากเพิ่มจาก 4 ล้านไร่ เป็น 14 ล้านไร่

ที่สำคัญคือการปฏิรูปตำรวจ พิธามองว่าเป็นการสูญหายทางโอกาสในการปฏิรูปที่สำคัญที่สุด ภาพลักษณ์ของตำรวจตอนนี้ ประชาชนมีคำถามว่าจริงหรือไม่ที่ตำรวจมีส่วนกับทุนจีนสีเทา จริงหรือไม่ตำรวจตั้งด่านรีดไถนักท่องเที่ยวไต้หวัน แทนที่จะเป็นผู้พิทักษ์ราษฎรกลับเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายราษฎร รวมถึงระบบเส้นสาย-ตั๋ว ที่ทำให้ตำรวจมีปัญหาสุขภาพจิต

ส่วนการปฏิรูปกองทัพ ปัจจุบันรัฐบาลยังลอยตัว ประชาชนยังไม่ได้คำตอบว่าอะไรคือสาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่ทำให้ทหารชั้นผู้น้อยสูญเสียมากขนาดนั้น เท่าไรคือค่าใช้จ่ายที่กองทัพใช้ในการบินเครื่องบินรบ F-16 ที่เอาไปดูแลกิจกรรมในครอบครัวของอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ อะไรคือสาเหตุของการบริหารในกองทัพที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงโคราชและความรุนแรงต่อทหารชั้นผู้น้อย

ซึ่งในท้ายที่สุดพิธามองว่าพี่น้องประชาชนที่อยากเห็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งในครั้งหน้า สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศมีการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต ไม่ใช่การเมืองเดิม ปากท้องเดิม อนาคตแบบเดิม ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจที่ดีและมีอนาคตได้ หากการเมืองซึ่งถือเป็นกระดุมเม็ดแรกได้รับการติดอย่างถูกต้อง

“การเมืองกับปากท้องคือเหรียญสองด้าน การเมืองจะดีได้ต้องทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบ ต้องเอาทหารออกจากการเมือง และสิ่งที่สำคัญคือต้องหาฉันทมติใหม่ในความปกติใหม่ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน

“ในช่วงที่สังคมมีเรื่องอันน่ากระอักกระอ่วนใจ ท่านเลือกใช้ความรุนแรง แทนที่จะหาพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย การใช้มาตรา 112 ที่มีโทษรุนแรง 3-15 ปี ฟ้องโดยใครก็ไม่รู้ กับเยาวชนอายุเพียง 14 ปี และอีกหลายคน ไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย แต่เป็นทางตัน แบบนี้ความขัดแย้งจะไม่จบสิ้น ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ทศวรรษหน้าก็ยังเป็นทศวรรษที่สูญหายของประเทศไทย” พิธากล่าวในช่วงท้ายของการอภิปราย

Tags: ,