17 เมษายน 2565 ‘มิลลิ’ – ดนุภา คณาธีรกุล สร้างปรากฏการณ์ใหม่ จากการแสดงในเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ (Coachella) พร้อมกับนำเรื่องราวของไทยขึ้นไปบนเวทีด้วย เช่น การเปลี่ยนท่อนร้องเพลงบางท่อนเพิ่มเรื่องราวของ “เสาไฟกินรีต้นละแสน” หรือ “รถไฟไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัย ร.5 มีอายุ 120 ปี” รวมถึงการกินข้าวเหนียวมะม่วงขณะแรปบนเวที โชว์ Soft Power หรือ ‘อำนาจอ่อน’ แบบไทยๆ ผ่านทั้งการแสดงดนตรี แรป และที่สำคัญคืออาหารไทยผ่าน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’
ใช่ – ทุกหน้าร้อน ข้าวเหนียวมะม่วงทั้งอกร่อง และน้ำดอกไม้ มีขายข้างทางทั่วไป ตั้งแต่ในตลาดไปจนถึงภัตตาคารหรู เป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนไทยและต่างชาติ
แต่ที่จริงแล้ว ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ มีความหมายอีกแบบ – ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2519 ช่วงเวลานี้ เมื่อ 45 ปีก่อน พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งในเวลานั้นเพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เท่ากับว่าเขามีอำนาจสูงสุดในทางการทหารยุคนั้น
การเมืองไทยในปี 2519 ‘ทหาร’ ยังคงแย่งชิงอำนาจกันขึ้นเป็นใหญ่ ระหว่างพลเอกกฤษณ์ซึ่งมีอำนาจเดิมอยู่กับกลุ่มของจอมพล ถนอม กิตติขจร โดยในช่วงเวลานั้น พลเอกกฤษณ์วางแผนยาว คุมเกมได้ทั้งการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงวางผู้สืบทอดอำนาจในกองทัพไว้ทั้งหมด ซึ่งทำให้ฝ่ายจอมพลถนอม และฝ่าย ‘ขวาจัด’ บางปีกในกองทัพไม่พอใจ
วันที่ 16 เมษายน 2519 ก่อนที่พลเอกกฤษณ์จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลหม่อมเสนีย์ พลเอกกฤษณ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ด้วยอาการ ‘ท้องเฟ้อ’ หลังจากเล่นกอล์ฟ และรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง
ในตอนแรก วันที่ 20 เมษายน 2519 มีรายงานว่า พลเอกกฤษณ์มีอาการดีขึ้นแล้ว และเตรียมออกจากโรงพยาบาล แต่ในช่วงเช้าของวันที่ 23 เมษายน 2519 พลเอกกฤษณ์ก็อาการทรุดหนัก และถึงแก่อนิจกรรมในวัย 62 ปี โดยที่ครอบครัวของพลเอกกฤษณ์ไม่ได้ให้ข่าว และไม่ได้ชี้แจงใดๆ
ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวลือว่อนไปทั่วว่า ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่พลเอกกฤษณ์รับประทานนั้น ไม่ได้ซื้อเอง หากแต่มีคนนำมาให้รับประทาน จนมีกระแสข่าวเรื่องการถูก ‘วางยา’ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อพลเอกกฤษณ์เสียชีวิต ดุลอำนาจในกองทัพก็ปั่นป่วน หลายสายต่างแย่งชิงความเป็นใหญ่ จนจบลงด้วยการล้อมปราบประชาชน นิสิตนักศึกษา และการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ขณะเดียวกัน การเสียชีวิตอย่างลึกลับของพลเอกกฤษณ์ ทำให้ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ถูกบัญญัติด้วยความหมายใหม่ทางการเมืองไทย ซึ่งมีความหมายว่าเท่ากับ ‘ทำให้ตายก่อนวัยอันควร’ และใช้กันอย่างแพร่หลายในทศวรรษ 2520–2530 ว่าให้บรรดานักการเมืองและนายทหารระวัง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ให้ดี มิเช่นนั้นจะเป็นแบบเดียวกับพลเอกกฤษณ์
เรื่องนี้ มีความเกี่ยวข้องกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นกัน เพราะเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557 ระหว่างที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในเวลานั้น เดินทางไปเปิดอนุสาวรีย์ที่จังหวัดสกลนคร ได้ชี้ให้ดูป้าย ‘ทหารเรายืนอยู่บนเกียรติอันสูงส่ง ที่ประชาชนคนไทยหวังเป็นที่พึ่งขั้นสุดท้ายของเขา’ พร้อมกับข้อความว่า “ตรงจุดนี้ น่าจะให้ ผบ. ได้มาอ่านดูบ้างนะ” ซึ่งในเวลานั้น ผู้บัญชาการทหารบก มีชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การเมืองในเวลานั้น กำลังเข้มข้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาแล้ว กลุ่ม กปปส. ชุมนุมต่อเนื่องนานหลายเดือน แต่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ เพราะ กปปส. เรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการลาออก ข้อความของพลเอกเปรมจึงเสมือนส่งต่อไปถึงพลเอกประยุทธ์ให้รู้ว่า ‘ประชาชนคนไทย หวังให้ทหารเป็นที่พึ่งขั้นสุดท้าย’
น่าสนใจก็ตรงที่ว่า อนุสาวรีย์ที่พลเอกเปรมเดินทางไปเปิดนั้น เป็นอนุสาวรีย์ของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา และข้อความดังกล่าวก็เป็นข้อความของพลเอกกฤษณ์ ซึ่งทำให้หลายคนตกใจว่า ต่อไปพลเอกประยุทธ์จะโดน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ด้วยหรือไม่ หรือพลเอกเปรมกำลังกดดันให้พลเอกประยุทธ์ทำอะไรกันแน่
ในเวลาต่อมา พลโท ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 ในเวลานั้น ได้ออกมาแก้ข่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะ ผบ. ที่พลเอกเปรมหมายถึง ไม่ได้หมายถึงพลเอกประยุทธ์ แต่หมายถึง พลตรี ธนากร จงอุตส่าห์ ผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกสกลนครในตอนนั้น
ทั้งหมดนี้ คือความหมายแฝงของคำว่า ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ของหวานอันโอชะ ที่มีความหมายสุดร้อนแรง และดำรงอยู่คู่กับการเมืองไทยมาไม่ต่ำกว่า 4 ทศวรรษ
Tags: การเมืองไทย, มิลลิ, 6ตุลา, ข้าวเหนียวมะม่วง, กฤษณ์ สีวะรา