วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2568) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ตลอดทั้งปี 2567 และแนวโน้มปี 2568

ดนุชาระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 ส่วนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.5 ขณะที่ในด้านการลงทุนของภาคเอกชนพบว่า มีการขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 1.6 แต่การลงทุนของภาครัฐขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 4.8

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนแบบดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.8 ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการขยายตัวร้อยละ 9.5 ด้านอาหารสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 9.0 สาขาการขายส่งและการขายปลีกขยายตัวร้อยละ 3.8 และสาขาการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.3

ส่วนที่มีการขยายตัวลดลงคือ สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมงที่ลดลงร้อยละ 0.5 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ

เลขาธิการ สศช.ให้ข้อมูลว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยมี GDP ในประเทศอยู่ที่ 18.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี GDP 17.95 ล้านล้านบาท หากแยกเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 264,607.7 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นมาจากปี 2566 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 256,345.4 บาทต่อคนต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบการเติบโตของ GDP ในกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ พบว่า มีการเติบโตของ GDP ร้อยละ 6 ขึ้นไป โดยประเทศเวียดนามมีการขยายตัวร้อยละ 6.4 ฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 6 กัมพูชายังคงมีการขยายตัวร้อยละ 6 มาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5 ลาวขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ส่วนเมียนมาขยายตัวร้อยละ 2.3 จึงสรุปได้ว่า ประเทศไทยเกือบครองแชมป์ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP ในปี 2567 ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นรองเพียงประเทศเมียนมาเท่านั้น

รายงาน East Asia and Pacific Economic Update เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงโตตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดย GDP ที่แท้จริงคาดว่าจะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2567 จากการฟื้นตัวของด้านการบริโภคในภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ส่วนในปี 2568 คาดการณ์ว่า การเติบโตจะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.0 จากการบริโภคในภาคเอกชนและการลงทุน

แม้มีการคาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 2.3-3.3 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 2.8 แต่หากเปรียบเทียบกับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะเติบโตร้อยละ 6 ขึ้นไปจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยประเทศไทยก็ยังนับว่า เติบโตรั้งท้ายประเทศกลุ่มนี้ต่อในปีถัดไป

ทั้งนี้ดนุชาระบุว่า การขยายตัวของ GDP ของไทยจะมีที่มาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่

  1. ‘รายจ่าย’ ของรัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุน 

  2. การบริโภคและการปรับตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชนที่ดีขึ้น

  3. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 

  4. การขยายตัวของการส่งออกสินค้า 

Tags: ,