วันนี้ (7 กรกฎาคม 2565) ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวตอนหนึ่งถึงมติของรัฐสภาในการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ให้มีมติว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 ในการคำนวณจำนวน ส.ส. ในสภา หลังการเลือกตั้งว่า การที่รัฐสภาผ่านระบบหาร 500 นั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับพรรคก้าวไกลนั้น มีเจตนาชัดเจนทั้งบทบัญญัติ และการอภิปรายกันตอนพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องการไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ไม่ใช่สัดส่วนผสม
ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยยึดกรอบเรื่องสัดส่วนผสม และหลักการการเลือกตั้งที่ถูกต้องมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม มติซึ่งที่ประชุมรัฐสภาผ่านเมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปเพื่อออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ดีให้กับประชาชน แต่เป็นไปเพื่อการตอบสนองความต้องการสืบทอดอำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงเท่านั้น และเห็นว่าได้นำไปสู่การโหวตที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการลงมติที่อัปยศที่สุด เพียงเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์
เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวอีกว่า หากร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งผ่านรัฐสภาไปได้ ตามกลไกมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องส่งร่างดังกล่าวให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง และหากมีการส่งความเห็นกลับมาว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกส่งกลับมาที่รัฐสภาให้แก้ไขอีกครั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลพร้อมต่อสู้เต็มที่ ให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ได้
“สิ่งที่กังวลมากที่สุดอีกอันที่ซ่อนเอาไว้ หากมีเจตนาสืบทอดอำนาจโดยไม่สนใจกระบวนการใดๆ สุดท้าย ด้วยความชุลมุนแบบนี้ อาจนำไปสู่เดดล็อก แล้วไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็นในที่สุด เท่ากับเอาเรื่องกติกาการเลือกตั้งไปไว้ในมือพลเอกประยุทธ์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ชัยธวัชระบุ
ด้าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และหนึ่งในคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งควรต้องออกแบบอย่างประณีต และเห็นแก่ประชาชน ควรต้องเสนอแก้ไขผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน สำหรับมาตราที่แก้ไขแค่ 3 มาตรา ซึ่งผ่านรัฐสภาในวาระแรกนั้น ทำให้ไม่มีทางเลือกในการเสนอระบบเลือกตั้งอื่น นอกจากเสนอระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน
ปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับในชั้นของกรรมาธิการนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา กรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันหลักการเรื่องการหาร 100 มาโดยตลอด ในส่วนของการหาร 500 นั้น เสียงเบามาก แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ว. ก็เปลี่ยนท่าทีว่าอย่างไรก็จะเอา 500 ให้ได้
“ผมยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อำนาจบริหารแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติอย่างน่าสงสัยที่สุด และท่าที ส.ว. เสนอทุบเพื่อจะโหวตอย่างเดียว ระบบการเลือกตั้งรอบนี้ อย่างไรก็ยังเป็นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มอำนาจเดิมเท่านั้น”
สำหรับพรรคก้าวไกลยืนยันว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ และจะต่อต้านกระบวนการสืบทอดอำนาจอย่างถึงที่สุด และเมื่อเดินไปถึงการเลือกตั้ง ต้องมีความหวังว่าจะชนะให้ได้ เมื่ออำนาจกลับมาสู่ประชาชนอีกครั้ง
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของ ส.ส. เพราะเห็นชัดเจนว่าสุดท้าย มีการ ‘กดปุ่ม’ ทำให้ท่าทีของ ส.ส. และ ส.ว. เปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง และกลับไปใช้ระบบหาร 500 สะท้อนความพยายามสืบทอดอำนาจ
“เราผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การออกแบบระบบที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่กลับอยู่บนพื้นฐานว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ สมการตรงนี้ไม่เคยมีประชาชนอยู่เลย” รังสิมันต์ระบุ
Tags: Report, ส.ส., ส.ว., ก้าวไกล