วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า จากการหารือกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวานนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2567) ว่า ในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดภาวะประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย เอกชนไม่กล้าลงทุน ส่วนการลงทุนกับต่างชาติรัฐบาลถือว่าประสบความสำเร็จแต่กว่าจะมีผลต้องใช้เวลา ขณะที่ภาคการบริโภคชะลอตัวลง เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากการลดปัจจัยพลังงานของรัฐบาล แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ประชาชนประคับประคองตัวเองในภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤตขนาดนี้ได้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่อยู่ที่ 2.5% ยืนยันว่า ดูดซับสภาพคล่องจากระบบไปมากพอสมควร สะท้อนว่าประชาชนเหมือน ‘ปลา’ ในบ่อ เมื่อน้ำน้อย ประชาชนก็ดิ้น อยู่ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำลงในบ่อ นั่นคือการเติมเม็ดเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลมองว่ากลไกที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่ คือการออกพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อท้วงติง จึงหารือกันว่าจะต้องรอความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไรก็ตาม รอมาจนถึงขณะนี้ก็ยังคงไม่มีความชัดเจน ทราบเพียงข่าวจากสื่อว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์นี

“สิ่งที่ ป.ป.ช.จะส่งมา คือข้อเสนอแนะและความห่วงใย ไม่สามารถจะมากำหนดทิศทางนโยบายของเราได้ หากรัฐบาลจะทำก็ทำคู่ขนานไปเลย

สำหรับข้อกังวลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน มีความพยายามป้องกันผ่านการตั้งอนุกรรมการติดตามโครงการล่วงหน้า เพื่อวางแผน กำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดรูปแบบการทำงานว่าจะไม่เกิดการทุจริต ไม่เกิดการใช้เงินผิดประเภท ทว่าทั้งหมดต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชนและภาคเอกชน โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารับฟังความเห็นและเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ ยังได้รับเสียงสะท้อนจากธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนมาก ที่มองเห็นประโยชน์และอยากเข้ามามีส่วนร่วมให้มีแอปพลิเคชันกลางของภาครัฐ เพื่อเชื่อมต่อกับสถาบันการเงินได้ จึงเตรียมสร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างธนาคารพาณิชย์กับระบบดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้กลไกสามารถใช้งานได้ครอบคลุมและกว้างขวางมากขึ้น

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า ไทม์ไลน์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในขณะนี้ขยับออกไปจากเดือนพฤษภาคม แต่ไทม์ไลน์ใหม่จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยืนยันว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด จะไม่หยุดรอแม้มีอุปสรรค ทั้งนี้ไม่ขอให้คำตอบว่าจะทันในไตรมาส 3 หรือไม่ และขณะนี้ยังไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนขั้นตอนทางกฎหมายมีการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของแอปพลิเคชันยืนยันว่ายังคงใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องออกเป็น ‘พระราชกำหนด’ กู้เงิน แทนพระราชบัญญัติ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาหรือไม่ จุลพันธ์ระบุว่าพระราชกำหนดถือเป็นเครื่องมือในมือของรัฐบาลอยู่แล้ว และที่สำคัญคือมีกลไกเดินหน้ามากกว่า 1 ตัวเลือกอยู่ตลอด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้คิดและไม่ได้หารือว่าจะใช้พระราชกำหนดหรือไม่ แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจไปถึงจุดที่จำเป็น ก็อาจจะต้องมาหารื

สำหรับคณะอนุกรรมการติดตามฯ จะมีการตั้งภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งต้องติดตามบอร์ด โดยบอร์ดชุดใหญ่ไม่มีกรอบระยะเวลาการทำงาน เพราะต้องอยู่ยาวจนกว่าจะเสร็จภารกิจ ส่วนคณะอนุกรรมการฯ จะตีกรอบระยะเวลา อาจเป็น 2-3 สัปดาห์ต้องจบ ขณะที่ไทม์ไลน์ของบอร์ดชุดใหญ่จะต้องเคาะก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี โดยหวังว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะต้องเรียบร้อย

Tags: