ใครเล่าจะทำทุกอย่างได้เท่าทหาร…

กองทัพไทยเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2565 เนื่องในวันซ้อมใหญ่พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในโอกาส ‘วันกองทัพไทย’ โดยจะจัดขึ้นทุกวันที่ 18 มกราคม ทางกองทัพฯ ระบุว่า พิธีดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ผู้เข้ารับราชการทหารทุกคนได้แสดงถึงความเป็น ‘ทหารที่สมบูรณ์แบบ’ และธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ที่ทหารต้องเคารพและพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต ซึ่งแถบสีของธงชัยเฉลิมพล ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เนื่องในวันกองทัพไทย The Momentum จึงขอมีส่วนเล่าเรื่องเกี่ยวกับทหารในวันสำคัญของทหาร ด้วยการพาไปดูการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าทหารในเหล่าทัพต่างๆ ที่นอกเหนือจากงานประจำ ว่าทหารในยุคปัจจุบันต้องทำอะไรบ้าง งานของพวกเขาที่นอกเหนือจากการเป็น ‘รั้วของชาติ’ และปกป้องประเทศคืออะไร

เพราะภารกิจของทหารยุคนี้ อาจไม่ได้มี ‘ชั้นเดียว’ เช่นทหารในอดีตอีกแล้ว

ปลูกผัก เกี่ยวข้าว รับซื้อพืชผลผลิตของชาวสวน

สิ้นปี 2564 ราคาผักหลายชนิดพุ่งสูงจนน่าตกใจ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้สินค้าพืชผักขาดแคลน ประชาชนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาล หลายจังหวัดขายผักชีกิโลกรัมละ 300-400 บาท ขึ้นฉ่ายกิโลกรัมละ 350 บาท ต้นหอมกิโลกรัมละ 120 บาท ผักกาดหอมกิโลกรัมละ 130 บาท และมะเขือเทศกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นต้น

เมื่อราคาผักยังคงมีท่าทีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโหม จึงมีคำสั่งโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กองทัพใช้พื้นที่ในค่ายทหาร ปลูกผักออกขาย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ขณะที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น ตอนนี้ตนได้ส่งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมประชุมร่วมกับทุกเหล่าทัพ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้เริ่มนำพืชผักสวนครัว โดยเฉพาะพริก ผักชี ชะอม คะน้า กวางตุ้ง ต้นหอม และมะนาว เข้าไปปลูกบ้างแล้ว

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊กศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center โพสต์ข้อความว่า “กองทัพบก…ช่วยเหลือเกษตรชาวนา ร่วมเกี่ยวข้าวและตากข้าวเปลือกจัดเก็บผลผลิตข้าวเปลือกสู่ยุ้งข้าวเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จำนวนผลผลิตข้าวเปลือก 600 ถัง ในจังหวัดปราจีนบุรี” และมีหลายครั้งที่ทหารรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้านในชุมชนในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เช่น ซื้อข้าวเปลือก 690 กิโลกรัม ในราคา 6,900 บาท

นอกจากนี้ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 เฟซบุ๊กศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center โพสต์ข้อความว่า กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 16 เข้ารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยซื้อผักกาด 40 หัว 40 กิโลกรัม ผักคะน้า 40 มัด 40 กิโลกรัม เพื่อนำมาประกอบอาหารในหน่วย ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์จากประชาชนบางส่วนว่า การช่วยเหลือเกษตรกรควรเป็นหน้าที่ที่ทหารต้องทำจริงหรือ

 

ทหารขับรถพุ่มพวงขายของในยุคของแพง

“หมูทหาร รถพุ่มพวงทหาร ช.พัน.5 พล.ร.5 ออกตระเวน ตั้งจุดขายหมูกิโลกรัมละ 89 บาท ช่วยประชาชนช่วงวิกฤตหมูแพง”

เริ่มปีใหม่ 2565 ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะสินค้าครัวเรือนขึ้นราคา หมูแพง ไก่แพง เป็ดแพง ไข่แพง ข้าวเหนียวแพง มะละกอแพง แก๊สหุงต้มแพง น้ำมันแพง แต่ค่าแรงของประชาชนยังคงเท่าเดิม ด้วยวิกฤติทางเศรษฐกิจที่หนักหนา กองทัพไทยจึงพยายามหาทางช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการขับรถพุ่มพวงขายสินค้าครัวเรือนในราคาที่ต่ำกว่าตลาดขายกันอยู่

ข้อมูลเรื่องรถพุ่มพวงของทหารมาจากทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่โพสต์ภาพรถพุ่มพวงที่ออกตระเวนโดยเหล่าพลทหาร เป็นรถพุ่มพวงเหมือนกับที่เราพบเห็นบ่อยๆ ตามหมู่บ้านหรือตลาดนัดชุมชน แต่คราวนี้เป็นรถที่มาจากค่ายทหาร จอดอยู่ริมถนน และตั้งแผงขายหมู ขายผัก และเครื่องปรุงรสต่างๆ โดยป้ายที่ดึงดูดสายตาของผู้คนที่สุดคงหนีไม่พ้น ป้ายที่เขียนว่า “หมูทหาร รถพุ่มพวงทหาร ช.พัน.5 พล.ร.5 ออกตระเวน ตั้งจุดขายหมูกิโลกรัมละ 89 บาท ช่วยประชาชนช่วงวิกฤตหมูแพง”

รถพุ่มพวงทหารที่ว่ามาจากกองพันทหารช่างที่ 5 กองพลทหารราบที่ 5 ออกตั้งบูธขายเนื้อหมูในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนำผลิตผลที่ในศูนย์เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ครบวงจรที่ทำในค่ายทหารออกมาขาย เช่น เนื้อหมูกิโลกรัมละ 89 บาท ไข่ไก่แผงละ 79 บาท ผักปลอดสารพิษราคา 5 บาท โดยวาสนายังระบุอีกว่า การนำสินค้าครัวเรือนออกขายในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่ในค่ายทหารนั้น มีการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผักกันอยู่แล้ว ในช่วงข้าวของราคาแพง จึงนำออกมาจำหน่ายในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือประชาชน

เมื่อ วาสนา นาน่วม โพสต์ข้อความลงตามแพลตฟอร์มต่างๆ มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น บ้างก็ระบุว่าให้เลิกด่าทหารเพราะเวลาเดือดร้อนทหารก็เข้ามาช่วยเหลือประชาชน บางส่วนตั้งคำถามว่า ในเมื่อเนื้อหมูเนื้อไก่มีเต็มค่าย ทำไมทหารเกณฑ์ถึงกินข้าวกับวิญญาณหมู เสียดสีเรื่องอาหารกลางวันในกองทัพ ที่เคยมีภาพข้าวเปล่ากับผักต้มและแทบไม่มีเนื้อสัตว์เลย รวมถึงการตั้งคำถามเรื่องงบประมาณการทำโครงการศูนย์เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ครบวงจร ว่านำเงินงบประมาณมาจากส่วนไหน เป็นเงินภาษีของประชาชนหรือไม่ ถูกต้องแล้วจริงหรือที่นำผลผลิตจากโครงการออกขาย เมื่อตัดสินใจจะขายแล้วตอนนี้ตั้งแผงได้กี่วัน ทำจริงจังแค่ไหน และเงินที่จากการขายได้จะไปอยู่ตรงไหน

 

ใช้รถทหารรับส่งสินค้า แทนรถเอกชนที่หยุดวิ่งประท้วงรัฐ

หลังจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นำกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถบรรทุกขนส่ง ทั้งภาคเจ้าของกิจการและผู้ขับรถ ทำกิจกรรมประท้วงรัฐบาลด้วยการหยุดวิ่ง และนำรถบรรทุกมาจอดบริเวณกระทรวงแรงงาน เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้ประท้วงจึงหยุดทำงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งพลเอกประยุทธ์แถลงการณ์ว่ารัฐมีวิธีแก้ไขเรื่องรถเอกชนหยุดวิ่ง ด้วยการใช้รถทหารวิ่งรับส่งสินค้าแทน

วิธีการแก้ปัญหาการวิ่งรถบรรทุกขนส่งที่พลเอกประยุทธ์กล่าวกับสื่อผู้ข่าว สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ประชาชนเริ่มตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่า การใช้รถทหาร หรือใช้พลทหารขับรถขนส่งสินค้า คือหน้าที่โดยตรงของกองทัพหรือไม่ รัฐบาลควรมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการใช้รถทหารหรือเปล่า

ทางด้านพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แถลงข่าวในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แนวคิดนำรถทหารมาวิ่งแทนรถขนส่งของภาคประชาชน สะท้อนว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำที่ล้มเหลว ควรลาออกให้คนที่มีความสามารถมาบริหารแทน

ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 อภิชาต ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ยินดีที่จะเห็นรัฐบาลลองใช้รถทหารวิ่งแทนรถบรรทุกที่หยุดวิ่ง เพราะคงไม่มีอะไรดีและเห็นภาพเท่ากับการได้ลองลงมาทำเอง รัฐบาลจะได้พบว่าการวิ่งรถขนส่งไป-กลับ ครั้งหนึ่งใช้น้ำมันกี่ลิตร มีกำไรเท่าไร ขาดทุนเท่าไร และเมื่อลองทำแล้วขอให้รัฐบาลกับกองทัพออกมาชี้แจงตัวเลขค่าใช้จ่ายด้วย

การถูกวิจารณ์อย่างหนัก ส่งผลให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยพลเอกประวิตรระบุว่า เรื่องใช้รถทหารขนส่งสินค้าเป็นเพียงการวางแผนเตรียมการ ยังไม่ได้เริ่มใช้จริง หากรถบรรทุกหยุดวิ่งจริงๆ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้รถทหารเพื่อช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ ส่วนเรื่องที่ว่านักการเมืองฝ่ายค้านบอกว่าการเอารถทหารมาใช้ ผิด พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ตนไม่รู้ว่าขัดหรือไม่ขัด คิดแค่อยากจะช่วยประชาชนก่อน

ต่อมา ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตีความไปเอง อย่าบิดเบือนเจตนาดีของนายกรัฐมนตรี การที่พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าจะใช้รถทหารเป็นเพียงแนวทางสำรองเท่านั้น และการนำรถราชการมาช่วยเหลือประชาชนถือว่าไม่ผิดกฎหมาย และไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522

 

ส่งเสบียงให้ทหารพม่า?

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมปี 2564 กองทัพพม่าถูกกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงปิดเส้นทางขนส่งเสบียงจากกองทัพส่วนกลาง ทำให้หน่วยย่อยที่กระจายตัวในหลายพื้นที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนเสบียง ในเวลาเดียวกัน สำนักข่าวในไทยหลายสำนักต่างนำเสนอข่าวว่า มีผู้พบเห็นกลุ่มคนจากฝั่งชายแดนไทยลำเลียงข้าวสารอย่างน้อย 700 กระสอบข้ามไปยังฝั่งเมียนมา และมีข้อสันนิษฐานหลายประการว่าใครเป็นผู้ส่งเสบียงให้ทหารพม่า หน่วยงานรัฐของไทย กองทัพไทย หรือว่าเป็นการจ้างขนส่งเอกชนที่อยู่ในไทยกันแน่

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่นานนับสัปดาห์ ทำให้วันที่ 2 มีนาคม 2564 พลตรี อำนาจ ศรีมาก ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่มีการกล่าวว่า หน่วยงานความมั่นคงไทยส่งเสบียงและข้าวสารจำนวนมากให้กับกองทัพพม่า บริเวณชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน ยืนยันว่าทหารพม่าไม่เคยประสานงานมายังหน่วยงานไทยเพื่อขอความช่วยเหลือหรือร้องขออะไรจากไทย ทหารพม่ามีศักดิ์ศรีเป็นของตัวเอง และทหารไทยไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบปากท้องของทหารพม่า ถ้าจะมีอาจจะเป็นแค่การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนทั่วไป หากเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่ผิดกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายก็จะเป็นเรื่องของกรมศุลกากร

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2564 วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงกรณีข่าวเรื่องไทยส่งเสบียงให้ทหารพม่าว่า ไม่ใช่การส่งเสบียงสนับสนุน แต่เป็นการประสานฝากซื้อข้าวของจากฝั่งไทยผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee: TBC) ที่ทำกันมาอย่างยาวนานเป็นสิบๆ ปี นับเป็นเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยช่วยเหลือกันตามข้อตกลง

“ที่ผ่านมา ทหารพม่าฝากซื้อข้าวของ ข้าวสาร ของใช้ต่างๆ จากฝั่งไทย โดยประสานผ่านคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นเป็นปกติ เพราะซื้อจากฝั่งพม่าาจะขนส่งไกลกว่า แต่ซื้อฝั่งไทยสะดวกกว่ามาก ถือเป็นการช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะความสัมพันธ์ทางทหารนั้นเป็นไปด้วยดี เวลาเรามีปัญหาอะไร คนไทยไปเกิดเรื่องในฝั่งเมียนมา เราก็จะประสานผ่านคณะกรรมการ TBC ในการช่วยเหลือดูแล และการส่งคนไทยในเมียนมากลับประเทศ

“ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฝั่งไทยในการซื้อข้าวสาร ของใช้ต่างๆ จากพ่อค้าแม่ค้าภาคเอกชนไทย แล้วส่งไปให้ฝั่งเมียนมา ผมก็แปลกใจว่าทำไมกลายเป็นประเด็นถูกโจมตี เพราะนี่เป็นการทำผ่านกลไก TBC ที่เรามีอะไรก็ช่วยเหลือประสานงานกัน”

 

คุมเลือกตั้งซ่อมชุมพร

แม้การเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดชุมพรจะสิ้นสุดลงแล้วด้วยชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในช่วงหาเสียงและช่วงลงคะแนนเสียง ถือเป็นช่วงเวลาที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ทั้งการปราศรัยหาเสียงของเหล่าพรรคการเมือง ไปจนถึงการพบเห็นทหารจำนวนมากทั่วจังหวัดชุมพร จนเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมทหารถึงออกมาช่วงเลือกตั้ง และทหารมีบทบาทกับการเลือกตั้งซ่อมชุมพรอย่างไร

ย้อนกลับไปยังวันที่ 1 มกราคม 2565 ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และผู้อำนวยการเลือกตั้งประสานงานส่วนกลาง กล่าวถึงสถานการณ์การเลือกตั้งซ่อมเขต 1 จังหวัดชุมพร และเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา ว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติน่าสงสัย จึงได้ร้องเรียนไปยัง พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ให้ตรวจสอบทหารกว่า 100 นาย ภายใต้การควบคุมของ ‘เสธ.ต.’ จากนอกพื้นที่เข้าไปยังพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชุมพร มีความผิดปกติหลายประการ เพราะมีผู้พบเห็นทหารจำนวนมากกดดันการรณรงค์หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์

ราเมศจึงขอให้ ผบ.ทบ. เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพราะหากมีทหารข่มขู่ประชาชนหรือกดดันขัดขวางการหาเสียงของพรรคการเมืองจริง ผู้บังคับบัญชาจะต้องสั่งการให้ทหารชุดดังกล่าวออกไปจากพื้นที่ และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อม เพราะการวางตัวของทหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากใช้อำนาจรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และไม่ควรมีการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

แม้สุดท้าย กองทัพบกจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง โดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เท่านั้น แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในช่วงเวลาดังกล่าว มีความเคลื่อนไหวอย่าง ‘ผิดปกติ’ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร

 

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (นักรบไซเบอร์)

หลายครั้งในเวลาใช้งานทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ ตามดูข่าวการสังคมการเมืองในแพลตฟอร์มต่างๆ มักจะเห็นคอมเมนต์แปลกๆ ที่พิมพ์ในลักษณะคล้ายกัน มีทั้งการโจมตีขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการเขียนข้อความยกยอการทำงานของรัฐบาล บางส่วนคือประชาชนที่แสดงความคิดเห็นจริงๆ แต่ก็มีข้อความจำนวนไม่น้อยที่มีที่มาจาก ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ไอโอ’ (Information Operation: IO) ที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 จนทำให้ประชาชนไทยได้รู้จักกับไอโอกของกองทัพมากขึ้น

วันที่ 9 ตุลาคม 2563 แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังอย่าง ‘ทวิตเตอร์’ ประกาศว่าได้ทำการปิดบัญชีผู้ใช้จำนวน 1,594 บัญชี ใน 5 ประเทศ ทั้ง รัสเซีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย คิวบา และไทย เนื่องจากพบว่าบัญชีทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทวิตเตอร์ยังให้ข้อมูลน่าสนใจอีกว่า บัญชีผู้ใช้จำนวน 926 ราย ที่ถูกแบนในประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย เผยแพร่เนื้อหาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและกองทัพ

ปฏิบัติการไอโอถูกพบเห็นในโซเชียลมีเดียเรื่อยมา และมีการกล่าวถึงอย่างจริงจังอีกครั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โดย พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า แถลงข่าวในหัวข้อ ‘เปิดวงจรอุบาทว์ไอโอ ผู้มูฟออนเป็นวงกลม’ ระบุว่า แม้วิโรจน์จะเคยอภิปรายเรื่องนี้ไว้แล้วในสภาฯ แต่กองทัพก็ยังไม่เลิกปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่โจมตีประชาชนแต่อย่างใด และการทำปฏิบัติการไอโอเชื่อมโยงกับคนหลายกลุ่ม เช่น ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ผู้เคยเข้านอกออกในกองทัพอยู่ช่วงหนึ่ง

ในการอภิปรายฯ ไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล อภิปรายฯ เรื่องปฏิบัติการไอโอทหารภาค 2 โดยณัฐชาเปิดคลิปการประชุมออนไลน์ของ มณฑลทหารบกที่ 21 (ม.ทบ.) และเอกสารหลุดจากกองทัพที่ยืนยันว่ามีการทำไอโอจริง โดยอบรมผ่านหลักสูตรจิตอาสาพระราชทาน แบ่งทีมขาว ทีมดำ เป้าหมายยอดบัญชีไอโอกว่า 54,800 บัญชี อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพถึง 19 หน่วย

ณัฐชาอภิปรายว่า ปฏิบัติการไอโอของกองทัพอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการกระทำที่เรียกว่า ‘เลวซ้อนเลว’ ให้ทหารระดับล่างมาปฏิบัติหน้าที่แบบสลับเวร 24 ชั่วโมง รายงานผลทุกในเวลา 18.00 น. ส่วนหัวหน้าได้ให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยเลี้ยงทีมปฏิบัติการวันละ 240 บาท ตกเดือนละประมาณ 7,500 บาท แต่ความจริงกลับได้เพียง 1,500 บาทเท่านั้น

“ทำไอโอทำในนามโรงเรียนจิตอาสาก็จริง แต่ใช้ทหารในกองทัพ เช่น ทวิตเตอร์ชื่อ ‘เฮียตือ สนามเป้า’ ตัวจริงคือ พันโทธรรม์ มาลัยทอง สังกัดกองพลทหารม้าที่สองรักษาพระองค์ หรืออีกบัญชีหนึ่งชื่อ ‘เสือขาว’ ทวีตโจมตีผู้ชุมนุม ภาพที่ประกอบทวีตถูกชาวเน็ตนำไปขยายดูเงาสะท้อนกระจกรถ พบว่าสติกเกอร์ติดหน้ารถเป็นบัตรผ่านเข้าออกเขตพระราชฐานในพระองค์ 904 ปี 2563 ชื่อ คมทวน คล้ายอักษร ทะเบียนรถ 4กว 5004”

“พลเอกประยุทธ์ทำให้อาชีพทหารที่ควรปกป้องประชาชน กลับเป็นศัตรูของประชาชน และไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ ให้อยู่เหนือการเมือง แต่กลับเอาสถาบันฯ มาเป็นเกราะกำบังตัวเองจากเสียงวิจารณ์ของประชาชน นำความจงรักภักดีของประชาชนเป็นอาวุธทำร้ายประชาชน เพื่อเหนี่ยวรั้งอำนาจของตัวเอง”

“พลเอกประยุทธ์ทำให้อาชีพทหารที่ควรปกป้องประชาชน กลับเป็นศัตรูของประชาชน และไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ ให้อยู่เหนือการเมือง แต่กลับเอาสถาบันฯ มาเป็นเกราะกำบังตัวเองจากเสียงวิจารณ์ของประชาชน นำความจงรักภักดีของประชาชนเป็นอาวุธทำร้ายประชาชน เพื่อเหนี่ยวรั้งอำนาจของตัวเอง”

 

อ้างอิง

https://www.facebook.com/WassanaJournalist/posts/4871648666226886

https://www.facebook.com/armyprcenter/posts/4676196339112708

https://www.facebook.com/100001454030105/posts/3931755310216231/

https://www.thairath.co.th/news/local/north/2054157

https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100402

Tags: , , , , , , , ,