วันนี้ (7 ตุลาคม 2566) มีการเผยแพร่เอกสารแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ลงนามโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยในเอกสารระบุเป้าหมายว่า “ด้วยรัฐบาลมีนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนำความภาคภูมิใจ มาสู่ประชาชนไทยทุกคน โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน”

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ สำหรับองค์ประกอบ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ ขณะที่กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกทันตแพทยสภา นายกแพทยสภา นายกสภากายภาพบำบัด นายกสภาการพยาบาลนายกสภาเทคนิคการแพทย์ นายกสภาเภสัชกรรม นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการและเลขนุการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ได้แก่ พัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินด้านสุขภาพ กลั่นกรองนโยบายสำคัญก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ให้เสนอแนะแนวทางพัฒนานโยบาย–ขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจเชิงรุก โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ นับเป็นอีกชุดตามหลังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่เศรษฐาเป็นประธาน และแพทองธาร นั่งเป็นรองประธานเช่นกัน โดยแพทองธารนั่งเป็นรองประธาน ในขณะที่คณะรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ นั่งเป็นกรรมการเท่านั้น ขณะเดียวกันทั้งสองชุดต่างก็มี นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีนั่งเป็น ‘กรรมการและเลขานุการ’ ทั้งสองชุด

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีแนวความคิดในการตั้ง ‘คณะกรรมการสุขภาพระดับชาติ’ หรือ National Health Board เช่นกัน โดยในเวลานั้น นายแพทย์ ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ถูกคัดค้านจากฝั่งชมรมแพทย์ชนบท และฝั่งองค์กรของรัฐ – องค์การมหาชน (องค์กรตระกูล ส.) ว่าจะเป็นการครอบงำความเป็นอิสระของหน่วยงานเหล่านี้ และมีเป้าหมายเพื่อทำลายความเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากเกิดความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขอย่างรุนแรง โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม กปปส. และในเวลาต่อมาเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แนวคิดดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกขับเคลื่อนต่อ