เมื่อวานนี้ (10 ตุลาคม 2022) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า หากมนุษย์ต้องการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน และสภาวะโลกแปรปรวนอย่างมีประสิทธิภาพ การให้สิทธิในการดำรงอยู่ตามกฎหมายต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น สัตว์ ต้นไม้ แม่น้ำ และลำธาร เป็นสิ่งจำเป็น 

บทความ ‘Law in the Emerging Bio Age’ เผยแพร่ในเว็บไซต์สมาคมทนายความอังกฤษและเวลส์ (The Law Society) เมื่อวานนี้ ระบุว่า สิทธิตามกฎหมายของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มีความสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ที่กระทำต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์กับสัตว์ มนุษย์กับต้นไม้ หรือมนุษย์กับแม่น้ำ 

ประเทศเอกวาดอร์และโบลิเวียให้สิทธิทางกฎหมายต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ในฐานะปัจเจก หากการกระทำใดก็ตามที่ละเมิดสิทธิ ‘พวกเขา’ นับเป็นความผิดที่ต้องดําเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Crime Court: ICC) 

เวนดี ชลูทซ์ (Wendy Schultz) นักอนาคตนิยมและหนึ่งในผู้เขียนบทความ ระบุว่า ประชาชนส่วนหนึ่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่า หากทุกคนอยากให้ลูกหลานมีโลกที่อุดมสมบูรณ์เพื่ออยู่อาศัย พวกเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อสัตว์ ต่อธรรมชาติ และต่อสิ่งแวดล้อม การให้สิทธิในการดำรงอยู่โดยปราศจากการรบกวนต่อธรรมชาติ คือเทรนด์ในอนาคตที่จะแก้ไขปัญหาโลกแปรปรวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“เทรนด์นี้สำคัญมากจนกระทั่งฉันไม่จำเป็นต้องพูดว่ามันสำคัญด้วยซ้ำ”

ทริช โอฟลินน์ (Trish O’Flynn) นักวิจัยแบบสหวิทยาการและหนึ่งในผู้เขียนรายงานดังกล่าว ระบุว่า ตัวบทกฎหมายควรมีใจความครอบคลุมมากกว่าแค่มนุษย์ กล่าวคือกฎหมายควรคุ้มครองทั้งสัตว์ แม่น้ำ ลำธาร ต้นไม้ ใบหญ้า หรือแม้กระทั่งก้อนหิน 

“หลายครั้งมนุษย์มองว่าตัวเองอยู่เหนือธรรมชาติ มองธรรมชาติเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการหาผลประโยชน์ แต่แท้จริง มนุษย์เองที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราเป็นแค่สปีชีส์หนึ่งเท่านั้น

“มนุษย์ขึ้นไปอยู่บนยอดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารเพียงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา กระนั้นธรรมชาติก็ยังมีสิ่งที่เหนือกว่าเราเสมอ นั้นก็คือ ‘ระบบนิเวศ’ ที่คอยควบคุมทุกสรรพสิ่งรวมถึงมนุษย์ให้เป็นไปตามระบบแบบแผนของสมดุลธรรมชาติ”

โอฟลินน์กล่าวว่า กฎหมายที่กล่าวมาอาจครอบคลุมถึงการให้สิทธิธรรมชาติ หรือให้สิทธิแต่ละสปีชีส์ในฐานะปัจเจกบุคคล และอนุญาตให้พวกเขาเข้าถึงศักยภาพทางปัญญา อารมณ์ และสังคมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ การห้ามพรากลูกวัวออกจากแม่ หรือแม้กระทั่งการการห้ามแยกลูกสุนัขหรือลูกแมวออกจากพ่อแม่

นักวิจัยจำนวนหนึ่งตั้งคำถามในเชิงจริยธรรมต่อการใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพในการนำสัตว์ที่สูญพันธ์ุแล้วกลับมา หรือความพยายามกำจัดสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ให้สิ้นซาก เช่น การชุบชีวิตแมมมอธขนแกะ (Woolly Mammoths) ที่สูญพันธ์ุ หรือการกำจัดยุงทุกตัวบนโลกเพื่อป้องกันมนุษย์จากโรคไข้มาลาเรีย (Malaria)

ชลูทซ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังไม่ฉลาดมากพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการกระทำที่กล่าวมา แต่จุดเริ่มต้นหรือแนวคิดของกฎหมายฉบับนี้เพียงต้องการให้มนุษย์รับผิดชอบ และใส่ใจกับผลของการกระทำของตัวเองต่อธรรมชาติเท่านั้น

ผู้เขียนรายงานทั้งสองยอมรับว่า หากกฎหมายคุ้มครองธรรมชาติฉบับนี้ประกาศใช้ในประเทศแถบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่บังคับใช้กับสัตว์และแม่น้ำ ประชาชนจำนวนหนึ่งอาจต่อต้าน เนื่องจากกฎหมายเหล่านั้นขัดต่อความเชื่อและประเพณีของพวกเขา

ในขณะที่เอกวาดอร์และโบลิเวีย ประชาชนยอมรับกฎหมายดังกล่าวอย่างมาก เนื่องจากสิทธิของธรรมชาติได้รับการรับรองจากรัฐบาลสังคมนิยม ประกอบกับความเชื่อของชนพื้นเมืองเดิม เช่นเดียวกับการห้ามปีนเขาอูลูรู (Uluru) ในออสเตรเลีย 

“หากแนวคิดสากลนี้สามารถบัญญัติเข้าไปในกฎหมาย โดยให้สิทธิความเป็นปัจเจกบุคคลต่อจิตวิญญาณของแม่น้ำ ของต้นไม้ หรือแม้กระทั่งจิตวิญญาณของช้าง นี่คือการให้ความสำคัญกับทุกสิ่งบนโลกนี้อย่างเท่าเทียมและอย่างแท้จริง 

“ท้ายที่สุด ปัญหาการใช้ผลประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจะหมดไป ทรัพยากรธรรมชาติอาจกลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม”

ที่มา:

https://www.lawsociety.org.uk/topics/research/law-in-the-emerging-bio-age

https://www.theguardian.com/environment/2008/sep/24/equador.conservation

https://www.theguardian.com/environment/2011/apr/10/bolivia-enshrines-natural-worlds-rights

Tags: , , , , , ,