เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โอลาฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนปัจจุบัน พ่ายแพ้ในศึกการเลือกตั้งผู้นำประเทศครั้งล่าสุด เมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระแห่งเยอรมนี (Sozialdemokratische Partei Deutschlands: SPD) พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของเขา ทำผลงานได้แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1890 หลังมีคะแนนเสียงครองอันดับ 3 ที่ 16.5% เท่านั้น

มากกว่าชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมคือ ก๊วนการเมืองพรรคพี่น้องอย่างพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Democratic Union: CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (Christian Social Union: CSU) จากบาวาเรีย คว้าคะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งที่ 28.5% ส่งผลให้ ฟรีดริช เมิร์ซ (Friedrich Merz) หัวหน้าพรรค CDU จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมกับทำภารกิจสำคัญอย่างการหาพันธมิตรร่วมรัฐบาล และสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ (รวมถึงยุโรปและโลก) ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่เยอรมนีจะมีผู้นำจากพรรคฝ่ายขวา นับตั้งแต่ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อดีตผู้นำหญิงเหล็ก ลงจากตำแหน่งในปี 2021

หนึ่งในเรื่องที่ทำให้เยอรมนีและยุโรปต่างหวาดกลัว คงหนีไม่พ้นการขึ้นมาของพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative for Germany: AfD) พรรคการเมืองขวาจัดสุดโต่งที่ถูกมองว่า เป็นกลุ่ม ‘นีโอนาซี’ ซึ่งครั้งหนึ่ง หน่วยข่าวกรองเยอรมันถึงกับหมายหัวไว้ว่า เป็นกลุ่ม ‘หัวรุนแรง’ และ ‘บ่อนทำลาย’ ประชาธิปไตยในประเทศ ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนนถึง 20.7% พร้อมประกาศว่า ในอนาคตพวกเขาจะได้คะแนนเสียงมากกว่านี้ และครองเก้าอี้ผู้นำประเทศ 

“คราวหน้า เราจะชนะการเลือกตั้ง” คือคำพูดของ อลิซ ไวเดล (Alice Weidel) ผู้นำหญิงพรรค AfD พร้อมกับเสริมว่า ต่อจากนี้พรรคของเธอคือพรรคกระแสหลัก หลังกลายเป็นพรรคฝ่ายขวาจัดที่ทำคะแนนเสียงได้มากที่สุด นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคที่นาซีครองอำนาจ อีกทั้งยังย้ำว่า เธอพร้อมยื่นมือจัดตั้งรัฐบาลกับฝั่งของเมิร์ซ​ 

ขณะที่ กิลเบิร์ต คาล์บ (Gilbert Kalb) สมาชิกพรรค AfD ระบุว่า เป็นความรู้สึกที่น่าทึ่งมาก เพราะเขาอยู่ตั้งแต่ช่วงที่ก่อตั้งพรรคขึ้นมา จนถึงวันที่พรรคได้คะแนนเสียงสูงถึง 20% แม้พรรคจะไม่ได้เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลผสมของ CDU/CSU ก็ตาม

ทั้งนี้สาเหตุที่พรรค AfD จะไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกพรรคการเมืองต่างให้ฉันทมติว่า จะร่วมตั้ง ‘กำแพงเหล็ก’ หรือ ‘Fire Wall’ ไม่ให้พรรคการเมืองขวาจัดสุดโต่งกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้อีก หลังเยอรมนีเผชิญหายนะครั้งใหญ่จากการขึ้นมาของกลุ่มนาซี 

ทว่าแม้ในความเป็นจริง ข้อตกลงดังกล่าวดูสั่นคลอนอยู่ไม่น้อย หลังพรรค AfD ผ่านมติจำกัดผู้อพยพที่เสนอโดยพรรค CDU/CSU เป็นเหตุให้แมร์เคิลออกมาแสดงความเห็นถึงอดีตเพื่อนร่วมพรรคเป็นครั้งแรกตั้งแต่หยุดเล่นการเมืองว่า เมิร์ซเซ็นข้อตกลงไม่ร่วมมือกับฝ่ายขวาจัดแล้ว การกระทำของเขาครั้งนี้จึงเป็นเรื่องผิดมหันต์ จนท้ายที่สุด ว่าที่นายกฯ ออกมาขอโทษ และย้ำว่าจะไม่จับมือกลุ่มขวาจัด พร้อมแสดงความเสียใจที่ AfD เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้มติดังกล่าวผ่าน

น่าสนใจว่าทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ เมิร์ซประกาศว่า หน้าที่ที่ต้องทำอย่างแรกในฐานะผู้นำประเทศ คือการทำให้ยุโรปแข็งแกร่งรวดเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้อง ‘พึ่งพา’ สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว โดยย้ำว่า ไม่คิดว่าตนจะต้องพูดคำนี้ แต่ท่าทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้นำสหรัฐฯ นั้นชัดเจนมากพอว่า เขาจะไม่สนใจชะตากรรมของยุโรป

AfD เกิดมาเพื่อต้านยุโรป อิสลาม และกระแสซ้ายจัด

‘พรรคของพวกนักวิชาการ’

คือสมญานามแรกที่ AfD ได้รับ เมื่อพรรคก่อตั้งขึ้นมาในปี 2013 โดยกลุ่มก๊วนนักวิชาการและนักข่าวอย่าง คอนราด อดัม (Konrad Adam), เบิร์น ลุกเคอ (Bernd Lucke) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอเล็กซานเดอร์ เกาลันด์ (Alexander Gauland) นักข่าวและทนายความ เพื่อต่อต้านการมีอยู่ของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ซึ่งขณะนั้นกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ ตรงกับช่วงรัฐบาลของแมร์เคิลหยิบยื่นความช่วยเหลือกับประเทศในยุโรปทางตอนใต้

ในช่วงนั้น AfD ห่างไกลจากการเป็นพรรคการเมืองขวาสุดโต่งในแบบที่กำลังเป็นทุกวันนี้ ซ้ำยังถูกมองว่า เป็นพรรคการเมืองที่ผสมผสานไปด้วยกลุ่มขวาและอุดมการณ์กลาง (Centrist) จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำพรรคตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ของ AfD ให้กลายเป็นขวาจัดที่ต่อต้านยุโรป กลุ่มอิสลาม ผู้อพยพ และกระแสซ้ายจัด

ผู้นำที่สะท้อนภาพดังกล่าวคงหนีไม่พ้น บยอร์น เฮกเคอ (Björn Höcke) ผู้นำพรรค AfD จากแคว้นทูรินเจีย (Thuringia) เขาถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มนีโอนาซี หลังแสดงท่าทีสนับสนุน อย่างการใช้สโลแกนของนาซีอย่าง Everything for Germany (Alles für Deutschland) ในระหว่างการปราศรัย และปฏิเสธเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) ว่า เยอรมนีควรหยุดชดใช้ความผิดครั้งนี้ โดยขอให้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการรำลึกโฮโลคอสต์ทั้งหมด จนทำให้ผู้พิพากษาเคยตัดสินว่า เขาเป็นกลุ่ม ‘ฟาสซิสต์’ โดยไม่กลัวที่จะถูกฟ้องกลับ เพราะอ้างข้อเท็จจริงจากคำพูดของเฮกเคอที่ปรากฏ

นอกจากนี้เกาลันด์ ผู้ก่อตั้งพรรค เคยถูกกล่าวหาว่า พยายาม ‘ลดทอน’ ความเลวร้ายของเหตุการณ์โฮโลคอสต์ว่า ฮิตเลอร์กับนาซีเป็นเพียง ‘รอยด่างพร้อย’ ของประวัติศาสตร์เยอรมนีอันยิ่งใหญ่ที่ดำเนินมานับ 1,000 ปี พร้อมกับย้ำว่า เขาภูมิใจวีรกรรมของทหารเยอรมันในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง

ซ้ำร้ายในปี 2023 มีการเปิดโปงว่า สมาชิกพรรค AfD เข้าร่วมการประชุมกับกลุ่มขวาจัดที่พอสดัม (Postdam) หนึ่งในนั้นมีนีโอนาซีชาวออสเตรียชื่อดังอย่าง มาร์ติน เซลเนอร์ (Martin Sellner) เข้าร่วม โดยวาระการหารือคือ การเนรเทศผู้อพยพและผู้ที่ไม่พยายามปรับตัวเข้ากับสังคมเยอรมัน ซึ่งคาดว่า นโยบายดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นจริง หาก AfD ได้กลายเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับจุดยืนล่าสุดของพรรค AfD คือ การสนับสนุนให้เยอรมนีออกจากสหภาพยุโรป จำกัดผู้อพยพ ปิดกั้นพรมแดน ต่อต้านนโยบาย Climate Change และไม่สนับสนุนยูเครนในสงคราม โดยที่มีพันธมิตรทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอย่างพรรคชุมนุมแห่งชาติ (National Rally) กลุ่มขวาจัดจากฝรั่งเศสของ มารี เลอ เปน (Marie Le Pen) และพรรคเสรีภาพออสเตรีย (Austria’s Freedom Party) รวมถึง วิกเตอร์ ออร์บัน (Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการี, อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เศรษฐีข้างกายทรัมป์ รวมถึง เจ.ดี. แวนซ​์ (J.D. Vance) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/europe/next-time-well-come-first-german-far-right-celebrates-breakthrough-2025-02-23/

https://www.politico.eu/article/german-election-results-2025-friedrich-merz-cdu-conservative-party-win-exit-poll/

https://time.com/7221894/alternative-for-germany-afd-far-right-party-explainer/

https://www.dw.com/en/center-right-cdu-csu-bloc-leads-in-german-election-exit-polls/a-71721544

https://www.dw.com/en/afd-firewall-germany-political-consensus-explained/a-71457050

Tags: , , , ,