เรามักได้ยินคำว่าปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจควบคู่กับชื่อประเทศกำลังพัฒนา ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ อย่างปาฏิหาริย์เศรษฐกิจจีนที่จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products: GDP) เติบโตด้วยเลขสองหลักเป็นเวลาต่อเนื่องราวทศวรรษนับตั้งแต่การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจเมื่อ 40 ปีก่อน หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็เคยมีชื่อเสียงบนเวทีโลกในฐานะเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่กลับสะดุดหยุดลงหลังจากเจอวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540

ส่วนประเทศพัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ก็ได้แต่มองตาปริบๆ เพราะกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงลิ่วเหล่านี้ เพียงแต่จีดีพีเติบโต 1 – 2 เปอร์เซ็นต์ก็นับว่าน่าพึงพอใจ ไม่ต้องพูดถึงหลักสิบอย่างประเทศกำลังพัฒนา

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีสารพัดวิกฤตเศรษฐกิจที่พัดพาให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้วยังต้องระส่ำระสาย ทั้งการระเบิดของฟองสบู่ดอตคอม วิกฤตหนี้ซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา วิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรป และอีกสารพัดวิกฤตที่พาเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนอยู่ในโหมดซึมๆ เทาๆ

แต่มีหนึ่งประเทศในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งไม่หวั่นแม้ว่าโลกจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใด รุนแรงแค่ไหน ประเทศดังกล่าวสามารถเอาตัวรอดพร้อมตัวเลขผลประกอบการประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 28 ปี และยังมีแนวโน้มจะทำลายสถิติต่อไปเรื่อยๆ ประเทศนั้นก็คือออสเตรเลีย

ฮะ! ออสเตรเลียเนี่ยนะ?

ใช่ครับ ออสเตรเลีย ดินแดนจิงโจ้และหมีโคอาล่า แหล่งท่องเที่ยวและศึกษาต่อยอดฮิตของคนไทย แถมเวลาจะเข้าประเทศต้องมีหมาน่ารักๆ มาดมกระเป๋านั่นแหละครับ

ผู้เขียนขอพาไปทัวร์เบื้องหลังความสำเร็จของออสเตรเลีย ซึ่งเหล่าประเทศพัฒนาแล้วต่างขนานนามด้วยความอิจฉาตาร้อนว่า ‘ประเทศโชคดี (Lucky Country)’ ซึ่งเหล่าชาวออสซี่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า ‘โชค’ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจออสเตรเลียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

กราฟแสดงอัตราการเติบโตของจีดีพีแบบสะสม (เปอร์เซ็นต์) ของประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าออสเตรเลียเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตซับไพรม์ (ค.ศ. 2007 – 2010) ข้อมูลจากธนาคารโลก

อยู่ถูกที่ ถูกเวลา

สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจออสเตรเลียเติบโตอย่างแข็งแกร่งก็คือสถานที่ตั้ง สินแร่มหาศาลใต้ดิน และการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียที่ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการจากออสเตรเลียพุ่งกระฉูด

หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป ออสเตรเลียนับว่าอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งบังเอิญว่าในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมาเป็นภูมิภาคที่เติบโตอย่างพุ่งกระฉูดปรู๊ดปร๊าด โดยเฉพาะประเทศจีน

ก้าวแรกของการพัฒนาประเทศคือการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีหัวใจคือเหล็กกล้า และวัตถุดิบในการผลิตเหล็กกล้านั่นคือแร่เหล็ก และถ่านหิน ซึ่งมีเหลือเฟืออยู่ใต้ผืนดินร้อนแล้งในดินแดนจิงโจ้ แม้ปัจจุบันโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคจะแผ่วลง อีกทั้งความต้องการถ่านหินทั่วโลกจะลดลง แต่ใต้ดินของประเทศออสเตรเลียก็ยังมีขุมทรัพย์อย่างทอง ยูเรเนียม และลิเธียมเพื่อสนองความต้องการแบตเตอรีและชิปจากภาคเทคโนโลยี

 


ประเทศคู่ค้าและสินค้าที่มีปริมาณนำเข้าและส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของออสเตรเลีย ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2556 ภาพจาก
quora.com

นอกจากทรัพย์ใต้ดินแล้ว บนดินออสเตรเลียยังมีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เข้มแข็ง พร้อมส่งออกเนื้อสัตว์ให้กับชนชั้นกลางจากภูมิภาคเอเชียซึ่งบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นทุกวัน ยังไม่นับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นอกจากจิงโจ้และโคอาล่าซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก ออสเตรเลียเป็นปลายทางของเหล่าคนรักธรรมชาติ ทัศนียภาพแปลกตา รวมถึงการดำน้ำบริเวณแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก อุตสาหกรรมการศึกษาของออสเตรเลียเองก็รองรับนักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก โดยปัจจุบันนักศึกษามหาวิทยาลัยในออสเตรเลียราวร้อยละ 20 มาจากต่างประเทศ

สิ่งเหล่านี่คือ ‘โชค’ เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศที่อยู่ถูกที่และถูกเวลานั่นเอง

ตัดสินใจอย่างชาญฉลาด บริหารกระเป๋าสตางค์ภาครัฐอย่างระแวดระวัง

หากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นซีรีส์สักเรื่อง จุดไคลแมกซ์ที่ท้าทายความสามารถของเหล่าผู้กำหนดนโยบายคือคราววิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2540 หรือที่เรารู้จักกันดีว่าวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งลากเอาประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเกือบลงเหวไปตามๆ กัน

ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศออสเตรเลียเลือกที่จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้แม้ว่าค่าเงินในประเทศจะตกฮวบฮาบ แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ที่เลือกจะปกป้องค่าเงินโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ย สุดท้ายค่าเงินที่อ่อนปวกเปียกของออสเตรเลียก็ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดีเนื่องจากมีความได้เปรียบจากการแข่งขันในตลาดส่งออก ส่วนนิวซีแลนด์ที่ค่าเงินเข้มแข็งก็ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ นักการเมืองชาวออสซี่ยังให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งซึ่งประเทศอื่นอาจพูดอ้อมๆ แอ้มๆ นั่นคือดุลงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ที่ไม่ว่าพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาต่างก็ต้องพยายามทำให้ตัวเลขดังกล่าวเป็นบวกในภาวะเศรษฐกิจปกติ ส่วนในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นช่วงวิกฤตการณ์ ก็ต้องมีการตั้งเป้าหมายว่างบประมาณการใช้จ่ายของรัฐจะกลับมาเกินดุลได้ภายในกี่ปี

อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของออสเตรเลีย จะเห็นว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอัตราหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลเลือกใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ช่วงเศรษฐกิจดี รัฐบาลก็จะดำเนินนโยบายงบประมาณแบบเกินดุลเพื่อนำมาชำระหนี้ ภาพจาก CEICDATA.com

การจัดการงบประมาณภาครัฐ ก็เสมือนการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครัวเรือน หากขาดดุลนั่นก็หมายความว่าต้องควักสินทรัพย์ออกมาขาย หรือกู้หนี้ยืมสินให้กลายเป็นหนี้สาธารณะ แต่หากเกินดุล นั่นหมายถึงการเก็บออมเงินหรือชำระหนี้ที่ติดค้างอยู่นั่นเอง หากมีรางวัลบริหารงบประมาณรัฐอย่างระแวดระวังก็คงต้องมอบให้นักการเมืองชาวออสซี เพราะมีอัตราหนี้สินต่อจีดีพีเพียงราวร้อยละ 30 – 40 ส่วนประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มโออีซีดีอยู่ที่ราวร้อยละ 80 ถึง 120 ของจีดีพี ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นโยบายภาคการเงินไม่ค่อยน่าตื่นเต้น

อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในออสเตรเลียเปิดอิสระเมื่อราว 50 ปีก่อน เช่นเดียวกับนักการเงินหลายๆ ประเทศ เมื่อถูกปล่อยให้เป็นอิสระก็ได้เวลาหาความเสี่ยงเข้าตัวโดยใช้เงินฝากของประชาชน หลังจากเจ็บหนักเมื่อ พ.ศ. 2534 จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ เหล่านายแบงก์ก็ถอยกรูดเข้าบ้าน ปรับนโยบายเน้นการปล่อยกู้ภายในประเทศ โดยไม่ได้เปิดสำนักงานหรูหราอลังการตามศูนย์กลางทางการเงิน เช่น ลอนดอน ฮ่องกง หรือนิวยอร์ก

เมื่อคราววิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาพาหลายธนาคารขาดทุนหลายพันล้าน ธนาคารสัญชาติออสเตรเลียก็ไม่ประสบปัญหาเท่าไรนัก เพราะไม่ได้เข้าไปลงทุนในตราสารที่กำลังจะเน่าเท่ากับธนาคารจากสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน เงินฝากราวร้อยละ 80 ของชาวออสเตรเลียอยู่กับธนาคาร 4 เจ้าใหญ่ที่ภาครัฐห้ามไม่ให้ควบรวม นโยบายที่ค่อนข้างรัดกุมในแวดวงการเงินทำให้งานธนาคารในออสเตรเลียไม่ได้มีค่าตอบแทนหวือหวาเท่าที่ลอนดอนหรือฮ่องกง เพราะเน้นธุรกรรมที่ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นสักเท่าไร เช่น ปล่อยสินเชื่อบ้านภายในประเทศ แต่นี่อาจเป็นราคาที่ธนาคารออสเตรเลียต้องจ่ายเพื่อเอาตัวรอดจากโรคติดต่อทางการเงินเช่นคราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ต้องรอดูกันต่อไปว่าทั้ง 3 ปัจจัยจะทำให้ออสเตรเลียเข้าสู่ปีที่ 30 โดยไร้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หรือไม่ แม้ว่าปัจจุบัน ชาวออสซีก็เริ่มแสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้อาจไม่สดใสนัก แต่นี่อาจเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ออสเตรเลียฟันฝ่าทุกวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต นั่นคือความไม่ประมาทแกล้มการมองโลกในแง่ร้ายนิดๆ นั่นเอง

 

เอกสารประกอบการเขียน

Australia: The Miracle Economy

The Lucky Country

What the Rest of the World Can Learn From the Australian Economic Miracle

What explains Australia’s ‘economic miracle’ – 26 years of continuous growth?

Fact Box

  • ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่ได้มีแต่มุมที่เลวร้ายเสมอไป นักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์อย่างโจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) มองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็น 'สิ่งจำเป็น' เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในเศรษฐกิจให้ย้ายจากภาคส่วนที่อัตราการเติบโตต่ำ (เพราะธุรกิจดังกล่าวมักไม่รอดพ้นวิกฤต) ไปยังอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ตามวัฏจักรการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) ทฤษฎีที่เขาเป็นผู้นำเสนอ
Tags: , , , ,