วันนี้ (3 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการแถลงรายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นำโดย นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยประเด็นในการแถลงประกอบไปด้วย การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

ภูมิธรรมในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แถลงเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้ว่า คณะกรรมการมีรายชื่อทั้งหมด 35 คน สมาชิกคนอื่นๆ เช่น ชูศักดิ์ ศิรินิล และกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นรองประธานคณะกรรมการ และนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะกรรมการ

ทั้งนี้ สัดส่วนของคณะกรรมการประกอบไปด้วย ตัวแทนพรรคฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และนักกฎหมาย โดยที่สัดส่วนของ ‘พรรคก้าวไกล’ ในฐานะพรรคฝ่ายค้านมีทั้งหมด 1 ที่ ก่อนหน้านี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าว โดยจะขอถามรัฐบาลให้ชัดเจนก่อนว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสัดส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่

สื่อมวลชนถามรองนายกรัฐมนตรีว่า จะมีกลุ่มไอลอว์ (iLaw) หรือกลุ่มประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นของ สสร.ว่าต้องมาจากการเลือกทั้งหมด เข้าร่วมด้วยหรือไม่ ภูมิธรรมตอบว่า ไอลอว์อยู่ในกลุ่มที่จะเชิญมาร่วมอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ ไอลอว์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่อยากเข้ามาเป็นตัวแทน ส่วนตัวก็ไม่ขัดข้อง เพราะอย่างไรก็ตาม หากมีการเชิญภาคประชาชนก็จะชวนไอลอว์เข้าร่วมอยู่แล้ว

“ยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่า นอกจากจะทำให้ครบ 4 ปีแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องทำให้ผ่าน เพื่อไม่ให้เสียหาย โดยต้องให้แต่ละฝ่ายที่ต่างกันหาจุดร่วมกันได้ ผมคิดว่าประชาธิปไตยเป็น ‘พัฒนาการ’ พอเริ่มดีขึ้นก็จะสามารถพัฒนาไปได้กว้างขวางมากขึ้น และจะปรับแก้ไขได้อีกครั้งหนึ่ง” ภูมิธรรมกล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า จะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2566 นี้

ส่วนประเด็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเรียบร้อย โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งเก้าอี้เป็นประธานคณะกรรมการ และมี ภูมิธรรม เวชยชัย, ปานปรีย์ พหิทธานุกร และอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองประธานคณะกรรมการ

จุลพันธ์เผยว่า จากรายชื่อข้างต้นถือเป็นองค์ประกอบที่ ‘ครบองคาพยพ’ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดย่อยในการทำงานเชิงรุกแยก เพื่อทำงานรวบรวมข้อมูลและนำประเด็นไปเสนอกับคณะกรรมการชุดใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อนโยบายเริ่มแล้วจะมีการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไร้การทุจริต โดยจะนัดหมายการประชุมครั้งแรกสัปดาห์นี้

สำหรับข้อกังวลใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเบื้องต้นแล้วว่า การดำเนินงานไม่ขัดกับกฎหมายใดๆ รวมถึงจะใช้บล็อกเชน (Blockchain) เป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน เพราะปลอดภัยและตรวจสอบได้

จุลพันธ์ย้ำว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะกลายมาเป็น ‘กระเป๋าเงินใหม่’ ให้พี่น้องประชาชน เพื่อเปิดช่องทางค้าขายใหม่ในยุคดิจิทัล พร้อมกล่าวว่า คณะกรรมการมองการณ์ไกลว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็น ‘Super App’ ที่รวมความสะดวกทุกอย่างไว้ในแอปพลิเคชันเดียว เช่น การทำธุรกรรมการเงิน ใบขับขี่ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ รายละเอียดที่เหลือจากนี้ขอให้อดใจรอ เพราะหลังการประชุมนัดแรกจะได้รายละเอียดเพิ่มเติม

Tags: , , , ,