เมื่อวานนี้ (13 ธันวาคม 2023) เลอมงด์ (Le Monde) สำนักข่าวฝรั่งเศส รายงานว่า เด็กหญิงวัย 12 ปี เกิดอาการคลุ้มคลั่งและข่มขู่ครูผู้สอนด้วยมีด ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองแรน (Rennes) แคว้นเบรอตาญ (Bretagne) ซึ่งสะท้อนเหตุความรุนแรงในรั้วสถานศึกษาฝรั่งเศสที่กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และอัยการเปิดเผยว่า นักเรียนหญิงรายนี้ลุกขึ้นมาข่มขู่ครูผู้สอน ด้วยมีดทำครัวที่มีความยาว 17 เซนติเมตร ในระหว่างคาบเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้าของวันที่ 13 ธันวาคม 2023
เธอขู่สังหารครูที่อยู่เบื้องหน้า และกวัดแกว่งมีดใส่นักเรียนที่วิ่งแตกตื่นด้วยความตกใจ ก่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนปลดอาวุธ และส่งตัวเธอให้ตำรวจในเวลาต่อมา
“เธอชูมีดขึ้นมาและพูดว่า ‘ฉันจะฆ่าคุณ มาดาม’ พวกเราจึงกรีดร้องด้วยความตกใจ เธอบอกว่าเธออยากเป็นแบบเหตุการณ์ในอารัส แต่ฉันไม่เข้าใจเลย
“จากนั้น ครูก็เปิดประตูบอกให้พวกเราหนี เราจึงวิ่งออกจากเรียนไปยังที่ปลอดภัย” นักเรียนคนหนึ่งอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาร์เตแอล (RTL) สื่อวิทยุฝรั่งเศส โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในอารัส หลังชายชาวรัสเซียใช้อาวุธมีดแทง โดมินิก แบร์นาร์ด (Dominique Bernard) ครูในโรงเรียนย่านอารัสเสียชีวิต
นอกจากนี้ พยานรายนี้ยังเล่าเสริมว่า เธอรู้จักผู้ก่อเหตุตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โดยก่อนหน้านี้ ครูและเด็กหญิงมีปากเสียงกันในวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากครูยึดโทรศัพท์มือถือของเธอ
เช้าวันเกิดเหตุ เธอได้รับข้อความในแผ่นกระดาษเล็กๆ จากผู้ก่อเหตุว่า ‘จะฆ่าครู’ ในเวลานั้น เธอหัวเราะไม่ออก ได้แต่ถามกลับไปว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายอย่างไร แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเพื่อนของเธอจะลงมือก่อเหตุจริง
แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และนักเรียนทั้งหมดอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว แต่ทางการระบุว่า จะมีการสอบสวนทางอาญาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ขณะที่ เรน ฟิลิป แอสทรูค (Rennes Philippe Astruc) อัยการประจำเมืองแรน ชี้แจงสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ก่อเหตุกับเลอมงด์ว่า นักเรียนหญิงคนนี้กำลังเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาอาการทางจิตเภท ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากที่อาการดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เธอก่อเหตุ
นอกจากนี้ อัยการยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เด็กหญิงวัย 12 ปี มีพื้นเพครอบครัวเป็นชาวมองโกเลียผู้อพยพ และย้ายมายังเมืองแรนในปี 2012 ซึ่งเธอเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 4 คน
จาก ‘อารัส’ ถึง ‘แรน’: ความรุนแรงในสถานศึกษาฝรั่งเศสในรูปแบบที่หลากหลาย ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมุสลิม
แม้การก่อเหตุของเด็กหญิงวัย 12 ปี จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการก่อเหตุที่เรียบง่าย ทว่าหากย้อนกลับไป เหตุรุนแรงในรั้วสถานศึกษาฝรั่งเศสเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และเชื่อมโยงต่อความบาดหมางระหว่างกลุ่มมุสลิมและชาวฝรั่งเศส ซึ่งถูกก่อตัวขึ้นด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ในปารีสเมื่อปี 2015 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 130 คน รวมถึงการประดิษฐ์วาทกรรมทางการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
เหล่านี้สะท้อนผ่านการสังหาร ซามูเอล ปาตี (Sameul Paty) ครูในโรงเรียนมัธยมย่านปารีสในปี 2020 หลังถูกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงตัดศีรษะ โดยมีนักเรียน 6 คนสมคบคิดระหว่างก่อเหตุ โดยอ้างว่า เขาล้อเลียนศาสดาด้วยการชูรูปจากนิตยสารชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo) ระหว่างสอนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก
ยิ่งกว่านั้น ปรากฏการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ฮามาส สะท้อนจากการเสียชีวิตของเบอร์นาร์ดในโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านอารัส ที่ชายชาวรัสเซียแทงครูบริเวณลำคอและไหล่จนเสียชีวิต
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า โมฮัมเหม็ดตะโกนสรรเสริญพระเจ้าในระหว่างลงมือ ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงว่า เขากำลังทำสงครามศาสนาตามความต้องการของ คาเล็ด มาซาล (Khaled Mashal) ผู้นำกลุ่มฮามาส
การสูญเสียแบร์นาร์ดจึงกลายเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ของสังคมฝรั่งเศส รวมถึงกระตุ้นความกลัวและความโกรธแค้นต่อกลุ่มมุสลิม ซึ่งส่งผลต่อเหตุการณ์มากมายที่ตามมา เช่น กรณีครูในปารีสประท้วงด้วยการไม่เข้าสอน หลังนักเรียนมุสลิมแสดงความไม่พอใจที่ใช้ภาพเปลือย Diana and Actaeon ของ จูเซปเป เซซารี (Giuseppe Cesari) ศิลปินชาวอิตาเลียนในยุคเรเนอซองส์ (Renaissance) ประกอบการสอนในชั้นเรียนภาษาฝรั่งเศส
แหล่งข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ครูชูรูปภาพดังกล่าว นักเรียนมุสลิมหลบเลี่ยงสายตา รู้สึกไม่สบายใจและตกใจ โดยระบุว่า ศาสนาที่นับถือไม่สามารถทำให้เขาดูภาพโป๊เปลือยได้เหมือนคนอื่น
ขณะที่บางคนแสดงความรู้สึกว่า ครูกำลังเหยียดชาติพันธุ์ และมีผู้ปกครองส่งจดหมายแจ้งโรงเรียนว่า บุตรหลานของเขาไม่สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนดังกล่าวได้
นั่นจึงทำให้ครูบางส่วนแสดงความไม่พอใจ และประท้วงด้วยการไม่เข้าชั้นเรียน โดยระบุว่า เหตุการณ์นี้คือ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่พวกเขาจะอดทน และขอใช้สิทธิที่ห่างจากห้องเรียนท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ด้าน กาเบรียล อัตตาล (Gabriel Attal) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส ต้องเข้าพบครูที่ประท้วง พร้อมกับให้คำสัญญาว่า เขาจะลงโทษทางวินัยต่อนักเรียนที่กระทำความผิด
อ้างอิง
https://munaeem.medium.com/what-are-the-causes-of-islamophobia-in-france-784064c79ae1
Tags: ยุโรป, ฝรั่งเศส, อิสราเอล, อิสลาม, มุสลิม, ตะวันออกกลาง, โรงเรียน, ฮามาส, สถานศึกษา