วันนี้ (18 พฤษภาคม 2566) เวลา 10.00 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ได้ร่วมแถลงจุดยืนกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค ได้แก่ นายแพท ย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, และ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ​กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ในการจัดตั้ง ‘รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน’ ก่อนที่จะมีการนัดตกลงเซ็นต์ข้อตกลงร่วมอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 โดยจุดยืนทั้้ง 3 ข้อ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ทุกพรรคพร้อมที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน

2. ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม หรือ MOU (Memorandum of Understanding) ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกันและวาระร่วมของทุกพรรค โดยจะแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ณ ตอนนี้

3. ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยความเคารพในเสียงข้างมากของประชาชน

ต่อมา พิธาได้ระบุว่า ณ เวลานี้ พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการแบ่งคณะทำงานการบริหารออกเป็น 2 ทีม คือ 1.คณะเจรจา ที่ทำหน้าที่ในการสรรหาพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 313 เสียง และ 2.คณะเปลี่ยนผ่าน ที่จะรับทำหน้าที่วางแผนบริหารงานเพื่อให้พร้อมต่อการดำเนินนโบายต่างๆ ทันทีที่ตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ รวมถึงพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบในการโหวตเลือกนายกฯ ในสภา

“สำหรับวันนี้เป็นการแถลงจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคสังคมใหม่ ที่จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมีจำนวนผู้แทนราษฎรรวมทั้งสิ้น 313 ราย พวกเราทุกพรรคขอขอบคุณทุกเสียงที่ประชาชนมอบให้ เสียงของประชาชนทุกเสียงคือเสียงแห่งความหวัง คือเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน

“ทั้งสองคณะ คือคณะเจรจาและคณะเปลี่ยนผ่านได้มีการวางแผนไว้หลายรูปแบบว่า ในอนาคตจะมีฉากทัศน์ไหนเกิดขึ้นได้บ้าง แล้วฉากทัศน์แบบนี้เราจะต้องบริหารจัดการสถานการณ์อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงของความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เราไม่ได้กังวลอะไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ผมและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนได้จัดตั้ง ทั้งในเรื่องของจำนวนเสียงที่เหมาะสม หรือในเรื่องของการสานต่อในนโยบายที่เราควรจะทำ ตามที่พวกเราทุกพรรคบนโต๊ะนี้ได้สัญญาต่อประชาชนไว้

แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 ระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากได้รับเสียงจากพรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเจรจาหาแนวในการจัดตั้งรัฐบาลเพิ่มเติม เนื่องจาก 313 เสียงที่มีอยู่มากพอต่อกลไกถ่วงดุลประชาธิปไตยในสภา แม้จะมีความกังวลจากประชาชนว่า ตนจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หากไม่ครบ 376 เสียง โดยเฉพาะเสียงจากฝั่ง ส.ว.ที่ยังไม่สามารถคาดคะเนทิสทางลมได้แน่ชัด

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเร่งทำคือ การเรียงลำดับความสำคัญการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ทั้งเรื่องของปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบแบ่งตำแหน่งบุคลากรในกระทรวงต่างๆ แต่พิธายืนยันว่า ทุกพรรคจะได้ดำเนินนโยบายตามที่ให้คำสัญญากับประชาชนไว้

“ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเจรจาเพิ่มมากมาย อย่างสองพรรคที่มาร่วมแถลงในวันนี้ ก็เป็นผู้ที่เราติดต่อเข้ามา คณะกรรมการก็จะลองวินิจฉัยดูว่า ในเรื่องของจุดยืนและนโยบายถ้าเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้งจะสามารถร่วมงานกันได้ไหม ขณะเดียวก็ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ว่าดุลควรจะอยู่ตรงไหน ตรงจุดนี้เรามีคณะกรรมการที่ทำงานอยู่และผมก็เชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้

“ผมคิดว่า 313 เสียง ณ วันนี้ เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ เพราะฉะนั้น ในการที่เราจะต้องมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะหาให้ได้ครบ 376 เสียง ยังไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีหลายฉากทัศน์ที่เราคาดไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราจะมีกรอบในการเจรจาเพื่อหาตัวเลขที่สมดุลในการจัดตั้งรัฐบาล ที่จะสามารถลดความเสี่ยงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“เราคงจะได้ยินการแถลงของหัวหน้าพรรคแต่ละคนในหลายๆ รอบ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของ ‘เก้าอี้’ เสียส่วนใหญ่ว่าใครกระทรวงไหน เพราะเราเอาวาระประชาชนเป็นตัวตั้งและนโยบายแต่ละพรรคเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่างนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ เรื่องการกระจายที่ดิน เรื่องของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่อย่างน้อยต้องใช้ 7-8 กระทรวง เพราะฉะนั้น เราจะต้องเรียงลำดับความสำคัญคือปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้งก่อน แล้วค่อยมาตกลงกันว่า จะมีกระทรวงใดบ้างที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ เป็นองคาพยพเดียวกัน ระหว่างนี้ก็จะมีการอัปเดตให้พี่น้องประชาชนได้ฟังเรื่อยๆ จนกว่าเราจะจัดตั้งรัฐบาลได้ 100%”

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอย่างจุดยืนในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิธาตอบชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลล้วนมีจุดยืนเดียวกัน และได้ตกผลึกทางความคิดมาเป็นอย่างดี แต่จะขอแถลงรายละเอียดจริงๆ พร้อมกับในวันลงนามในข้อตกลงทีเดียว

“จุดยืนเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ตอนดีเบตหรือตอนก่อนเลือกตั้งได้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันเยอะและผมว่า แต่ละพรรคก็มีความชัดเจนในจุดยืนต่อมาตรา 112 พื้นที่ตรงนี้คงไม่เหมาะที่จะชี้แจงเรื่องเหล่านั้น เพราะผมเชื่อว่า ทุกพรรคก็ได้ชี้แจงจุดยืนร่วมไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรในน่ากังวลใจ เราตกผลึกประเด็นนี้ร่วมกันในทุกพรรค แต่อยากให้รอฟังรายละเอียดพร้อมกันในวันที่ 22 พฤษภาคม”

Tags: ,