ทันทีที่ภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ภาคแรก ออกฉายในปี 1993 ประเด็นการ ‘โคลนนิ่งสัตว์’ ได้ถูกตั้งคำถามว่า มนุษย์จะสามารถแหกกฎเหนือธรรมชาติได้จริงหรือไม่ กระทั่งต่อมาในปี 1996 คำถามก็ถูกไขกระจ่าง เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันรอสลิน มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ PPL Therapeutics ออกแถลงการณ์ถึงความสำเร็จในการโคลนนิ่ง ‘ดอลลี’ แกะเพศเมีย ด้วยวิธีถ่ายฝากนิวเคลียส (Nuclear Transfer)
ปัจจุบันแนวคิดวิธีการโคลนนิ่งสัตว์ยังคงถูกส่งต่อและได้รับความนิยมมากขึ้น แต่เปลี่ยนจุดประสงค์จากการโคลนนิ่งสัตว์ประเภทที่อยู่ในอุตสาหกรรมฟาร์มปศุสัตว์ เช่น วัว แพะ หรือแกะ มาเป็นสัตว์เลี้ยงเฝ้าบ้านจำพวกสุนัขและแมวแทน โดยมีบริษัทเอกชนคอยชุบชีวิตสนองความต้องการบรรดาผู้เลี้ยงที่ใจสลายจากการตายของพวกมัน
จอห์น เมนโดลา (John Mendola) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจวัย 52 ปี ที่ต้องสูญเสียเจ้าพริ้นเซส สุนัขสายพันธ์ชิห์แอปโซ (Shih Apso) ที่ป่วยตายด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2017 แต่ก่อนที่เจ้าพริ้นเซสจะตายด้วยเวลาชีวิตที่เหลืออีกเพียง 1 ปี ตามคำวินิจฉัยของสัตว์แพทย์ จอห์นได้ตัดสินใจโทรศัพท์ติดต่อหา Viagen Pets and Equine บริษัทเอกชนเจ้าเดียวในสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการโคลนนิ่งสัตว์ และต่อยอดนำมาทำเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ เพราะเขาเคยดูสารคดีเรื่องหนึ่ง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการโคลนนิ่งสุนัข ในประเทศเกาหลีใต้ จนสำเร็จเป็นแห่งแรกของทวีปเอเชียเมื่อปี 2015
จอห์นเล่าย้อนความถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างตนกับพริ้นเซสในปี 2006 ที่สถานีตำรวจในเมืองลองไอส์แลนด์ แม้พริ้นเซสจะเป็นหมาจรจัดเนื้อตัวมอมแมม ขนรุงรังสกปรก แต่กลับมีท่าทางน่ารักและดูเป็นมิตรอย่างมาก ถึงขั้นเขาตกหลุมรักทันที
“สุนัขตัวนั้น (พริ้นเซส) ขนพันกันเป็นสังกะตังจนผมไม่สามารถแปรงขนให้ได้ ฟันในปากมันดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ภายนอกมันกลับแสดงอากัปกิริยาออกมาได้น่ารักเหลือเกิน มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของผม”
หลังจากบริษัท Viagen รับเรื่องโคลนนิ่งเจ้าพริ้นเซส ก็ได้ทำการเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนก่อนที่มันจะตาย และนำเซลล์นิวเคลียสนั้นฉีดใส่ในไข่ของสุนัขที่บริจาค ตามด้วยนำไปเพาะให้เติบโตเป็นตัวอ่อนในห้องแล็บ ตามวิธี Genetic Material DNA ก่อนจะนำตัวอ่อนไปฝากครรภ์ไว้ในมดลูกตัวแม่พันธุ์สุนัขอุ้มบุญ จนประสบผลสำเร็จสามารถโคลนนิ่งพริ้นเซสออกมาจำนวน 2 ตัว โดยมีลักษณะเหมือนเดิมทุกประการตั้งแต่เส้นขน หน้าตา ลายบนตัว และลักษณะท่าทาง ทั้งนี้ จอห์นตั้งชื่อพวกมันว่า พริ้นเซส แอเรียล และพริ้นเซส จัสมิน ตามชื่อตัวการ์ตูนเจ้าหญิงของแฟรนไชส์วอลต์ ดิสนีย์
สำหรับค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัท Viagen โคลนนิ่งสุนัขครั้งนี้ คือ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ตัว (1.6 ล้านบาท) เรียกได้ว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเกินตัวคนธรรมดาอยู่มาก ถึงกระนั้นด้วยความรักคงไม่มีใครสามารถหยุดยั้งความต้องการนี้ได้
ทางด้าน ดร.เพนนี ฮอว์กินส์ (Penny Hawkins) ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์จาก Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animal กลับมองเทคโนโลยีการโคลนนิ่ง โดยเฉพาะวิธีฝากครรภ์ เป็นเรื่องน่าวิตกกังวล เสมือนเป็นการฝืนธรรมชาติ ลดทอนคุณค่าชีวิตของสัตว์ และผิดต่อหลักจริยธรรมที่สุนัขแม่พันธุ์ต้องถูกบังคับอุ้มบุญซ้ำๆ อีกทั้งความเป็นจริงต่อวิธีที่ว่า สัตว์โคลนนิ่งมีนิสัยคล้ายกับตัวต้นแบบ กลับมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูเบื้องต้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เธอจึงแนะนำผู้เลี้ยงว่าควรตัดใจและมองหาสัตว์เลี้ยงจากศูนย์ช่วยเหลือมาอุปการะเพื่อเป็นการช่วยเหลือพวกมันไปในตัว
อย่างไรก็ดี เบล็ก รัสเซลล์ (Blake Russell) ซีอีโอของบริษัท Viagen ได้ออกมาตอบโต้ และยืนยันว่าบริษัทมุ่งมั่นที่จะดูแลสุขภาพของสัตว์โคลนนิ่งทุกตัว ไม่ว่าจะสุนัขหรือแมว ตามกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ประเทศสหรัฐฯ ทั้งยังชูความสำเร็จของวิธีโคลนนิ่งว่าสามารถทำได้ห่างกันนานเป็นศตวรรษ เพียงเก็บเซลล์นิวเคลียสไว้ในอุณหภูมิเยือกแข็ง
ปัจจุบันนอกจากรับโคลนนิ่งสุนัข บริษัท Viagen ยังรับโคลนนิ่งแมวในราคาตัวละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1 ล้านบาท) และม้าในราคาตัวละ 85,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2.8 ล้านบาท) ส่วนเรื่องของจริยธรรมหรือกฎหมายคุ้มครองสัตว์เกี่ยวกับการโคลนนิ่ง อนาคตคงจะต้องมีการทบทวนกันใหม่ หากยังมีการใช้วิธีคล้ายกับกรณีของจอห์นและพริ้นเซส เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกครหาว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ หรือแม้แต่การฝืนธรรมชาติ เพราะหากมองถึงภาพรวม การที่เทคโนโลยีโคลนนิ่งถูกนำมาใช้อยู่เรื่อยๆ ต้นเหตุล้วนมาจากความรักของเจ้าของที่มีต่อสัตว์เลี้ยงแสนรักนั่นเอง
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/business-60924936
https://nypost.com/…/i-traded-in-my-car-and-paid-40k…/
https://www.washingtonpost.com/…/5a8e8ca2-a269-11e9…
Tags: Business, สัตว์เลี้ยง, โคลนนิ่ง