วันนี้ (24 มีนาคม 2568) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน อภิปรายตอนหนึ่งในประเด็นการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สะท้อนให้เห็นว่า แพทองธารในฐานะนายกฯ ขาดความรู้ ความสามารถ ตลอดจนขาดความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ภัทรพงษ์ยังอภิปรายด้วยว่า ในเวทีแถลงผลงาน 90 วันของแพทองธาร ได้นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง ปัญหาฝุ่นในเดือนธันวาคม 2567 มาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีความรุนแรงมากขึ้น
อีกทั้งข้อสั่งการของนายกฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ออก 3 ข้อสั่งการคือ ห้ามรับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา การตรวจจับควันดำจากรถยนต์ และการควบคุมมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม แต่กลับพลาดโอกาสที่จะออกมาตรการบังคับข้าวโพดเผา ตลอดจนหลักเกณฑ์การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของผู้ประกอบการที่นำเข้า และมาตรการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยแบบไม่เผา เพื่อให้พวกเขาสามารถเตรียมการด้านต้นทุนล่วงหน้าได้
ภัทรพงษ์อภิปรายต่อว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศิจกายน 2567 มีมติ ครม.สั่งการให้มีการอบรมท้องถิ่นดับไฟป่า แต่มาถึงวันนี้รัฐบาลกลับอบรมได้เพียง 60 แห่งจากท้องถิ่นทั้งหมด 2,000 แห่ง อีกทั้งยังออกคำสั่งให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ซึ่งเป็นเทคนิคในการลดความรุนแรงของไฟป่า แต่ 1 เดือนถัดมากลับมีคำสั่งจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ใช้อำนาจกองบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติสั่งห้ามเผาทุกกรณี ทั้งที่มติ ครม.ระบุไว้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นหน้าที่กลไกของคณะกรรมการจัดการมลพิษทางอากาศ ไม่ใช่กลไกของกระทรวงมหาดไทย
“ความเป็นผู้นำอยู่ตรงไหน รัฐมนตรีไม่เห็นหัวตระกูลชินวัตรเลย” สส.พรรคประชาชนถาม
ภัทรพงษ์ระบุเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายกฯ สั่งการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ป้องกันฝุ่น PM2.5 แต่กลับไม่ให้อำนาจ กทม.ในการจับรถควันดำได้ 100% มาตรการที่ออกมาจึงมีเพียงการประกาศ Low Emission Zone และมาตรการรถไฟฟ้าฟรี โดยใช้งบกลางเท่านั้น
นอกจากนั้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลอดภาษี ที่ปรากฏว่าไม่มีการระบุเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม เงื่อนไขเรื่องการเผา รวมทั้งเงื่อนไขการระบุพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำสั่งของนายกฯ แต่อย่างใด
“ผมว่าคนทั้งประเทศไทยรู้อยู่แล้วว่า คุณแพทองธารไม่มีความรู้ ความสามารถ ไม่มีความเป็นผู้นำพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ช่วยเสแสร้งแกล้งทำเป็นจริงใจกับการแก้ไขปัญหาหน่อย เพราะสั่งการลอยๆ ไม่มีเนื้อหาแบบนี้ มันทำให้รัฐมนตรีไม่เห็นค่า หน่วยงานไม่เห็นหัว สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน”
ขณะที่การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ภัทรพงษ์กล่าวว่า การเจรจากับต่างประเทศไม่มีประเทศใดสนใจเรื่องฝุ่นที่เข้ามาในประเทศไทย แม้นายกฯ บอกว่า เป็นวาระของประเทศ โดยเวทีเจรจา ASEAN Summit ที่ประเทศลาว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ไม่มีเรื่องฝุ่นในปฏิญญาแม้แต่ฉบับเดียว
อีกกรณีที่ สส.พรรคประชาชนออกมาชี้ให้เห็นคือ แพทองธารขาดความเป็นผู้นำในการสั่งการ กับกรณีที่แพทองธารสั่งการให้กองทัพป้องกันฝุ่น PM2.5 แต่เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทัพกลับมีการซ้อมรบกระสุนจริงในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ในจังหวัดพะเยา จนทำให้เกิดไฟป่าตามมาภายหลัง แม้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น รวมทั้งไฟป่าที่จะเกิดขึ้นเป็นกองไฟอีกแห่งไม่ใช่มาจากกระสุนของกองทัพที่ตก
ภัทรพงษ์ยกข้อมูลจากดาวเทียมของ NASA และดาวเทียม Sentinel-2 ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า จุดความร้อนของไฟป่ามาจากกองไฟเดียวกันที่มาจากกระสุนตกและขยายตัวออกไป
“ชัดเจนพอหรือยัง ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณแพทองธารถึงปล่อยให้เกิดไฟป่าจากฝุ่นพิษจากการซ้อมรบของกองทัพ ลืมไปแล้วหรือว่า ตัวเองสั่งการให้กองทัพไปป้องกันไฟป่า PM2.5 แต่กองทัพเขาฟังคุณหรือไม่
“เรื่องง่ายๆ แค่นี้ยังกลัว ยังเกรงใจกองทัพ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปพูดเรื่องปฏิรูปกองทัพ ไม่ต้องไปพูดเรื่องเอาทหารไปอยู่ใต้ประชาชน แค่สั่งไม่ให้เกิดไฟป่า กองทัพยังไม่ฟังเลย ยังไม่เห็นหัวแพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป”
ภัทรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือความวิบัติของประเทศที่มีผู้นำคือแพทองธาร ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และไม่มีความเป็นผู้นำพอที่จะรับมือฝุ่นพิษ PM2.5 แต่อย่างใด
Tags: พรรคประชาชน, ดีลแลกประเทศ, ภัทรพงษ์, นายกรัฐมนตรี, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, ฝุ่น, ประชุมสภา, แพทองธาร, แพทองธาร ชินวัตร, PM25