เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน 2023) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า กระทรวงการสื่อสารและดิจิทัล (Communications and Digital Ministry: KKD ในภาษามาเลย์) ของประเทศมาเลเซีย เตรียมใช้นโยบาย ‘ตัดจบ’ คอนเสิร์ต หากศิลปินบนเวทีแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
มาตรการข้างต้นเกิดจากกรณี The 1975 แสดงพฤติกรรมต่อต้านบนเวทีในเดือนกรกฎาคม 2023 หลัง แมตตี ฮีลีย์ (Matty Healy) นักร้องนำของวง ดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการแสดง และออกโรงวิจารณ์กฎหมายต่อต้าน LGBTQIA+ ในมาเลเซีย ก่อนหันไปจูบปาก รอส แม็กโดนัลด์ (Ross MacDonald)
นั่นจึงทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ‘ห้ามรักร่วมเพศ’ ของมาเลเซีย ขณะที่กลุ่ม LGBTQIA+ ในท้องถิ่นประณามการกระทำดังกล่าวว่า อาจกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหวความเท่าเทียมทางเพศระดับชาติ
อย่างไรก็ตาม เถียว หนีเชียง (Teo Nie Ching) รัฐมนตรีหญิงประจำกระทรวงการสื่อสารและดิจิทัล เปิดเผยนโยบายใหม่ในวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ทางการจะ ‘ดับไฟ’ เพื่อไม่ให้การแสดงดำเนินต่อได้ หากศิลปินแสดงพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมระหว่างแสดงคอนเสิร์ต
“นี่เป็นวิธีการเบื้องต้นจากปัญหาครั้งนั้น (กรณี The 1975) กระทรวงการสื่อสารและดิจิทัลหวังว่า ด้วยมาตรการที่เข้มงวดเช่นนี้ เราจะสามารถทำให้ศิลปินต่างชาติปฏิบัติตัวตามกรอบวัฒนธรรมของมาเลเซียได้” รัฐมนตรีหญิงชี้แจงเหตุผล หลัง ซัลกิฟลี อิสมาอิล (Zulkifli Ismail) สมาชิกรัฐสภาจากเมืองจาซิน (Jasin) ชักถามถึงนโยบายรัฐบาลต่อการขึ้นบัญชีดำ The 1975
ขณะเดียวกัน กระทรวงการสื่อสารและดิจิทัลจะทำหน้าที่ ‘ตรวจสอบปูมหลังของศิลปิน’ ตามคำขอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย (Royal Malaysia Police: PDRM ในภาษามาเลย์) เพื่อป้องกันเหตุไม่เหมาะสมเบื้องต้น
นอกจากนี้ สำนักงานกลางภาพยนตร์และการแสดงของศิลปินต่างชาติ (Central Agency for Filming and Performance by Foreign Artistes: PUSPAL ในภาษามาเลย์) จะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต โดยประจำการในสถานที่ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในงาน
แม้มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้คนบางส่วนหวาดกลัวว่า ศิลปินจะไม่เดินทางมาประเทศมาเลเซีย เพราะกลัวการเผชิญหน้ากับกฎหมายที่เข้มงวด แต่ Future Sounds Asia กลุ่มผู้จัดเทศกาล Good Vibes แสดงความคิดเห็นผ่าน แชนเนลนิวส์เอเชีย (Channel News Asia) สื่อสิงคโปร์ว่า นโยบายของรัฐบาลจะไม่กระทบต่อความสนใจของศิลปินต่างชาติแน่นอน
ทั้งนี้ ผู้จัดเทศกาล Good Vibes ให้เหตุผลว่า จากเหตุการณ์ของ The 1975 ทำให้ศิลปินหลายคนตระหนักต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละประเทศ และทางบริษัทก็จัดเตรียมมาตรการดังกล่าวในคอนเสิร์ตครั้งต่อไป โดยคำนึงปัจจัยต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกกับทุกฝ่าย
“ทางเทคนิค ทีมโปรดิวเซอร์ของเรากำลังหาหนทางหยุดการแสดงอย่างปลอดภัย โดยไม่กระทบต่องานทั้งหมด หรือเกิดความเสียหายต่อภาพและเสียงที่ใช้ในการแสดง” Future Sounds Asia ระบุ และเสริมว่า บริษัทยินดีจะทำงานร่วมกับกระทรวงการสื่อสารและดิจิทัลเสมอ หากแต่ต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสั่งหยุดคอนเสิร์ต และระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่ต้องตัดจบการแสดง
ขณะนี้ การเกิดขึ้นของมาตรการดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายจับจ้องไปที่คอนเสิร์ตของวงโคลด์เพลย์ (Coldplay) ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เมื่อพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia: PAS) พรรคอนุรักษนิยมที่สนับสนุนการตีความกฎหมายอิสลามสุดโต่ง เคยเรียกร้องให้ยกเลิกการแสดงข้างต้น เพราะอาจทำให้สังคมวิปริตและสนับสนุนแนวคิดสุขนิยม (Hedonism)
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ คริส มาร์ติน (Chris Martin) นักร้องนำของวงเคยถือธงสีรุ้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQIA+ โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมาเลเซียอย่างน่าสนใจว่า
“ทุกคนเป็นที่ต้อนรับสำหรับการแสดงของพวกเรา เรารักผู้คน คนทุกประเภท ทุกศาสนา” คริส มาร์ตินกล่าว
อ้างอิง
Tags: Coldplay, รัฐบาลมาเลเซีย, อาเซียน, มาเลเซีย, LGBTQ, มุสลิม, คอนเสิร์ต, ความเท่าเทียมทางเพศ, the 1975, LGBTQIA+, แบนคอนเสิร์ต, ยกเลิกคอนเสิร์ต