ภายในปี 2025 เสื้อผ้าทุกคอลเล็กชันของซาร่าจะทำมาจาก ‘ผ้าที่มีความยั่งยืน’ แบรนด์อื่นๆ ทั้งหมดภายใต้บริษัทอินดิเท็กซ์ (Inditex) ไม่ว่าจะเป็น ซาร่า โฮม แมสสิโม ดุตติ และพูลแอนด์แบร์ที่มีสาขาไปทั่วโลกก็จะทำตามซาร่าเช่นกัน

ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พบว่ายอดขายของบริษัทโตขึ้น 3% โดยยอดขายของซาร่ามีสัดส่วน 70% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท  ในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์หรือ DJSI บริษัทติดอยู่ในอันดับบริษัทค้าปลีกที่มีความยั่งยืนที่สุดระหว่างปี 2016-2018 และในโอกาสนี้ ทางบริษัทก็ประกาศว่าจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

ความตื่นตัวของบริษัทเครื่องแต่งกายมาจากแรงกระตุ้นของผู้บริโภค ซึ่งเรียกร้องให้มีกระบวนการผลิตสินค้าที่มีจริยธรรมและรับผิดชอบ โดยเฉพาะการจัดการกับสต็อกสินค้าและการกำจัดสิ่งทอที่ไม่ต้องการ จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเมื่อปี 2019 ผู้บริโภคบอกว่า “ความยั่งยืน” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการตัดสินใจซื้อสินค้า พร้อมจะเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าในบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัยว่า การทำการตลาดโดยใช้ความยั่งยืนทำให้ยอดขายโตเร็วกว่าเดิมด้วย

พาโบล อิสลา ซีอีโอของอินดิเท็กซ์ กล่าวว่า “เราต้องการเป็นแรงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแค่บริษัท แต่ทั้งอุตสาหกรรม” เขายืนยันว่า ซาร่ามีโมเดลทางธุรกิจที่ต่างไปจากบริษัทเสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่น เพราะมีแพตเทิร์นของตัวเอง ทำงานกับโรงงานของตัวเอง หาวัสดุและโรงงานในท้องถิ่นและไม่มีโปรโมชั่นในร้าน

นอกจากนี้ ภายในปี 2025 พลังงาน 80% ที่ใช้ในสำนักงานใหญ่ของซาร่า โรงงาน และร้านค้าจะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และสิ่งอำนวยความสะดวกของซาร่าจะไม่สร้างขยะ ทั้งนี้ภายในปี 2023 เส้นใยสังเคราะห์ที่นำมาใช้จะเป็นเส้นใยยั่งยืน 100% 

ก่อนหน้านี้ ในปี 2015 อินดิเท็กซ์ก็ได้รวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้ว 34,000 ตัน จากลูกค้าในร้านต่างๆ เพื่อนำไปให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับสถาบัน MIT ในการพัฒนาเส้นใยรีไซเคิล และภายในปี 2020 ก็จะไม่ใช้สารเคมีอันตรายใดๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่ปีมานี้ ซาร่ามีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิแรงงานมาโดยตลอด เมื่อปี 2017 มีรายงานการปฏิบัติต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของซาร่าอย่างไม่เป็นธรรม โดยโรงงานผลิตเสื้อผ้าให้ซาร่าที่ตุรกีไม่จ่ายค่าจ้าง จนมีการประท้วงด้วยการแอบติดแท็คข้อความในเสื้อผ้าว่า “ฉันทำเสื้อผ้าตัวนี้ที่คุณกำลังจะซื้อ แต่ฉันไม่ได้ค่าจ้าง!” แม้ซาร่าจะแก้ปัญหาด้วยการตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานขึ้น แต่ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืนของอินดิเท็กซ์ในตุรกีก็ปัดความรับผิดชอบ โดยบอกว่า “นี่ไม่ใช่ความผิดของเรา เป็นความผิดของบริษัทในท้องถิ่น”

ที่ผ่านมา ผู้ผลิตเสื้อผ้าเริ่มใช้ “ความยั่งยืน” เป็นจุดขายสินค้า แต่ส่วนหนึ่งก็ทำให้เกิดข้อกังขา กรณีล่าสุดคือ  H&M ที่ถูกกลุ่มผู้บริโภคในนอร์เวย์ตั้งคำถามว่า ภาพโฆษณาว่าเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นหนึ่งมีความยั่งยืนที่สุดเป็นจริงหรือไม่ โดยในนอร์เวย์มีกฎหมายห้ามทำการตลาดเกินจริง และห้ามโฆษณาว่าสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือยั่งยืน ถ้าไม่มีคำอธิบายว่ามันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีความยั่งยืนอย่างไร ซึ่งทำให้ในกรณีนี้ H&M อาจกำลังทำผิดกฎหมายเพราะกล่าวเกินจริง

 

ที่มา:

 

ที่มาภาพ:  REUTERS/Susana Vera

Tags: , , , , , ,