(1)

หากประวัติศาสตร์กระแสหลักคือการพูดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในแง่ที่ว่า พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจอยู่แล้ว ทรงเป็น ‘พ่อของแผ่นดิน’ นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ หนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่จะมาเล่าว่า ทั้งหมดมีกระบวนการที่น่าสนใจ เป็นพลวัต และไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

หลังจากอ่านเล่มนี้จบ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องของการ ‘เบิกเนตร’ ที่ไม่ต่างกับหนังสือ The King Never Smiles หนังสือต้องห้ามของ พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ที่คนไทยต้องแอบดาวน์โหลดเป็นเวอร์ชัน pdf และต้องแอบแปลกันเองเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

จริงอยู่ The King Never Smiles เป็นหนังสือที่ ‘ลึก’ กว่าหนังสือประวัติศาสตร์เล่มอื่น และเปลี่ยนมุมมองการมองประวัติศาสตร์ใหม่ โดยวิจารณ์พระมหากษัตริย์ในฐานะ ‘มนุษย์’ มากกว่าในสถานะที่แตะต้องไม่ได้ ล่วงละเมิดมิได้

แต่คำวิจารณ์ที่หลายคนมีต่อ The King Never Smiles เป็นต้นว่า อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิจารณ์ไว้ก็คือ หนังสือของแฮนด์ลีย์เขียนราวกับว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และกลุ่มจารีต เป็นผู้กระทำ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หรือเป็นศูนย์กลางในการ ‘กดปุ่ม’ ให้สิ่งต่างๆ สามารถเคลื่อนได้ตามใจชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มองเครือข่ายที่อยู่รอบๆ

แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ของ อาสา คำภา คือการตอบจุดบกพร่องที่นิธิวิพากษ์ และขยายปรากฏการณ์ให้ลึกขึ้นอีกด้วยการอธิบายว่าใครเป็นใคร เติบโตมาอย่างไร เข้าหากันได้อย่างไร และหากแตกหักกัน แตกหักกันด้วยเหตุใด รวมถึงเน้นย้ำในมุมที่ว่า พระราชอำนาจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เติบโต และดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผันในระบอบการเมืองไทย และการเมืองระหว่างประเทศนั้น เครือข่ายวัง ใช้วิธีใดในการรักษาพระราชอำนาจนั้นไว้ หรือเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจนำ

(2)

เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อปี 2489 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นเสวยราชย์นั้น การเมืองเต็มไปด้วยความผันผวน แม้จะมีการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งฝ่าย ‘นิยมเจ้า’ เป็นผู้ก่อการ แต่ฝ่ายเจ้า ก็ยังไม่ได้ครองอำนาจนำโดยสมบูรณ์แบบ ผู้เล่นในการเมืองไทย ยังมีทั้งคณะราษฎรเดิม กลุ่มซอยราชครู และกลุ่มเจ้า ที่ต้องฟื้นอำนาจขึ้นใหม่ หลังถูกลดบทบาทเรื่อยมา นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475

ในช่วงแรก ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ เล่าถึงการพยายาม ‘ฟื้นฟู’ พระราชอำนาจ ท่ามกลางความเปราะบางของสภาพการเมือง ไม่ใช่เพียงเฉพาะในเครือข่ายของพระองค์ หากแต่ยังรวมถึงการประสานประโยชน์ใน 3 กลุ่มหลัก นั่นคือกลุ่มทหาร กลุ่มพ่อค้า – นักธุรกิจ และกลุ่มนักการเมือง โดยใช้คำอธิบายที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในหนังสือ ว่านั่นคือความสัมพันธ์แบบ ‘อิสระเชิงสัมพัทธ์’ คือหนุนเสริมกันและไม่ก้าวก่ายกัน จนได้ผลลัพธ์ว่าต้องอยู่กันอย่างไร อำนาจทั้งหมดจึงจะ ‘ลงตัว’

จุดที่น่าสนใจที่สุด และหนังสือเล่มนี้พยายามเสนอประเด็นใหม่ก็คือช่วงเวลาเกือบ 30 ปีของรัชสมัย นับตั้งแต่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงยุค พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นที่รู้กันว่า ยุคจอมพลสฤษดิ์นั้นพยายามฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และฟื้นฟูความเป็นขุนพลคู่ราชบัลลังก์ของจอมพลสฤษดิ์เอง แน่นอนว่า การเสด็จเยือนหลายประเทศทั่วโลก เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ เช่นเดียวกับโครงการในพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ โดยเป็นแนวคิด ‘ราชประชาสมาสัย’ นั่นคือ อำนาจนำจะเกิดขึ้นฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยพลังของทั้งรัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน มีส่วนร่วมกันสร้าง

ถึงกระนั้นเอง หลังการตายของจอมพลสฤษดิ์อย่างกะทันหันในปี 2506 แต่พระราชอำนาจของในหลวง ก็ไม่ได้ลดลงไป หากแต่มีชีวิตอยู่ได้ในแบบที่อาสาเรียกว่า ‘มีชีวิตอิสระขึ้นมาของตนเองอย่างงดงาม’ วังเลือกทิ้งระยะห่างกับ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ทั้งยังใช้ช่วงเวลานี้ก่อร่างสร้าง ‘ข้าราชการสายวัง’ เป็นต้นว่า สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือพ่วง สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เชี่ยวชาญในการถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

และแม้ในช่วงการเติบโตของจอมพลถนอม จอมพล ประภาส จารุเสถียร คู่เขยของจอมพลถนอม และผู้มากบารมีในรัฐบาลจะยิ่งใหญ่มาก รวมทั้งมีบทบาทผ่านทั้งการคุมกระทรวงมหาดไทย และเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ แต่จอมพลประภาสก็ยังมีระยะห่างกับวัง อีกทั้งในเวลาที่รัฐบาลจอมพลถนอม ใช้เวลากับการจัดการกับผู้ก่อการคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด เครือข่ายในหลวงกลับสร้างวิธีจัดการกับคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเอง ผ่านแนวทาง พ (พลเรือน) ต (ตำรวจ) และ ท (ทหาร) ในการเน้นพัฒนาชนบทและเอาชนะใจมวลชน

วิธีเช่นนี้ทำให้ในช่วงเวลาที่รัฐบาลจอมพลถนอมเพลี่ยงพล้ำ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ซ้ำยังสร้างเครือข่าย ทหาร – ข้าราชการ กลุ่มใหม่ ที่ใกล้ชิดกับวังโดยตรง ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากต่อไปในทศวรรษ 2520–2530

(3)

นักประวัติศาสตร์หลายคน รวมถึงอาสา เห็นว่า 14 ตุลาคม 2516 คือจุดสูงสุดจุดหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะเมื่อในหลวงทรงมีพระราชดำรัสออกโทรทัศน์ พร้อมกับทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ สัญญา ธรรมศักดิ์ และทรงมีพระราชดำรัสว่า ทั้งสองจอมพล รวมถึง พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ได้ออกนอกประเทศไปแล้ว

ทว่า สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ มีบทบาทอย่างไรกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งก่อนเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์

อาสารวบรวมเอกสาร หลักฐาน และคำให้สัมภาษณ์ ก่อนจะพบว่ามี ‘ข่าวลือ’ ในเรื่องความขัดแย้งระหว่าง ‘วัง’ กับรัฐบาล ในแง่หนึ่งคือการเดินสายเล่นดนตรีกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งในเวลาเดียวกัน ก็ทรงมีพระราชดำรัสเหน็บแนมการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลจอมพลถนอมไปด้วย จนอุดมการณ์ ‘ราชาชาตินิยม’ ในหมู่นักศึกษา ได้ก่อตัวขึ้น

และในเวลาเดียวกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เริ่มมี ‘ที่ปรึกษา’ อย่าง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งใกล้ชิดกับวังมากขึ้น รวมถึงยังมีเครือข่ายตุลาการรายล้อมอยู่ด้วย ภายใต้ สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยในเวลาที่เครือข่ายทหารพยายามรวบอำนาจมากเกินไป แน่นอนว่าย่อมสร้างความสั่นคลอนให้กับเครือข่ายอื่นๆ และสถาบันฯ เองก็รู้สึกสั่นคลอน

พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หลายปีว่า ผู้ที่มีบทบาทในการโค่นล้มรัฐบาลก็คือ สัญญา ธรรมศักดิ์, ประกอบ หุตะสิงห์ รวมถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีบทบาทสำคัญทางการเมืองหลังจากนั้น

ที่น่าสนใจก็คือการพยายามจัดการอำนาจทางการเมืองของเครือข่ายวังในภาวะสุญญากาศ… เราต่างก็รู้กันว่า มีการก่อร่างของ สมัชชาแห่งชาติ หรือสภาสนามม้า ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นมา 2,347 คน โดยในเวลาต่อมา ต้องคัดเลือกกันเองให้เหลือ 299 คน เพื่อเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นประธาน

แน่นอนว่านี่คือวิธีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการทรงไม่เลือก ไม่รวบอำนาจ แต่งตั้งผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง หากแต่ให้บรรดา 2,347 คน ไปเลือกกันแบบไขว้ไปมา จนสามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ได้ในที่สุด

“จำไว้ว่าสถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ ก็ต่อเมื่อเกิด Void สุญญาการทางการเมืองจริงๆ อย่าง 14 ตุลาฯ แต่เมื่อจัดการช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ หมายถึงส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย” คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำรัสกับ หม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ เลขาธิการคณะองคมนตรี ซึ่งหนังสือเล่มนี้ นำมาอธิบายพระราชอำนาจนำไว้ด้วย

(4)

กว่าจะครองอำนาจนำ ยังได้อธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไว้อย่างน่าสนใจ จริงอยู่ หากมองให้ลึกลงไปกว่าเหตุการณ์ผิวเผิน ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือการแย่งชิงอำนาจกันของชนชั้นนำหลายกลุ่ม ทั้งก่อนและหลังการเสียชีวิตของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ ‘หวาดกลัว’ คอมมิวนิสต์ ของชนชั้นนำ จนสุดท้าย นักศึกษาได้กลายเป็น ‘เหยื่อ’ ของการสังหารโหด เพื่อปูทางนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นการแย่งชิงอำนาจกันของกลุ่มทหาร – นักการเมือง หลายกลุ่มในวันเดียวกัน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวในหนังสือเล่มอื่นๆ มักจะเป็นประวัติศาสตร์จาก ‘คำบอกเล่า’ หรือจากความทรงจำที่อาจมีอคติเจือปน แต่ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ คัดสรรประเด็นดังกล่าวไว้อย่างเป็นระบบ เสนอประเด็นตั้งแต่ ความผิดพลาดของรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่เอียง ‘ซ้าย’ เกินไป จากนโยบายเงินผัน เพื่อกระจายเงินสู่ชนบท การเปิดสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ขณะที่รัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ในเวลาต่อมาก็อ่อนเกินไปในการจัดการกับบรรดานักศึกษาเอียงซ้าย ซ้ำยังมีส่วนผสมของพรรคแนวร่วมสังคมนิยมหรือพรรคซ้ายเข้ามาในสภาจำนวนมากเกินไป

ในเวลาเดียวกัน สุญญากาศในบรรดา ‘ผู้นำทหาร’ หลังจาก พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายจากการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง ก็ทำให้แต่ละฝ่าย ล้วนแย่งกัน ‘ขวา’ แย่งกันขึ้นเป็นใหญ่ และพากันเข้าใกล้เครือข่ายวัง จนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารในเวลาต่อมา กระทั่งได้ผู้ใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีขวาจัด

แต่การขวาเกินไปของธานินทร์ การละเมิดฉันทามติที่แต่ละกลุ่มควรเป็น ‘อิสระเชิงสัมพัทธ์’ ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ไปสู่การรวบอำนาจ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่ได้มีมากพอในการ ‘ต่อรอง’ กับคณะรัฐประหารในเวลานั้น ก็ทำให้ธานินทร์ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียงปีเศษๆ ไม่สามารถอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง และหลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีทันที

(5)

ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีที่ประสานประโยชน์กับสถาบันฯ ได้มากที่สุดก็คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีความใกล้ชิดทั้งกับวังและกับขุนทหารในยุคนั้นอย่างไม่มีที่ติ เขาเคยร่วมงานกับสถาบันฯ มาตั้งแต่ยังทำโครงการ พตท สมัยที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ซ้ำพลเอกเปรมยังสามารถสละอำนาจจากคณะทหารที่มีอิทธิพลในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ว่าจะกลุ่มของ พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ กลุ่มของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือกลุ่ม ‘ยังเติร์ก’ ที่พลเอกเปรมเอาชนะได้ผ่านการปราบกบฏเมษาฮาวาย ด้วยการอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เพื่อต้านการรัฐประหาร จนสามารถสร้างเครือข่ายทหารใหม่ กลุ่ม ‘ลูกป๋า’ ได้ด้วยตัวเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคพลเอกเปรมยังสามารถจัดสรรปันส่วนอำนาจให้กับทั้งกลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้การดำรงอยู่ในฐานะนายกฯ ของพลเอกเปรม ยาวนานถึง 8 ปี ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนก็ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจ ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยมีพลเอกเปรมนั่งเป็นนายกฯ ได้ด้วยตัวเอง

‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ยังให้ข้อมูลด้วยว่าจุดสูงสุดของรัฐบาลเปรมในการฟื้นฟูพระราชอำนาจ คือการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2525 เพื่อสดุดีสถาบันฯ พร้อมกับจัดการภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ไปได้ด้วยคำสั่ง 66/23 และคำสั่ง 65/25 ไปในเวลาใกล้เคียงกัน พลเอกเปรมจึงเป็นนายกฯ ที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ที่สุดสำหรับสถาบันฯ ทำให้สามารถครองอำนาจคู่ราชบัลลังก์ได้อย่างยาวนาน และเป็นนายกฯ เพียงคนเดียวที่ลงจากตำแหน่งได้อย่างสง่างาม มีชื่อห้อยท้ายด้วยคำว่า ‘ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ’

แต่ทั้งหมดคือทศวรรษ 2500–2530 ที่ยังไม่ได้มีความท้าทายจากโลกาภิวัตน์ การเมืองยังไม่ได้มีความเข้มแข็ง ประชาชนยังเป็นแค่ตัวประกอบ ไม่ได้เป็น ‘ผู้เล่น’ ในวงจรอำนาจ

แน่นอนว่าความซับซ้อนที่เกิดขึ้นหลังทศวรรษ 2540 ได้ท้าทายอำนาจของสถาบันฯ และทุกอย่างก็เปลี่ยนไปดังที่อาสาเขียนไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือว่า ฉากทัศน์สุดท้ายของ ‘พระราชอำนาจนำ’ และสิ่งที่เรียกว่า ‘ฉันทามติภูมิพล’ นั้น ได้ปิดลงไปแล้ว พร้อมกับการเสด็จสู่สวรรคาลัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

กระนั้นเอง บทเรียนในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น ทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะกับ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้องการศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน กระทั่งทำความเข้าใจตัวละครต่างๆ ว่า ‘ใครเป็นใคร’ พร้อมกับนำมา ‘ทาบ’ กับตัวละครในปัจจุบัน ที่แม้บริบทจะเปลี่ยนไป แต่เกมการเมืองหลายอย่างก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร้ที่ติ

บทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ชนชั้นนำ’ นั้น ไม่สามารถรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง หรือกินรวบได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเมื่อคิดจะรวบอำนาจเมื่อไร ไม่แบ่งอำนาจเมื่อไร ตอนจบก็อาจใกล้เข้ามามากขึ้นเมื่อนั้น…

Fact Box

กว่าจะครองอำนาจนำ, ผู้เขียน อาสา คำภา, จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, จำนวน 587 หน้า, ราคา 650 บาท

Tags: , , ,