ในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียดและความเร่งรีบ ทำให้หลายครั้งเราอาจจะมองข้ามการเอาใจใส่เพื่อนร่วมงานภายในทีมไปบ้าง ทั้งๆ ที่คำชื่นชมเล็กน้อยที่เพื่อนร่วมงานของเราทำได้ดีนั้น อาจจะทำให้เพื่อนของเราทำงานได้ดีขึ้นมากกว่าที่คิด และปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ถูกพิสูจน์แล้วด้วยนักจิตวิทยา เฮนรี เอ. ลันส์แบร์เกอร์ (Henry A. Landsberger) ผ่านทฤษฎีที่เขาคิดค้นขึ้นที่เรียกว่า ‘The Hawthorne Effect’

 

ในช่วงปี 1920-1930 ลันส์แบร์เกอร์ได้ทำการทดลองกับพนักงานของบริษัท Western’s Electronic Hawthorne ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับด้านพลังงานไฟฟ้า แรกเริ่มเขาออกแบบการทดลองให้พนักงานทำงานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มแสงไฟในที่ทำงาน เพิ่มระยะเวลาพักเบรก หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนเวลาในการทำงาน เพื่อต้องการจะทราบว่าเงื่อนไขในการทำงานแบบใดจะทำให้พนักงานสามารถทำงานได้ดีที่สุด

 

จากการทดลองพบว่า พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นจริงๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในทุกเงื่อนไข แต่เมื่อการทดลองจบลง และได้หันมาใช้สภาพแวดล้อมการทำงานในรูปแบบเดิม กลับทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงเหมือนก่อนจะเริ่มการทดลอง

 

ลันส์แบร์เกอร์จึงได้ค้นพบว่า สิ่งที่ทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หรือเงื่อนไขในการทำงานแต่อย่างใด แต่เป็น ‘ความสนใจ’ ของหัวหน้างานต่อพวกเขาต่างหากที่ทำให้เขาเชื่อว่า ‘เขาเป็นคนสำคัญ’ ที่หัวหน้างานยอมให้พวกเขาพักเบรกมากขึ้น หรือเพิ่มแสงสว่างในที่ทำงานมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาตั้งใจทำงานหนักมากกว่าเดิม เขาจึงได้ตั้งชื่อให้กับทฤษฎีดังกล่าวตามชื่อของบริษัทที่เขาได้ทำการทดลองด้วยว่า The Hawthorne Effect

 

ดังนั้นสิ่งที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไปอย่างเช่นการเอาใจใส่ดูแลคนภายในทีม อาจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่าที่เราคาดคิดไว้ อย่างการชมเชยเล็กๆ น้อยๆ, การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการร่วมแสดงความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานเชื่อว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘เฟือง’ ตัวหนึ่งของบริษัท แต่เป็น ‘คนสำคัญ’ ของบริษัทจริงๆ

 

ที่มา:

https://www.verywellmind.com/what-is-the-hawthorne-effect-2795234 

https://th.sainte-anastasie.org/articles/psicologa-social-y-relaciones-personales/qu-es-el-efecto-hawthorne.html 

 

ภาพ: Getty Image

Tags: , ,