“ถ้าฉันต้องการจะฉีดวัคซีน ฉันต้องแต่งตัวเป็นผู้ชาย ต้องแต่งตัวให้ตรงกับคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชน ในขณะที่ตัวเองก็ยังต้องกินฮอร์โมนปรับสภาพร่างกายอยู่ตลอดเวลา”

ฮิมานี ปราสาท (Himani Prashad) หญิงข้ามเพศ วัย 21 ปี ที่ทำอาชีพช่างแต่งหน้าในกรุงนิวเดลี แบ่งปันประสบการณ์ที่เธอพบเจอจากการไปฉีดวัคซีนในพื้นที่ให้บริการในชุมชนกับสำนักข่าว Vice แม้ร่างกายของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแค่ไหนก็ตาม แต่ทางจุดบริการฉีดวัคซีนยังคงยืนยันว่าเธอจะต้องแต่งตัวตามเพศสภาพแต่กำเนิดเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ฮิมานีเล่าว่า ครั้งแรกเมื่อเดินไปยังจุดฉีดวัคซีน เธอแต่งกายด้วยชุดชูริดาร์สีเหลืองสดใส ใส่ตุ้มหูอันใหญ่ ทาลิปสติกสีชมพูอ่อน เดินเข้ายังจุดตรวจด้วยความมั่นใจ พร้อมยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ พวกเขามองดูบัตร เงยหน้ามองเธอ ก้มหน้ามองบัตรอีกครั้ง ก่อนจะแจ้งว่าฉีดวัคซีนให้ไม่ได้เพราะฮิมานีมีรูปร่างหน้าตาไม่ตรงตามรูปในบัตรประชาชน

แรกเริ่มเธอรู้สึกมึนงง สับสน และไม่เข้าใจสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการ ตอนนั้นเธอคิดแค่ว่า ‘แล้วการที่หน้าตาฉันไม่ตรงตามบัตรมันเกี่ยวอะไรกับการฉีดวัคซีน’ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่ากลัวเรื่องการแอบอ้าง สวมรอยใช้สิทธิฉีดวัคซีน รวมถึงเหตุผลที่ว่า ‘สร้างความสับสนแก่เจ้าหน้าที่’ ที่ทำให้เธอต้องกลับบ้านมาลบเครื่องสำอาง ถอดตุ้มหู ถอดชุดที่เธอใส่แล้วมั่นใจ หาเสื้อผ้าผู้ชายมาสวมใส่และเดินทางไปยังจุดฉีดวัคซีนอีกครั้ง

 

การละเลยต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐบาล

เรื่องราวของฮิมานีเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่สังคม LGBTQ+ ในอินเดียกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งในยุคของโรคระบาด ดูเหมือนว่าสิทธิการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงสวัสดิการรัฐ และสิทธิในความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ถูกบีบรัดและจำกัดกรอบมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ปัญหาเรื่องชุมชน LGBTQ+ ในอินเดียเข้าขั้นวิกฤตหนักไม่แพ้กับปัญหาอื่นๆ ที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมดี (Narendra Modi) ออกมายอมรับว่า ตั้งแต่ประกาศล็อกดาวน์ในครั้งแรก ทางรัฐบาลไม่มีข้อมูลประชากรอินเดียที่เป็นบุคคลข้ามเพศ และไม่มีข้อมูลว่ามีคนข้ามเพศที่อายุเกิน 45 ปีจำนวนกี่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือได้รับสวัสดิการตามที่รัฐบาลเคยโฆษณาเรื่องมาตรการเยียวยาไว้ว่า ‘บุคคลข้ามเพศจะได้รับเงินสนับสนุน 1,500 รูปี โดยเงินดังกล่าวจะโอนเข้าบัญชีโดยตรง’ ตามแผนประกันสังคมและสวัสดิการสำหรับบุคคลข้ามเพศ

หากตีเป็นเลขกลมๆ จากรายงานผลสำรวจทั้งของรัฐและเอกชน สามารถยืนยันได้ว่าเวลานี้อินเดียมีบุคคลข้ามเพศราว 4.8 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 1.38 พันล้านคน มีเพียง 5,711 คนเท่านั้น ที่ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว ส่วนคนข้ามเพศอีก 1,229 คน ไม่ได้รับเป็นเงินแต่ได้รับเป็นของยังชีพและอาหารแห้ง

สาเหตุที่ตัวเลขผู้ได้รับเงินเยียวยาตกหล่นมากขนาดนี้ เป็นเพราะรัฐบาลให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน หรือกรอกแบบฟอร์มทางออนไลน์เท่านั้น แต่ชาว LGBTQ+ ส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากสังคม พวกเขาส่วนใหญ่ไร้การศึกษา มีรายได้ต่ำ และไม่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตฟนให้ลงทะเบียน คนเหล่านี้จึงไม่สามารถรับเงินเยียวยาจากรัฐได้เลย

สังคมในอินเดียยังคงถูกแบ่งเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ทั้งการแบ่งตามวรรณะ แบ่งตามฐานะทางสังคม และแบ่งตามอัตลักษณ์ทางเพศ ชาว LGBTQ+ ในอินเดียหลายรัฐไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม พวกเขาจึงต้องกระจุกตัวอยู่ด้วยกัน สร้างคอมมูนิตี้ที่ดูแลกันเอง นักเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในยุคโควิด-19 ชุมชนชายขอบเหล่านี้ถูกรัฐบาลเลือกปฏิบัติและถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากกว่าช่วงเวลาไหนๆ แม้พวกเขาจะเป็นประชาชนที่มีสิทธิและคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อเข้าถึงการให้บริการของรัฐก็ตาม

ย้อนกลับไปช่วงเดือนสิงหาคม ในช่วงเวลาที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก ประชาชนในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย ก็เผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นกัน แต่คนข้ามเพศจำนวนมากไม่มีสิทธิเข้ารับวัคซีน จึงทำให้นักเคลื่อนไหวทางเพศกลุ่มหนึ่ง ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฟ้องรัฐบาลของตัวเอง โดยพวกเขาต้องการให้รัฐบาลฉีดวัคซีนให้กับคนข้ามเพศภายใน 3 เดือน เหมือนกับคนกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อศาลว่า ขณะนี้กำลังวางแผนเยียวยาโควิด-19 แก่คนข้ามเพศอยู่ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม

เว็บไซต์ The Conversation ระบุว่า นอกจากเรื่องวัคซีนโควิด ในแง่สวัสดิการทางการแพทย์ด้านอื่นๆ ก็เหมือนจะถูกกลืนหายไปหลังจากเกิดโรคระบาด สถานพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถรักษาโรคทางร่างกาย หรือเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่จะต้องรับเป็นประจำทุกเดือนได้อีกต่อไป เมื่อการรักษาขาดตอน มีหญิงชายข้ามเพศจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าจากการแปรปรวนของฮอร์โมน และทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในยุคโควิด-19

 

อคติและความไม่เข้าใจผู้หลากหลายทางเพศของสังคมอินเดีย

ไม่ใช่แค่ความละเลยของรัฐต่อชุมชน LGBTQ+ เท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อสังคม จันทร์ดานี (Chandani) หญิงข้ามเพศวัย 68 ปี ประกอบอาชีพขายบริการ เล่าประสบการณ์ที่เธอเจอจากการไปยังจุดรับวัคซีนว่า “เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิต”

“เมื่อพวกเรา (LGBTQ+) ยืนต่อแถวเข้ารับวัคซีนเหมือนกับคนอื่นๆ ฉันได้ยินเสียงบ่นพึมพำทั้งหน้าทั้งหลัง ก่อนพวกเขาจะตกลงกันว่าให้เราแยกออกมาตั้งแถวใหม่ เพราะคนข้ามเพศกับพวกโสเภณีทุกคนติดเชื้อ HIV”

จันทร์ดานียืนยันว่าชุมชน LGBTQ+ ที่เธออยู่ ทุกคนล้วนต้องการฉีดวัคซีน แต่การเดินไปต่อแถวแล้วถูกดูถูก ด่าทอ ถูกเจ้าหน้าที่มองด้วยสายตาเหยียดหยามบ้างก็ยิ้มเยาะ ซ้ำหลายครั้งก็เสี่ยงจะถูกทำร้ายร่างกายเพียงแค่เป็นคนข้ามเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลและหวาดกลัวจนทำให้การเดินไปยังจุดฉีดวัคซีนไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ

ในรัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ชุมชนคนข้ามเพศก็เผชิญปัญหาเดียวกับชาว LGBTQ+ พื้นที่อื่น ด้วยแรงกดดันจากสังคม การเป็นคนไร้วรรณะ และแตกต่างกับคนอื่นๆ ส่งผลให้พวกเขาต้องเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นแก้ปัญหานี้ สุดท้ายรัฐอัสสัมยอมจัดโซนฉีดวัคซีนสำหรับบุคคลข้ามเพศ เพื่อสร้างความสบายใจ และความปลอดภัยแก่ชาว LGBTQ+

อัญชลี ราว (Anjali Rao) หญิงข้ามเพศวัย 20 ปี ที่ประกอบอาชีพช่างแต่งหน้า ยืนยันอีกเสียงว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการรับวัคซีนเหมือนกับคนอื่นๆ น้อยมากที่จะมีคนที่ต่อต้านวัคซีน เพราะพวกเขาต้องการฉีดวัคซีนเพื่อทำงานต่อ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ในแต่ละวันก็เพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องแค่ 1-2 วันเท่านั้น และสิ่งที่หลายคนกระทำต่อพวกเธอ ทำให้พวกเธอรู้สึกใจสลาย

เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติของผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินเดีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ การไม่ทำความเข้าใจและไม่ยอมรับของคนในสังคม ส่งผลให้ LGBTQ+ จำนวนมากอึดอัดที่จะต้องเดินทางไปฉีดวัคซีน ซึ่ง อาชีกา เจน (Ashika Jain) นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ระบุว่า ความกังวลของคนข้ามเพศเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 จริง และเป็นสิ่งที่รัฐกับคนในสังคมจะละเลยไม่ได้

 

อ้างอิง

https://www.vice.com/en/article/epxz3a/india-transgender-community-vaccine-inequality

https://theconversation.com/during-covid-19-trans-people-in-india-came-together-to-keep-each-other-alive-173297

 

Tags: , , , ,