เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา ‘KKP AHEAD 2024 A Pathway to Prosperitys’ ว่าด้วยอนาคตตลาดรถ EV โอกาสใหม่เศรษฐกิจไทยว่า ในปี 2566 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว มียอดขายมากกว่า 7.3 หมื่นคัน ถือเป็นกว่า 40% ของยอดขายยานยนต์ทั้งหมด เติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าหากเทียบกับปี 2565 ซึ่งการซื้อขายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ ประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Rêver Group กล่าวเสริมว่า มีหลายเหตุผลที่ส่งเสริมให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีการเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจากภาครัฐที่ช่วยลดภาษีนำเข้าและสรรพสามิตทำให้รถ EV มีราคาที่ถูกลง ความง่ายของการใช้งานยานยนต์ ปัจจัยด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลคือการที่ผู้บริโภคแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านชุมชนของตนเอง ทำให้สร้างการรับรู้และช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคให้หันมามองยานยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือก

ด้าน สุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานประกอบยานยนต์กว่า 23 โรงงาน และมีแรงงานกว่า 7 แสนรายในอุตสาหกรรม ซึ่งเรามีความแข็งแกร่งในเรื่องของการประกอบ (Mechanic) แต่ยังขาดความพร้อมด้านแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น หากประเทศไทยต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% เรายังไม่พร้อมและขาดองค์ความรู้เป็นอย่างมาก คำถามสำคัญคือเราจะต้องปรับตัวอย่างไรให้พร้อม คาดว่าอาจใช้เวลากว่า 5 ปีในการปรับตัว และหากมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น (Localization) จะทำให้อุตสาหกรรมมีอัตราการเรียนรู้ที่เติบโตมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จะต้อง Reskill และ Upskill ให้กับแรงงานในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สุพจน์ยังมองเห็นโอกาสในตลาดยานยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine: ICE) อยู่ กล่าวคือหากหลายประเทศยกเลิกการผลิตยานยนต์สันดาปแล้วเช่นเยอรมนี ไทยก็ยังสามารถใช้โอกาสที่มีมากว่า 50 ปี เป็นฐานการผลิตได้อยู่ เพราะยังมีตลาดอีกหลายตลาดที่ยังคงต้องการยานยนต์สันดาป เช่น ภูมิภาคแอฟริกาและ CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) นอกจากนี้ผู้ผลิตยานยนต์สันดาปในประเทศก็ยังมีโอกาสที่หันไปทำธุรกิจอื่นๆ ซึ่งยังใช้องค์ความรู้ที่มีได้ เช่น อุตสาหกรรมในระบบราง และอุปกรณ์ทางการเกษตร

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีที่หากประเทศไทยมีการขุดพบแร่ลิเทียมจริง จะสามารถเป็น Game Changer ให้กับอุตสาหกรรมได้หรือไม่ สุพจน์ตอบว่า ยังเร็วไปที่จะตอบว่าจะสามารถเปลี่ยนเกมได้หรือไม่ เพราะต้องดูปริมาณสำรองของแร่ และกฎระเบียบในการขุดเจาะประกอบด้วย นอกจากนั้น ต้องอาศัยเทคโนโลยีซึ่งยังขาดแคลนมาทำเป็นแผงเซลล์แบตเตอรี่ด้วย ส่วนพรประภากล่าวในลักษณะเดียวกันว่า ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่ในอนาคตถือว่าเป็นโอกาสที่ต้องจับตาดูต่อไป

Tags: , , , , ,