เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2023 ศาลสูงในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ประกาศยกเลิกการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 124 (A) หรือ ‘กฎหมายยุยงปลุกปั่น’ (Sedition Law) โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอย่างการละเมิดเสรีภาพของประชาชน เช่น เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) และเสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) โดยคำตัดสินของศาลจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เว้นแต่ศาลสูงสุดจะกลับคำตัดสินของศาลเมืองลาฮอร์เป็นอื่น

กฎหมายยุยงปลุกปั่นคืออะไร?

กฎหมายยุยงปลุกปั่นเกิดขึ้นเพื่อปราบปรามและลงโทษกลุ่มชนพื้นเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าอาณานิคม ซึ่งอยู่ในบริบทยุคอาณานิคมของอังกฤษภายใต้การครอบครองอินเดียและปากีสถาน เนื้อหาของกฎหมายมีใจความสำคัญว่า “หากใครพยายามสร้างความเกลียดชัง ดูหมิ่น หรือปลุกระดมความไม่พอใจต่อทั้งรัฐบาลกลางและส่วนภูมิภาค ไม่ว่าด้วยคำพูด การเขียน หรือการแสดงออกโดยสัญลักษณ์ ทั้งเห็นได้อย่างชัดเจน หรือวิธีการอื่นๆ จะต้องถูกจำคุกด้วยโทษ 3 ปี รวมถึงมีค่าปรับ ไปจนถึงโทษรุนแรงอย่างการจำคุกตลอดชีวิต

อะไรเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การยกเลิกมาตรา 124

การยกเลิกมาตรา 124 เริ่มต้นจากการยื่นคำร้องของประชาชนต่อศาลให้พิจารณาถึงการคงอยู่ของกฎหมาย โดยผู้ยื่นฟ้องบางส่วนให้เหตุผลว่า “มาตรา 124 แห่งรัฐธรรมนูญปากีสถานละเมิดมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐาน และมาตรา 9 ความมั่นคงของมนุษย์ในด้านสิทธิและเสรีภาพ” หลังจากกฎหมายยุยงปลุกปั่นกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล อีกทั้งยังละเมิดเสรีภาพหลายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งปากีสถาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม เมื่อประชาชน นักการเมือง และสื่อมวลชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น จาเว็ด ฮัชมี (Javed Hashmi) นักการเมืองจากพรรค Pakistan Muslim League ถูกจำคุกเป็นเวลา 23 ปี ในข้อหายุยงปลุกปั่น หรืออดีตนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน (Imran Khan) ต้องเผชิญข้อหานับ 100 คดี เนื่องจากเขาจัดการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งจากรัฐบาล

อดีตนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ภาพ: Reuters

กระบวนการพิจารณายกเลิกกฎหมายตัดสินโดยผู้พิพากษาสูงสุด ชาริด คาริม (Sharid Kharim) ซึ่งประกาศให้มาตรา 124 แห่งรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงในด้านสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามมาตราที่ 9 (ความมั่นคงของมนุษย์ด้านสิทธิและเสรีภาพ), 14 (การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์), 15 (เสรีภาพในการแสดงออก), 16 (เสรีภาพในการชุมนุม), 17 (เสรีภาพในการสมาคม), 19 (เสรีภาพในการพูด) และ 19A (สิทธิในการรับข้อมูล)

นักเคลื่อนไหวชาวปากีสถาน โอซามา คิลจิ (Usama Khilji) ให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์นี้กับอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า “การยกเลิกกฎหมายนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยไม่มีผลกระทบ… กฎหมายฉบับนี้ปิดปากสื่อมวลชน นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และทนายสิทธิมนุษยชนมากพอแล้ว”

ย้อนดูการเมืองภายในปากีสถาน: เมื่อความรุนแรงทางการเมืองทำให้เกิด ‘ปรากฏการณ์สมองไหล’

นอกจากการเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 124 เรื่องราวทางการเมืองของปากีสถานยังเต็มไปด้วยความวุ่นวายและรุนแรงที่สุดในสายตาของผู้คน ไม่เพียงแต่การเมืองในสภาอย่างวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ เมื่อนายกรัฐมนตรี เชบาห์ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) พยายามจำกัดอำนาจศาลสูงสุด ด้วยการแก้ไขกฎหมายการพิจารณาคดีอย่าง ‘อำนาจการตั้งคณะกรรมการด้วยตนเอง’ หรือ ‘อำนาจการรับพิจารณาคดีโดยไม่ต้องมีคำร้อง’ (Suo moto) ของศาล โดยอ้างว่าเป็นการสร้างเสถียรภาพในทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงการเมืองเรื่องท้องถนน หลังจากเกิดการชุมนุมของประชาชน เพื่อประท้วงปัญหาความยากจนภายในประเทศ จนมีการปิดโรงเรียน ตัดอินเทอร์เน็ต และผู้คนจำนวนหนึ่งต้องถูกทับเสียชีวิตในระหว่างรอรับความช่วยเหลือด้านอาหารจากทางการ

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยความวุ่นวายทางการเมือง จากสถิติของรัฐบาลค้นพบว่า มีการอพยพของชาวปากีสถานเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว หากเทียบกับปี 2022 ไซนับ อาดิบี (Zainab Abidi) พลเมืองปากีสถาน ซึ่งทำงานในบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่าเธอตัดสินใจจะย้ายไปประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ก็ยังคงมีความกังวลต่อครอบครัวอยู่ และหวังอย่างยิ่งว่าเธอจะสามารถพาพวกเขาออกไปด้วยกันได้

ในทางตรงกันข้าม พลเมืองบางคนกลับไม่สามารถหนีจากนรกบนดินแห่งนี้ออกไปได้ เพราะความเหลื่อมล้ำสุดโต่งในประเทศ เช่น พนักงานทำความสะอาดรายหนึ่งในเมืองอิสลามาบัดให้เหตุผลว่า เธอไม่มีทางเลือกมากพอที่จะลี้ภัยออกไป “ฉันไม่มีพาสปอร์ต ไม่เคยออกจากประเทศนี้เลย สิ่งที่กังวลที่สุดทุกวันนี้คือค่าใช้จ่าย ฉันเป็นห่วงลูก แต่ไม่รู้จะไปที่ไหนจริงๆ” เธอกล่าว

ที่มา

https://www.aljazeera.com/news/2023/3/30/pakistani-court-strikes-down-sedition-law-in-win-for-free-speech

https://indianexpress.com/article/explained/explained-law/lahore-high-court-strikes-down-pakistan-sedition-law-8528346/

https://www.irishtimes.com/news/pakistani-politician-gets-23-years-1.1307867

https://www.pakistani.org/pakistan/constitution/part2.ch1.html

https://tribune.com.pk/story/2408620/govt-clips-top-judges-powers-on-suo-motu-bench-constitution

https://edition.cnn.com/2023/03/31/asia/pakistan-political-upheaval-analysis-intl-hnk/index.html

Tags: ,