หากเป็นช่วงเวลาปกติ เชื่อว่าเหล่านักอ่านจำนวนมากคงรอคอยไปเดินเลือกซื้อหนังสือในงานใหญ่อย่าง ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับแวดวงธุรกิจหนังสือไทย และการจัดงานใหญ่ ที่ต้องชะงักไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุผลด้านความเสี่ยงของสถานที่ที่มีคนรวมตัวหมู่มาก

แน่นอนว่าโควิด-19 ยังไม่หมดไป แต่สถานการณ์ที่คลี่คลายลงบ้างในปัจจุบัน บวกกับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่มากขึ้น และความคุ้นเคยกับการป้องกันตนเอง ทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มขยับเขยื้อน หวังให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากต้องชะงักไปเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับแวดวงหนังสือไทย ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กำลังจะได้ฤกษ์กลับมาจัดอีกครั้ง ในวันที่ 26 มีนาคมนี้

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 มาในธีมว่าด้วย ‘อนาคต’ ทั้งในแง่ของตัวเอกอย่าง ‘หนังสือ’ ที่เปรียบเสมือนกุญแจไขปัญญาของคนในชาติให้มุ่งสู่อนาคต และสถานที่จัดงานสุดพิเศษอย่าง สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ ที่เปรียบเสมือนอนาคตของประเทศไทย 

The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์’ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน กับงานใหญ่ของคนรักหนังสือที่กลับมาอีกครั้งในปีนี้ ทั้งความพิเศษต่างๆ เช่น การนำ NFT มาเป็นกิจกรรมในงาน ความคาดหวังของการจัดงาน รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของธุรกิจหนังสือไทย

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกลับมาจัดอีกครั้งหลังจากห่างหายไป 2 ปี สำหรับงานปีนี้มีธีมหรือคอนเซ็ปต์อย่างไร

อย่างที่ทราบว่า 2 ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์โควิด จึงทำให้ไม่ได้มีกิจกรรมการขายหรือการจัดงานสัปดาห์หนังสือกันมายาวนาน มาในปีนี้ที่เราได้กลับมาจัดอีกครั้ง จึงมีคอนเซ็ปต์ว่า ‘อนาคต’ ซึ่งมาจากการที่เราจับมือกับกระทรวงคมนาคมมาจัดงานที่สถานีกลางบางซื่อ โดยสถานีรถไฟแห่งใหม่นี้ก็คืออนาคตของประเทศ และหนังสือก็คืออนาคตของคนในชาติ เมื่อสองอนาคตมาบรรจบกัน เราจึงตั้งชื่อธีมว่าอนาคต

โจทย์ในปีนี้ถือว่าท้าทายไหม โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่การจัดงานยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

ต้องบอกว่าทางสมาคมที่จัดงานเช็กกันรายวันเลยว่า มีโอกาสที่จะทำให้ไม่สามารถจัดงานได้หรือไม่ กับความยากที่สองคือ การที่เราไปจัดงานที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ และไม่ใช่สถานที่ที่เอาไว้จัดแสดงงาน มันไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้เราจัดงานได้อย่างง่ายดาย ต้องประสานงานเยอะมาก แล้วในเรื่องของสำนักพิมพ์ที่ต้องขนของ การดำเนินการภายใน ประตู ลิฟต์ บันได มันไม่เอื้ออำนวยในการที่เราจะเข้าไปจัดแสดงสินค้าได้อย่างง่ายดาย ทำให้ตรงนี้เราต้องมีการเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ

ในเรื่องของร้านอาหารเช่นกัน เพราะทางนักอ่านก็จะต้องมีการซื้ออาหารเวลามาเดินงาน เราก็ต้องดำเนินการจัดหามาเพิ่มเติมเช่นกัน

ทำไมถึงเลือกจัดงานที่สถานีกลางบางซื่อ มันมีความพิเศษอย่างไร

การจัดงานที่สถานีกลางบางซื่อพิเศษตรงที่สามารถจัดได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต เพราะทางกระทรวงคมนาคมอนุญาตให้เป็นพิเศษจริงๆ อย่างที่ทราบว่าทางสถานียังไม่ได้เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ เราจึงเข้าไปจัดงานได้ เพราะถ้าในอนาคตที่เปิดเต็มรูปแบบแล้ว เราก็ไม่สามารถจัดงานใหญ่ขนาดนี้ในสถานีกลางบางซื่อได้ เราจึงคิดว่างานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้พิเศษและมีครั้งเดียวจริงๆ

คุณมีโอกาสได้ไปเห็นสถานที่จัดงานแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง

สวยงาม ใหญ่โต และน่าเดินมาก โดยเฉพาะจุดที่เราจะจัดเป็นเวทีเสวนา ตรงนั้นจะล้อมรอบด้วยกระจกใส คิดว่าคนมางานน่าจะได้ภาพที่สวยงามมากๆ จากจุดนี้ 

ในแง่การจัดการบูธของสำนักพิมพ์ต่างๆ มีความพิเศษอย่างไร

ปีนี้เรามีสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 208 ราย รวมกว่า 583 บูธ โดยแบ่งเป็น 6 โซนประเภทหนังสือ คือ 1. โซนหนังสือเด็กและสื่อการศึกษา 2. โซนหนังสือการศึกษา 3. โซนหนังสือต่างประเทศ 4. โซนหนังสือเก่า 5. โซน Book Wonderland ที่เป็นหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น และ 6. โซนหนังสือทั่วไป

ส่วนในแง่ของการทำงานหรือการจัดการ ปกติเมื่อก่อนเวลาเราเดินงานสัปดาห์หนังสือ ถ้าจำได้จะเป็นซอยยาวๆ แต่รอบนี้ เราพยายามจัดให้ทุกบูธอยู่หัวมุมทั้งหมด เพื่อที่เวลานักอ่านไปเลือกซื้อเลือกอ่าน หรือว่าตอนที่ยืนอยู่หน้าร้าน จะไม่เบียดหรือไปบังร้านข้างๆ ให้ต้องเกรงใจ เป็นความพิเศษที่ครั้งนี้จัดแบบนี้ครั้งแรก ในแง่หนึ่งก็มองในส่วนของการเว้นระยะห่างด้วย ทำให้ทางมีเยอะขึ้น ถ้าได้เห็นผังงานจะเห็นได้ว่าโล่งขึ้น

เห็นว่าปีนี้มีการนำเรื่อง NFT มาเป็นกิจกรรมในงานด้วย

เรามองว่า NFT หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่เหมาะกับธีมอนาคต คือทางสมาคมจะมีแจก NFT ที่เป็นรูปภาพจากศิลปิน ‘มุนิน’ 25,000 ชิ้น ภายในงาน สำหรับผู้ที่ซื้อหนังสือครบหนึ่งพันบาท ก็สามารถเอามาแลก NFT ได้ และหากทางผู้อ่านสะสมครบ 5 ภาพ ก็สามารถเอามาเปลี่ยนเป็นภาพชิ้นที่ 6 ที่เป็นไอเทมลับได้

กิจกรรมหรือนิทรรศการน่าสนใจอื่นๆ ภายในงานปีนี้มีอะไรอีกบ้าง

ปีนี้จะมีนิทรรศการพานแว่นฟ้า วรรณกรรมการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย นิทรรศการออกแบบปกสวยงาม แล้ววันที่ 26 มีนาคม ที่เราจัดงานเป็นวันรถไฟไทยครบรอบ 125 ปีพอดี ก็เลยจะมีนิทรรศการ 125 ปีรถไฟไทย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการหนังสือดีเด่นของ สพฐ. รวมถึงจะมีการแถลงเกี่ยวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ในปี 2021 เช่น ปกไหนขายดี สำนักพิมพ์ไหนที่ออกหนังสือมากที่สุด แนวหนังสือไหนมาแรง โดยเราจะรวบรวมประมวลผลเป็นที่สุดแห่งวงการหนังสือ ในวันที่ 28 มีนาคม

อีกสิ่งที่พิเศษคือ งานหนังสือครั้งนี้เราจับมือกับไลน์แมน (LINE MAN) ที่ให้บริการกดสั่งหนังสือเหมือนสั่งอาหาร ซึ่งทางไลน์แมนจะมีหมวดหนังสือให้ในแอพพลิเคชัน เราสามารถอยู่บ้านแล้วเลือกสั่งหนังสือได้เลย และไลน์แมนที่ประจำอยู่ที่งานก็จะไปส่งให้ถึงบ้าน

คุณคาดหวังอะไรจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ หลังจากที่ไม่ได้จัดมา 2 ปี

เราคาดหวังในเรื่องของจำนวนคนที่มาเดินงาน ด้วยความที่เราห่างหายไปนานกว่าสองปี เราก็ไม่มั่นใจว่านักอ่านที่เคยรักเรา ซึ่งก่อนหน้านี้มาเดินงานครั้งละสองล้านคน ปัจจุบันจะกังวลเรื่องโควิดไหม จะยังอ่านหนังสือเยอะไหม ยังอยากมาเดินงานเหมือนเดิมไหม หรือการจัดงานที่เราจัดแบบเดิม นักอ่านจะยังมาไหม มันเป็นความกังวล เป็นความตื่นเต้น ที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็เป็นเหมือนกันหมด เราก็ลุ้นว่าถ้านักอ่านมาก็ถือเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเรา

ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ คุณมองภาพรวมแวดวงธุรกิจหนังสือไทยตอนนี้อย่างไร

เราขออนุญาตตอบเป็นจำนวนหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาใหม่ก่อนและหลังโควิด ช่วงก่อนโควิด หนึ่งปีเราจะตีพิมพ์อยู่ที่ 20,000 ปก แต่ในช่วงหลังโควิดมา คือช่วงปีที่แล้วและปีนี้ ทั้งปีรวมอยู่ที่ 15,000 ปก คำนวณคร่าวๆ คือจำนวนปกใหม่ลดลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ นั่นแสดงให้เห็นว่า ตัวมูลค่าของธุรกิจก็ลดลงค่อนข้างเยอะเหมือนกัน คือตกลงเป็นเลขสองหลัก ถ้าเกิดเทียบจำนวนปกใหม่กับจำนวนเงิน อย่างน้อยๆ ก็คือ 25 เปอร์เซ็นต์ 

ส่วนตัวอีบุ๊ก เป็นส่วนที่เติบโตขึ้น แต่ด้วยความที่สัดส่วนมันน้อย มันไม่สามารถทดแทนยอดขายหนังสือเล่มที่หายไปได้

อีกเรื่องคือพฤติกรรมของนักอ่าน เนื่องจากช่วงที่โควิดเกิดขึ้น รัฐสั่งปิดร้านหนังสือค่อนข้างนาน ทำให้นักอ่านเปลี่ยนพฤติกรรมมาสั่งซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทาง market place อย่างเช่น Shopee หรือ Lazada ทำให้สำนักพิมพ์มียอดขายเติบโตมาก และสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ขายได้เอง พึ่งพาร้านหนังสือน้อยลง ดังนั้น ในเรื่องของธุรกิจหนังสือตอนนี้ เราค่อนข้างเป็นห่วงและกังวลใจเกี่ยวกับร้านหนังสือมากกว่า

นั่นคือปัญหาของร้านหนังสือ ส่วนตัวสำนักพิมพ์ก็เกิดปัญหาเช่นกัน คือนักเขียนไม่ออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ แต่เลือกออกหนังสือเอง เพราะด้วยเทคโนโลยีของการ print-on-demand มันถูกลงเรื่อยๆ ราคาไม่แพง นักเขียนสามารถมาตีพิมพ์เอง จำหน่ายเอง โดยเฉพาะตอนนี้ที่นักอ่านคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการพรีออเดอร์ คือจ่ายเงินไปก่อนเต็มจำนวน แล้วรอหนังสือพิมพ์เสร็จ ก็จะส่งมาให้ที่บ้าน ดังนั้น ตอนนี้นักเขียนออกมาทำเองแบบนี้ค่อนข้างเยอะ ทางสำนักพิมพ์ก็ต้องมีการดิสรัปต์ตัวเองเหมือนกัน

คุณมองอนาคตของการจัดงานหนังสือ หรือธุรกิจหนังสือไทยอย่างไร

ข้อที่หนึ่ง ร้านหนังสือจำเป็นต้องมีต่อไป เพราะเวลาที่เราเลือกหนังสือสักหนึ่งเล่ม เช่น เราตัดสินใจว่าจะซื้อในออนไลน์ เราอาจไม่ได้ถูกแนะนำหนังสือใหม่ เพราะไม่เคยเห็นหนังสือนอกเหนือจากที่เราอ่าน เรามองว่ามันเหมือนเฟซบุ๊ก ที่เขาเลือกเฉพาะคอนเทนต์ที่เราชอบมาให้ดู แต่ถ้าเข้าไปร้านหนังสือ มันมีคอนเทนต์ทุกอย่างให้เราเลือก ให้เราพบรักกับหนังสือ เช่น เล่มนี้ปกสวย ถึงไม่ใช่แนวที่เราอ่าน แต่เราก็อาจจะหยิบกลับบ้าน เราจึงมองว่าตัวร้านหนังสือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจหนังสือ 

เรามั่นใจว่าหนังสือเล่มจะยังคงอยู่ได้ต่อไป เพราะมันมีเสน่ห์ของมันที่คนคุ้นเคย ซึ่งปัจจุบันคนอยากอ่านหนังสือเล่มมากขึ้น เพราะต้องการหลีกหนีจากหน้าจอ เราเลยคิดว่า ตอนนี้สำนักพิมพ์น่าจะไปทุ่มเทกับการหาคอนเทนต์ แล้วก็สร้างคอนเทนต์ที่คนอ่านสนใจ โอกาสที่ดีมากสำหรับสำนักพิมพ์ คือนักอ่านปัจจุบันเขาเปิดกว้างในการอ่าน ไม่เหมือนในอดีตที่อ่านนิยายอย่างเดียว หรืออ่านการ์ตูนอย่างเดียว ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง บริหารธุรกิจ ฮาวทู มันเติบโตขึ้นมาก เราคิดว่ามันเป็นจุดที่จะทำให้ธุรกิจหนังสือสามารถไปต่อได้ ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ที่สำนักพิมพ์เลือกนำมาเสนอกับทางนักอ่านมากกว่า

ส่วนในเรื่องของการจัดงานหนังสือ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องทำการบ้านตลอด ไม่สามารถหยุดทำการบ้านได้เลย เพราะโควิดทำให้การจัดงานเปลี่ยนไปตลอดกาล ตอนนี้ทางสมาคมผู้จัดงาน ก็มีการทำการบ้าน และคุยกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ต่างประเทศ ว่าเขาจัดงานเป็นอย่างไร หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมถึงเรามีการไปดูงานด้วย เช่น เดือนมิถุนายนนี้จะมีงานหนังสือไต้หวัน เราก็จะไปดูว่าเขามีการเปลี่ยนแปลง และมาตรการอย่างไรบ้าง เพื่อให้งานน่าสนใจและปลอดภัย

คุณคิดว่า ‘คำถาม’ สำคัญที่สุดที่เราควรตั้งแก่ ‘อนาคต’ ของธุรกิจหนังสือไทย คือเรื่องอะไร และควรถามว่าอะไร

สำหรับต่างประเทศที่ธุรกิจหนังสืออยู่ได้อย่างเข้มแข็ง เป็นเพราะการช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้น เราน่าจะต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลอยากจะมีส่วนช่วยให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เพื่อที่จะให้เป็นอนาคตของชาติมากขึ้นอย่างไร เพราะอย่างที่เห็นว่า วงการหนังสือหรือธุรกิจหนังสือ เป็นที่ละเลยจากรัฐบาลหรือผู้นำมาตลอด เราคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ควรถาม

Fact Box

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 จัดขึ้นที่สถานีกลางบางซื่อ ระหว่างวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม ถึง วันพุธที่ 6 เมษายน 2565 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://onground.thaibookfair.com/

Tags: , , , , , ,