วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2565) จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรแบบไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ที่มีฐานะเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง
ทั้งนี้จิราพรระบุว่า พรรคเพื่อไทยนำเรื่องสัญญาบริษัทเหมืองทองอัครามาเปิดเผย และอภิปรายซักถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รมว.กลาโหม ถึง 3 ครั้ง แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อีกทั้งยังมีการปกปิดข้อมูลที่เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายกับประเทศไทย ทำให้หนนี้ต้องอภิปรายเรื่องดังกล่าวเป็นรอบที่ 4 ตนจึงขอให้พลเอกประยุทธ์ตอบทุกคำถามด้วยตนเอง
จิราพรยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า กรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ที่มีฐานะเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพ์ออสเตรเลียว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ขณะที่กระบวนตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสัญญาดังกล่าวทางอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กลับประกาศเลื่อนอ่านคำชี้แจงออกไปอีกครั้ง และคาดว่าครั้งนี้จะเลื่อนออกไปไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าพลเอกประยุทธ์นำทรัพย์สมบัติชาติไปประเคน และเอาประเทศเป็นเครื่องประกันตัวเองออกจากคดี
“ขอให้พลเอกประยุทธ์ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวรวมถึงกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาด คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นอาจมีกระบวนการประนีประนอมยอมความเพื่อให้ถอนฟ้อง เพราะไม่ต้องการให้ศาลระหว่างประเทศตัดสิน หรือชี้สถานะทางกฎหมายของคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรมในสากล เพราะเป็นกฎหมายเถื่อน ไม่ผ่านสภาฯ และเป็นคำสั่งที่ออกจากคณะรัฐประหาร
“หากอนุญาโตตุลาการฯ ชี้สถานะว่ามาตรา 44 ไม่มีผลทางกฎหมายจะกลายเป็นสึนามิต่อรัฐบาล ที่ใช้มาตรา 44 กับบริษัทคิงส์เกตฯ ฐานะบริษัทต่างชาติ และมีองค์ประกอบเข้าข่ายเป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ตามนิยามข้อที่ 2 ของอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งลักษณะองค์กร ดังนั้นการใช้มาตรา 44 อาจทำให้พลเอกประยุทธถูกตีความเป็นองค์กรอาชญากรรม กลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนไทยคนแรก ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้มีการเจรจาถอนฟ้อง” จิราพรกล่าว
ส.ส.ร้อยเอ็ด ยังกล่าวอีกว่า หากอนุญาโตตุลาการฯ มีวินิจฉัยตัดสินมาตรา 44 ว่าผิดจริง จะมีอาฟเตอร์ช็อกต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลทั้งคณะ เพราะหากมาตรา 44 ผิดพลาด และรัฐบาลยังพยายามเอาทรัพย์สินและประเทศประกันตัวเองออกจากคดี หากไทยสามารถเจรจาประนีประนอมยอมความโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย จะกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรงซ้ำสอง สร้างภาระประเทศไม่มีที่สิ้นสุด และหากไม่แสวงหาความจริงได้ ขอให้ทุกคำถามประทับอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ
ช่วงท้าย จิราพรได้เน้นย้ำว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่มีวันลืมคดีดังกล่าว และพร้อมแสวงหาข้อเท็จจริงทุกช่องทาง เพื่อนำความจริงเบื้องหลังมาตีแผ่ หากการเจรจายอมความคดีมีพฤติกรรมเป็นไปโดยไม่สุจริต โดยตนมีข้อแนะนำเดียวคือ เตรียมทีมทนายในและต่างประเทศไว้ให้ดี
ภาพ: รัฐสภา
Tags: จิราพร สินธุไพร, น้ำ จิราพร, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประชุมสภา, เหมืองทองอัครา