หลังจากเหตุการณ์ร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) กับกรณีที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาสั่งจำคุก พิรงรอง รามสูต กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานมีความผิดอาญาตามมาตรา 157 ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการออกหนังสือเตือนบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ว่า แพลตฟอร์ม TrueID มีโฆษณาแทรกระหว่างการชมโทรทัศน์
แม้ในเวลาต่อมา พิรงรองได้รับการประกันตัว โดยวางทรัพย์ประกันจำนวน 1.2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ จึงทำให้สถานะการเป็นกรรมการ กสทช.ยังคงอยู่ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงเรียนสื่อหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่างออกมาสนับสนุนการทำงานของกรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของพิรงรองเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือการคุ้มครองผู้บริโภค
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2568) ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานเสวนา ‘พิรงรอง Effect’ ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้… โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.และผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand, ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมพูดคุย
สุภิญญากล่าวว่า จากเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความสนใจจากสังคมเป็นวงกว้าง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามกับธรรมาภิบาลของหน่วยงาน กสทช. ซึ่งมีวิกฤตนี้มาเป็นเวลานาน อีกทั้งกรณีที่เกิดขึ้นยังทำให้สังคมตั้งคำถามถึงอนาคตของสื่อสารมวลชน ที่บริการสตรีมมิงจะเข้ามาทดแทนโทรทัศน์ ตลอดจนกิจการโทรคมนาคมที่เหลือน้อยรายในปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภค เปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุ
สุภิญญากล่าวต่อถึงกรณีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) หรือ กสทช.กับผู้ถูกกำกับดูแล เมื่อมีข้อร้องเรียนเข้ามาถึง กสทช.ก็จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการที่จะต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภค เพราะปัจจุบันมีประกาศบังคับใช้กฎ Must Carry เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งการออกจดหมายเวียนนั้นสามารถทำได้ เพราะไม่ได้มีผลตามปกครอง หากเอกชนเห็นว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากการออกจดหมายเวียน ก็สามารถยื่นอุทธรณ์กับคณะกรรมการ กสทช. หรือสามารถฟ้องศาลปกครองว่า จดหมายดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งสุภิญญามองว่า เป็นแนวทางที่ควรจะเป็นมากกว่ากรณีที่เกิดขึ้น
“ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่เคยทำมาตลอดในหน่วยงานราชการที่มีอำนาจกำกับดูแล ความขัดแย้งกับเอกชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กระบวนการออกจากปัญหาที่ Win-Win ทุกฝ่าย เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค มันมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายที่ควรจะเป็น” อดีต กสทช.กล่าว
ด้านณรงค์เดชระบุว่า ณ ปัจจุบันข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าวมีอยู่อย่างจำกัด ต้องรอคำพิพากษาฉบับเต็มออกมา อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนั้นมีความแปลกคือ จำเลยในคดีเป็น กสทช.โดยตรง ไม่ใช่ผู้ลงนามในจดหมายหรือผู้สั่งการ ซึ่งควรจะเป็นจำเลยบุคคลที่ 1 และ 2 ในคดีความ
“กรณีนี้เป็นความแปลกอย่างหนึ่งว่า มาฟ้อง กสทช.เลย และคนที่ออกจดหมายไปถึงผู้ประกอบการ คนที่เป็นต้นเหตุแห่งการฟ้องร้อง ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” อาจารย์นิติศาสตร์ให้ข้อสังเกต
นอกจากนั้นณรงค์เดชยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลไม่กล้าที่จะปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น เพราะเห็นว่ามีการดำเนินคดีทางกฎหมาย
“เจ้าหน้าที่ก็จะกลัว อันนี้เป็นผลที่จะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ต้องย้ำว่าสิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่กรณีนี้มันจะเพิ่มคำขู่ว่า เห็นหรือไม่ พิรงรองที่เป็นกรรมการ กสทช.ยังโดนเลย”
ขณะเดียวกันเรื่องที่เกิดขึ้น ณรงค์เดชมองว่า สะท้อนถึงกลไกการทำงานของสำนักงาน กสทช.ที่มีปัญหาตั้งแต่การยืนยันข้อเท็จจริงว่า ใครสั่งการให้ส่งจดหมายเตือน หรือ ‘การหลุด’ ของข้อมูลที่ประชุม ตลอดจนอำนาจการทำงานของคณะกรรมการว่า มีอำนาจจริงหรือไม่ เพราะอิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
“มาตรา 157 โดยเนื้อหาแล้วถ้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด มันต้องจงใจกลั่นแกล้ง ตามข่าว การออกจดหมายเตือนเป็นวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเข้าองค์ประกอบเจตนาพิเศษกลั่นแกล้งหรือไม่ เพราะมันมีประโยชน์คุ้มครองผู้บริโภคเสพสื่อด้วย” อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ให้ความเห็น
ขณะที่ระวีให้ความเห็นว่า กฎหมายปัจจุบันของไทยที่ใช้กำกับดูแลของ กสทช.ยังเป็นกฎหมายที่พูดถึงเพียง IPTV (Internet Protocol Television) เท่านั้น ยังไม่ได้มีการออกกฎหมายเฉพาะกับ OTT (Over-the-top) อย่างไรก็ตามย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว กสทช.มีแผนแม่บทเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติฉบับที่ 2 และตั้งคณะศึกษาการกำกับดูแล OTT โดยร่างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 แต่ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการ กสทช.มาจนถึงวันนี้ นั่นจึงเป็นผลให้เกิด ‘ช่องว่าง’ ในการกำกับดูแลกิจการ OTT ที่ทาง TrueID จดทะเบียนไว้ได้
นอกจากนั้นระวียังฉายให้เห็นภาพว่า หากไม่มีการกำกับดูแลกิจการ OTT จะส่งผลให้เกิดการทำลายทีวีดิจิทัลที่กำลังจะต่อสัญญาในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะคาดว่า การพูดคุยเรื่องการต่อสัญญาทีวีดิจิทัลจะเกิดขึ้นในปี 2570 สวนทางกับบริการ OTT ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
อีกทั้งเหตุผลด้านราคาค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม OTT ที่มีราคาถูกกว่า จึงเกิดการโอนย้ายเม็ดเงินโฆษณามากขึ้น ย่อมส่งผลให้แรงงานย้ายมาสู่การแข่งขันในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่มีการกำกับดูแลมากขึ้นจนเป็นสนามการแข่งขันที่ดุเดือด (Red Ocean)
ทั้งนี้สุภิญญาได้ให้ความเห็นถึงกรณีที่กฎหมายควบคุม OTT มีความล่าช้า เป็นเพราะสถานการณ์ของ กสทช.ชุดก่อนหน้าได้ใช้ท่าทีที่ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร สังคมจึงเกิดความสงสัยว่า จะมีการควบคุมอินเทอร์เน็ตหรือไม่ จนทำให้การผลักดันการกำกับดูแล OTT ชะงักไป
“ตอนนี้เวลาผ่านมาแล้วกว่าทศวรรษ ที่คนรู้สึกว่าเรากำลังสูญเสียอธิปไตยในเรื่องการสื่อสารหรือเศรษฐกิจออนไลน์ เพราะเม็ดเงินและรายได้ไหลไปสู่กิจการสตรีมมิงหมดเลย เพราะฉะนั้นการกำกับดูแลที่เริ่มต้นเมื่อปี 2565-2566 ควรจะเป็นรูปเป็นผลได้แล้ว เพราะในอนาคตจะกระทบต่ออุตสาหกรรมในไทยหนักมาก” สุภิญญากล่าวถึงความกังวล
อย่างไรก็ตามในประเด็นการกำกับดูแล OTT อดีต กสทช.ระบุว่า ต้องวางอยู่บนหลักของการให้เสรีภาพการสื่อสารในโลกออนไลน์ และเปิดการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมสื่อ รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องเร่งกำกับดูแล
Tags: ซีพี, TRUE, CP, ทรู, TrueID, พิรงรอง, ทรูไอดี