หากปีนี้คือปีแห่งการกระเสือกกระสนเพื่อเอาชนะการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสารพัดมาตรการป้องปรามการระบาดและการฉีดวัคซีนของภาครัฐ การปรับตัวเข้ากับการทำงานวิถีใหม่ของเหล่าพนักงาน และการดิ้นรนเอาตัวรอดของเหล่าผู้ประกอบการที่หวังว่าอนาคตจะดีกว่าเดิม ส่วนปีหน้าคือการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่หลังวิกฤติเริ่มคลี่คลาย

ผู้เขียนขอรวบรวม 5 เทรนด์สำคัญที่ต้องจับตามองในปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่นของโควิด-19 สถานการณ์เงินเฟ้อ ออฟฟิศหลังการระบาด วิกฤติภูมิอากาศ และเทรนด์การเงินกระจายศูนย์ (DeFi) ที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ

1. โควิด-19 กับการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น

แน่นอนว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่มีทางหายไปแบบชั่วข้ามคืน แต่มันจะย้อนกลับมาระบาดในบางฤดูกาล ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่หรือโรคประจำถิ่นอื่นๆ แม้ว่าการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะสร้างความกังวลให้กับใครหลายคน เพราะอัตราการติดเชื้อที่สูงและความรุนแรงที่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา แต่การศึกษาเบื้องต้นพบว่าการฉีดวัคซีนเข็มสามจะช่วยป้องกันอาการป่วยได้มาก การกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมจึงนับเป็นความท้าทายสำคัญของโลกในปัจจุบัน

การจัดการโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาสะท้อนทั้งความสำเร็จและล้มเหลวในการจัดการโรคระบาด

ในด้านความสำเร็จคือ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถผลิตวัคซีนและกระจายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงปีเศษ นับตั้งแต่การตรวจพบเชื้อครั้งแรก นี่คือความเร็วระดับติดจรวดเมื่อเทียบกับวัคซีนอย่างโปลิโอ ที่ผ่านการทดลองในมนุษย์และยังต้องใช้เวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ฉีดแก่สาธารณชน

ส่วนความล้มเหลวก็หนีไม่พ้นการกระจายวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรม โดยประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนปริมาณมหาศาลไว้ ส่งผลให้กลุ่มเปราะบางในประเทศยากจนหรือพื้นที่ห่างไกลต้องเสียชีวิตลง ทั้งที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนราคาไม่กี่ร้อยบาท นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ในอนาคตอาจไม่รุนแรงนักในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา เพราะประชาชนจำนวนมากได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการได้รับเชื้อโควิด-19 เนื่องจากวัคซีนมาไม่ทันเวลา

ปีหน้าเราก็ยังคงต้องอยู่กับการระบาดกันต่อไปอีกสักปี แต่คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2566 โควิด-19 จะไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิตต่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังคงอันตรายร้ายแรงสำหรับประชาชนในประเทศยากจน นี่คือเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคต

2. สถานการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงกว่าที่คาด

นับตั้งแต่การผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ต่างเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่วโดยมีสารพัดปัจจัย ตั้งแต่ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่อัดอั้นเอาไว้ในช่วงล็อกดาวน์ไหลบ่าสู่ตลาดราวกับเขื่อนแตก ภาคพลังงานที่เพิ่มกำลังการผลิตไม่ทันความต้องการ ห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยังเดินหน้าไม่คล่องตัวเนื่องจากความเสี่ยงของโรคระบาด ปัญหาการความยุ่งเหยิงในภาคการขนส่งที่ยังแก้ไม่ตก และนโยบายภาครัฐที่อัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบ

แม้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจะย้ำว่าสถานการณ์เงินเฟ้อที่เรากำลังเผชิญเป็นแค่เรื่องชั่วคราว หากทำใจเย็นๆ ปล่อยให้ผู้บริโภคใช้เงินเก็บช่วงล็อกดาวน์จนหมด รอให้ภาคพลังงานเร่งกำลังการผลิตและปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลาย พร้อมทั้งการทยอยลดนโยบายอัดฉีดเงินของภาครัฐ อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเข้ารูปเข้ารอย

แต่รอแล้วรอเล่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปีเงินเฟ้อก็ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ ในทางกลับกัน ตัวเลขดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์จนธนาคารกลางสหรัฐต้องเริ่มขยับตัวโดยลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) เร็วกว่าที่คาด และธนาคารกลางอังกฤษที่ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นประเทศแรกของโลก

เราจึงต้องจับตาดูสถานการณ์เงินเฟ้อในปีหน้าอย่างใกล้ชิด โดยมีความเป็นไปได้สองทาง ทางแรกคือเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงจนเข้าใกล้ประมาณการของธนาคารกลางตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดหวัง เพราะสารพัดปัญหาค่อยๆ คลี่คลายด้วยความมหัศจรรย์ของกลไกตลาด ส่วนทางที่สองคือภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และเศรษฐกิจชะงักงันหรือที่เรียกว่า Stagflation ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยากจะแก้ไขด้วยนโยบายทางการเงินและการคลัง เราก็คงได้แต่หวังว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญจะคาดการณ์ถูกต้อง เพราะคงไม่ใช่เรื่องดีนักหากต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อรุนแรง

3. โลกใบใหม่ของการทำงานทางไกล

การทำงานระยะไกลเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับพนักงาน มีการสำรวจพบว่าพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านมีผลิตภาพ (Productivity) มากกว่า มีความสุขมากกว่า สุขภาพดีกว่า แถมยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเดินทางอีกด้วย โควิด-19 จึงทำให้หลายบริษัทลดอคติต่อพนักงานที่ทำงานจากบ้าน ซึ่งแต่เดิมมักถูกมองว่าไม่ทุ่มเทกับการทำงานเท่ากับเหล่าพนักงานที่อยู่โยงประจำออฟฟิศ

เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สิ่งที่ต้องจับตาว่าเหล่าบริษัทจะย้อนกลับไปให้พนักงานเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลาหรือไม่ มีการสำรวจพบว่าพนักงานคอปกขาวต้องการการทำงานแบบผสมผสาน มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น และเข้าออฟฟิศเฉพาะบางวัน นี่คือความต้องการที่นายจ้างไม่ควรมองข้าม โดยต้องออกแบบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน

อย่าลืมว่าพนักงานแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน ผู้หญิง คนชายขอบ และพ่อแม่ที่ลูกยังเล็ก จะมีแนวโน้มใช้เวลาในออฟฟิศน้อยกว่าพนักงานทั่วไป ในอดีต การกลับบ้านเร็วมีราคาที่ต้องจ่ายคือการไม่ได้เลื่อนขั้นหรือหักโบนัส เนื่องจากหัวหน้างานมักจะให้ค่ากับการที่พนักงาน ‘อยู่ออฟฟิศ’ แม้จะไม่พูดออกมาอย่างชัดเจนก็ตาม

เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ นายจ้างจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นธรรมสำหรับพนักงานทุกคน โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเสมอภาค เช่น บริษัทแอปเปิลที่ระบุว่าทุกคนจะต้องเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน รวมทั้งการประเมินผลงานอย่างเป็นธรรม โดยต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนว่าการเข้าออฟฟิศบ่อยหรืออยู่ออฟฟิศนานสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจริงหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือไม่ การให้รางวัลกับพนักงานเพียงเพราะเขาหรือเธอปรากฏตัวให้เห็นอย่างสม่ำเสมอก็อาจไม่สมเหตุสมผล

หัวใจสำคัญในการออกแบบออฟฟิศหลังการระบาดคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนให้พนักงานปฏิบัติตาม ไม่ใช่แจ้งพนักงานว่าสามารถทำงานอย่างยืดหยุ่นได้ แต่ปล่อยให้ความคลุมเครือทำร้ายพนักงานบางคนในกระบวนการประเมินผลงานเพื่อให้โบนัสหรือเลื่อนตำแหน่ง

4. วิกฤติภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าทศวรรษนี้คือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของมนุษยชาติในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 จะได้ผลลัพธ์ที่ทำให้หลายคนผิดหวัง แต่อย่างน้อยนานาชาติก็ยังยืนยันเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมทั้งคำมั่นของประเทศสมาชิกที่จะ ‘ทยอยลด’ การใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปีหน้าทุกประเทศยังมีการบ้านที่จะต้องปรับปรุงแผนลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions) การศึกษาพบว่าแผนในปัจจุบันจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นราว 2.4 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่าเกินเป้าหมายไปไกลโข การปรับแผนปีหน้าอาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพลังงานและการคมนาคม

แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย การเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียนหรือรถยนต์ไฟฟ้าย่อมต้องอาศัยเงินลงทุนมูลค่ามหาศาล ซึ่งรัฐอาจจัดหาโดยการเก็บภาษีเพิ่มเติม นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนในบางพื้นที่ยังมีต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประชาชนอาจต้องเป็นฝ่ายควักกระเป๋า

ส่วนภาคเอกชนก็อย่าคิดว่าจะลอยตัวจากปัญหาดังกล่าวนะครับ เพราะทุกบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแง่นโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ความเสี่ยงดังกล่าวอาจทำลายมูลค่าของสินทรัพย์และเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบางอุตสาหกรรม ยังไม่นับกลไกการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากการประชุม COP26 เพื่อสร้างตลาดคาร์บอนกลางสำหรับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดราคาคาร์บอนโดยใช้กลไกตลาด

แม้ผลการประชุม COP26 จะทำให้หลายคนผิดหวัง แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำถึงจะมาช้าแต่จะมาอย่างแน่นอน

5. การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance)

ปี 2021 นับเป็นปีที่น่าตื่นตาตื่นใจของการเงินกระจายศูนย์หรือดีไฟ (De-Fi) โดยมีพระเอกอย่างอีเธอเรียม (Ethereum) สกุลเงินเข้ารหัสที่ทำงานบนบล็อกเชนแบบเปิด ซึ่งผู้ใช้สามารถเขียนโค้ดเพื่อสร้างสัญญาอัจฉริยะ (Smart contracts) ที่จะทำให้ธุรกรรมไม่จำเป็นต้องพึ่งพาธนาคารอีกต่อไป เนื่องจากระบบดังกล่าวจะดำเนินการแบบอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

สำหรับใครที่อ่านย่อหน้าข้างบนแล้วรู้สึกเหมือนอ่านภาษาต่างดาว เอาเป็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้สร้างระบบจ่ายเงิน การฝากและปล่อยสินเชื่อ การลงทุน รวมทั้งสกุลเงินเข้ารหัสที่ผูกโยงกับมูลค่าของสกุลเงินในโลกจริง โดยทั้งหมดนี้ไม่ต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์หรือผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารกลาง

แวดวงดีไฟเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา มูลค่าการทำธุรกรรมบนอีเธอเรียมบล็อกเชนเพิ่มจาก 116 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2020 เป็น 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสสองของปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับมูลค่าธุรกรรมที่ทำผ่านศูนย์กลางชำระเงินอย่างวีซ่าในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่แม้ว่าวงการดังกล่าวจะเป็นแหล่งนวัตกรรมและสร้างความตื่นตาตื่นใจอยู่เนืองๆ แต่ปัญหาสำคัญคือมันยังไม่ตอบโจทย์นักในแง่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเป็นเพียงแหล่งเงินทุนสำหรับเก็งกำไรค่าเงิน อย่างไรก็ดี ปีหน้าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญโดยมีความเป็นไปได้สามแนวทาง

ความเป็นไปได้แรกคือการที่ดีไฟจะมาทดแทนระบบการเงินหลัก โดยการใช้สกุลเงินเข้ารหัสเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม เช่น ประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่ประกาศว่าบิตคอยน์สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ ความเป็นไปได้ที่สองคือการผสมผสานระหว่างดีไฟและภาคการเงินดั้งเดิม สินทรัพย์ที่เหล่าสถาบันการเงินครอบครองไม่ว่าจะเป็นบ้าน ตราสารหนี้ หรือตราสารทุน อาจถูกถ่ายโอนไปยังระบบบล็อกเชน และความเป็นไปได้สุดท้ายคือการพัฒนาเศรษฐกิจจากระบบดังกล่าว เช่น การสร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นวีดิโอ ภาพ เพลง รวมทั้งเกมที่ซื้อขายบนบล็อกเชน เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตขายสินค้าโดยตรงให้กับผู้บริโภคแทนที่ต้องผ่านสารพัดแพลตฟอร์มตัวกลางแบบเดิม

 

เอกสารประกอบการเขียน

How to ensure that the future of work is fair for all

What are the key points of the Glasgow climate pact?

Decentralised finance is booming, but it has yet to find its purpose

Tags: , , , ,