Photo: Apple

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Apple ได้ปล่อยระบบปฏิบัติการเวอร์ชันทดลอง (beta) iOS 10.2 สำหรับ iPhone ,iPad และ iPod touch ให้เราเข้าไปโหลดใช้กันได้ หลังจากก่อนหน้านี้ถูกจำกัดสิทธิ์ดาวน์โหลดสำหรับนักพัฒนาที่ได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

นอกจากวอลล์เปเปอร์ใหม่ และลูกเล่นการใช้งานกล้องเวอร์ชันอัพเกรดแล้ว ‘อิโมจิ’ ก็เป็นอีกหนึ่งในจุดชูโรงของ iOS เวอร์ชันนี้ ความพิเศษของอิโมจิบน Unicode 9.0 ใน iOS 10.2 คือการเพิ่มอิโมจิใหม่ๆ เข้าไปมากกว่า 72 ตัว ทั้งอิโมจิยักไหล่, facepalm (เอามือปิดหน้าข้างหนึ่งด้วยความเบื่อหน่าย),ไขว้นิ้ว, กอริลลา (เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก Harembe)

หรือแม้แต่อิโมจิชายหญิงเพนต์หน้าสายฟ้าฟาดคล้ายศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับอย่าง เดวิด โบวี ในอัลบั้มชุดที่ 6 Aladdin Sane (1973) ยิ่งไปกว่านั้นอิโมจิชุดใหม่ยังมีตัวละครอาชีพต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ทั้งนักดับเพลิง นักบิน นักอวกาศ คุณครู ผู้พิพากษา ความสดใหม่ของมันอยู่ที่มีตัวละครหลากหลายทางเพศ (ทุกอาชีพมีให้เลือกทั้งชายและหญิง) ไปจนถึงสีผิวโทนต่างๆ (ที่มีมาตั้ง iOS 8.3 ในปี 2015)

เชื่อกันว่าการเพิ่มอิโมจิในครั้งนี้ ให้แต่ละสายอาชีพ หรืออิริยาบถแต่ละท่าทางมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเป็นผลพวงต่อเนื่องจากการร่วมรณรงค์แคมเปญอิโมจิกับความหลากหลายทางเพศและสีผิว (#emojiethnicityupdate) ของนักร้องสาวอดีตเคยแรงอย่าง ไมลีย์ ไซรัส

น่าสนใจว่าการเพิ่มอิโมจิ 72 ตัว ในครั้งนี้บน Unicode 9.0 และทำให้เรามี อิโมจิใช้กว่า 1,800 คาแรกเตอร์ จะพุ่งไปหยุดที่จำนวนเท่าใด

จุดกำเนิดสัญลักษณ์สื่ออารมณ์

อิโมจิ หรือที่เรียกว่าอิโมติคอน (emotion+icon) สัญลักษณ์สื่ออารมณ์ต่างๆ ถูกคิดค้นโดยชาวญี่ปุ่น และเป็นรูปแบบของชุดโค้ดคำสั่งซึ่งถูกฝังลงไปในคีย์บอร์ดในสมาร์ตโฟน

มีหลักฐานว่าอิโมจิเคยถูกใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1860 แล้วด้วยซ้ำ! บางข้อมูลอ้างว่าในสุนทรพจน์ของ อับราฮัม ลินคอล์น เคยปรากฏสัญลักษณ์อิโมจิหน้ายิ้ม แม้จะมีหลักฐานว่าอิโมจิถูกใช้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนคิดค้นอิโมติคอนคนแรกก็คือ สกอตต์ ฟาห์ลแมน (Scott Fahlman) นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ผู้พิมพ์ข้อความที่ปรากฏอิโมติคอน 🙂 และ 🙁

ในปี 1982 ฟาห์ลแมนได้อธิบายวิธีการใช้อิโมติคอนว่า กรณีที่นักเขียนอยากจะล้อเลียนหรือเสียดเย้ย ปัญหาคือตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด อิโมติคอนเหล่านี้จึงกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ล้อเลียนหรือบอกน้ำเสียงของคนเขียนคล้ายกับเวลาคุยโทรศัพท์แล้วรู้ว่าผู้พูดกำลังพยายามจะเล่น ‘มุกตลก’ จากน้ำเสียง

พูดง่ายๆ ว่าอิโมติคอนเกิดขึ้นเพื่อเป็น ‘น้ำเสียง’ (Tone) และ ‘ท่าทาง’ (Body Language) ของตัวหนังสือ

ส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่อิโมจิ หรืออิโมติคอน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในโลกออนไลน์ การแชต จนวิวัฒนาการเข้าสู่โลกของสติกเกอร์ที่เราจำต้องเสียเงินซื้อมันเพราะทนความน่ารักน่าชังไม่ไหว

Photo: NTT DoCoMo

อิโมจิชุดแรกที่ใช้งานบนโทรศัพท์ได้จริงคิดค้นโดยชาวญี่ปุ่น!

ในปี 1999 บริษัทโทรศัพท์ญี่ปุ่น NTT DoCoMo ได้คิดค้นอิโมจิชุดแรกขึ้นมาจำนวน 176 ตัว ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยเทคนิคงานสร้างแบบ 12×12 พิกเซล ซึ่งอิโมจิชุดดังกล่าวค่อนข้างได้รับผลตอบรับและกระแสนิยมเป็นอย่างดีในประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบในเชิงการใช้งานทั่วโลก มันกลับไม่ได้รับความแพร่หลาย

กระทั่งปี 2011 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ได้เพิ่มอิโมจิเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนในหลายๆ ประเทศก็เริ่มหันมาใช้อิโมจิหน้ายิ้มที่บอกแทนน้ำเสียงดีใจมากขึ้น วิวัฒนาการของอิโมจิจึงเริ่มมีอะไรให้เราได้สนุกสนานกับการพิมพ์แชตได้ทุกๆ ปี

Photo: Domino’s Pizza

แนวโน้มของการสื่อสารในโลกอนาคตด้วยอิโมจิ

ครั้งหนึ่งบริษัทพิซซ่าชื่อดังอย่าง Domino’s Pizza ก็เคยออกแคมเปญ ‘EMOJI ORDERING’ ที่ให้ผู้ใช้งานได้ทดลองสั่งพิซซ่าผ่านอิโมจิรูปพิซซ่าบนทวิตเตอร์มาแล้ว และแคมเปญดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัล Titanium & Integrated ในเทศกาล Cannes Lions ปี 2015 มาแล้วอีกด้วย

บริษัทส่งอาหารในอเมริกาอย่าง Hungry Harvest ก็ได้ใช้อิโมจิผักผลไม้ในอิริยาบถน่ารักๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ที่ผู้บริโภคมองบรรดาผักและผลไม้เหล่านั้นว่าน่าเกลียด และทำให้พวกเขาเหล่านั้นกล้าที่จะรับประทานผักผลไม้กันมากขึ้น

แม้แต่ GoDaddy บริษัทเปิดลงทะเบียนโดเมนเนมเว็บไซต์ ก็เปิดโอกาสให้เราสามารถจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ที่มีอิโมจิเป็นส่วนประกอบอย่าง อิโมจิหัวใจ.ws หรือ อิโมจิแก้วไวน์และเค้ก.ws ได้แล้ว โดยพวกเขาได้ทำการจดทะเบียนโดเมนเนมเว็บไซต์ที่มีอิโมจิเป็นส่วนประกอบครั้งแรกในช่วงปี 1995

เทเรซา แมกกินเนสส์ เจราห์ตี (Theresa McGinness Geraghty) กรรมการบริษัทแผนกการตลาดผลิตภัณฑ์แสดงทรรศนะที่น่าสนใจไว้ว่า “อิโมจิได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กระทั่งกลายมาเป็นส่วนสำคัญของโลกออนไลน์ในปัจจุบัน”

แม้แต่ มิตช์ สตีเฟนส์ (Mitch Stephens) ศาสตราจารย์การสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก็ได้วิเคราะห์ความนิยมของอิโมจิไว้ในรายการของสถานีโทรทัศน์ PBS Off Book ว่ามาจากความลื่นไหลของภาษา ความเป็นสากล ความตลกขบขัน และการสื่ออารมณ์ได้มากกว่าตัวหนังสือ

ด้วยจำนวนอิโมจิที่มากมายมหาศาลเช่นนี้ ประกอบกับการปล่อยอัพเดตที่ถี่ขึ้นในระยะหลังๆ เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะได้ใช้อิโมจิที่ทันสถานการณ์มากขึ้น บางทีคุณอาจจะสามารถอ่านข่าวหรือคุยกับเพื่อนโดยการใช้อิโมจิแทนตัวอักษรก็เป็นได้…

อ้างอิง
http://www.wired.co.uk/article/apple-ios-10-2-new-emoji-harambe
http://gizmodo.com/5970125/miley-cyrus-cries-out-for-more-diverse-emoji
http://fortune.com/2016/10/29/godaddy-emoji-domains/?xid=timehp-category
http://time.com/4547514/emojis-museum-of-modern-art/
http://www.redmondpie.com/here-are-some-of-the-new-emojis-coming-with-ios-10.2/
http://fortune.com/2016/11/01/apple-update-emojis/

DID YOU KNOW?

พิพิธภัณฑ์ศิลปะในนิวยอร์กอย่าง MoMA จะจัดนิทรรศการโชว์ผลงานคอลเล็กชันอิโมจิของ NTT DoCoMo ในช่วงเดือนธันวาคม 2016 โดยภายในงานจะมีการรวบรวมสิ่งพิมพ์ต่างๆ และงานออกแบบแอนิเมชันอีกมากมาย