วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมที่บริเวณดังกล่าว โดยมีมวลชนรวมตัวกันรอบอนุสาวรีย์ฯ ภายหลังจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเสร็จสิ้น พร้อมกับเสียงโหวตของสมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ว.ส่วนใหญ่ และ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่เห็นว่า การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ถือเป็นขัดข้อบังคับของรัฐสภา
ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้นำป้ายข้อความ ‘นายกฯ พิธา ฉันทามติของประชาชน’ ติดที่ฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อยืนหยัดเจตจำนงของประชาชนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากตามครรลองประชาธิปไตยดังที่หวัง
“ในสภาฯ ไม่ต้องหวังแล้ว การต่อสู้มันอยู่ที่สองมือสองตีนของเราใช่ไหมพี่น้อง” แกนนำปราศรัยกล่าวทิ้งท้ายด้วยอารมณ์รุนแรงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐสภา
ขณะที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวถึงกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกครั้งจากที่พูดปราศรัยที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่ามาตราดังกล่าวว่าด้วยการปกป้องสถาบันกษัตริย์ หากแต่ไม่มีการพูดถึงประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว อีกทั้งที่ผ่านมา มาตรา 112 ก็เคยถูกแก้ไขเพื่อเพิ่มโทษเพียงอย่างเดียว และสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือการแก้ไขให้กลับไปตั้งต้นที่โทษ 3 ปีเพียงเท่านั้น
“ประเทศไทยอาจลุ้นถูกหวยได้ แต่ลุ้นขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานยุติธรรม สภาฯ หรือหน่วยงานความมั่นคงเป็นไปไม่ได้ เราหาความถูกต้องใดๆ ไม่ได้เลยในประเทศนี้” สมยศกล่าวทิ้งท้าย
ต่อมา เติร์ด แกนนำกลุ่ม WEVO กล่าวถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนว่าถูกลดทอนไปทุกวัน ตลอดรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา มีการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางมากขึ้นทุกที ซึ่งนี่คือกลุ่มความคิดของอนุรักษนิยมไทย อีกทั้งการเมืองไทยเปรียบเหมือนการชักเย่อ สมัยหนึ่งพรรคการเมืองมีแรงมากจนทำให้อีกพรรคการเมืองหวาดกลัว
เติร์ดกล่าวต่อว่า การต่อสู้ของประชาชนนั้นมีอยู่ไม่กี่ทาง ไม่ลงถนนก็ไปเลือกตั้ง แต่ในเมื่ออำนาจเผด็จการยังไม่เห็นหัวประชาชน ก็ไม่มีทางอื่นนอกจากลุกขึ้นสู้ ต้องคอยเป็นกำลังใจให้กันต่อไป ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคก็เป็นอีกกลุ่มที่อยากให้กำลังใจมาก อยากให้การพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและพูดคุยอย่างมั่นคง โดยคำนึงถึงประชาชนที่เลือกมาเป็นหลัก
ถัดมา ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มไอลอว์ (iLAW) กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่านที่ประชุมอย่างเคร่งเครียดเรื่องเดียวว่า “พี่ๆ หลอกใครก็ได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้ว่าทำอะไรอยู่ และทุกสิ่งที่ทำไว้มันเป็นเอกสารและลงชื่อของพี่ทุกท่านไว้ ดังนั้น ไม่มีทางที่คนจะลืมและเช็กบิลย้อนหลังไม่ได้” อีกทั้งอธิบายต่อเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นสิ่งที่คล้ายกับการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้น จึงเป็นวงจรที่เชื่อมต่อกัน กกต.ยื่นฟ้อง ศาลรัฐธรรมนูญรับไม้ต่อตัดสิน และ ส.ว.เอาไปอภิปรายต่อ
เวลา 19.00 น. บรรยากาศโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสงบไร้การปะทะ ฝ่ายผู้ชุมนุมยังคงสลับกันปราศรัยความว่า “ตราบใดที่ต่อสู้ ก็ยังคงมีความหวังต่อไป” คาดว่าจากนี้จะมีการนัดชุมนุมกันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
Tags: การจัดตั้งรัฐบาล, พิธาลิ้มเจริญรัตน์, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย