เป็นเวลา 5 วันแล้ว เมื่อคลื่นแห่งความโกรธแค้นลุกโชนในฝรั่งเศส และยังไม่มีท่าทีจะสงบลง สำหรับการประท้วงครั้งใหญ่ของมวลชน ต่อการเสียชีวิตของ นาเฮล เมอร์ซูก (Nahel Merzouk) เด็กหนุ่มอายุ 17 ปี พลเมืองฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียและโมร็อกโก

ที่มา: Reuters

นาเฮลถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญด้วยอาวุธปืน ภายในรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ สีเหลืองที่เช่ามา โดยตำรวจผู้ก่อเหตุอ้างว่า นาเฮลขับรถหนีการตรวจของตน แม้มีพยานบอกเล่าถึงสาเหตุที่แท้จริง คือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ด้ามปืนฟาดเด็กหนุ่มถึง 3 ครั้ง ทำให้เขาตกใจและพลาดเหยียบคันเร่งรถก็ตาม

การเสียชีวิตครั้งนี้ของนาเฮล สะท้อนวิกฤตหลายอย่างในฝรั่งเศส โดยเฉพาะปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเยาวชน ก่อนหน้านี้มีรายงานปรากฏว่า ตำรวจมักใช้ความรุนแรงกับเด็กเป็นเรื่องปกติ นับตั้งแต่การควบคุมตัวเยาวชนอายุ 13-14 ปี จนถึงสถานการณ์ขั้นสุด คือการกล่าวหาว่าเด็กอายุ 10 ขวบ เป็นผู้ก่อการร้าย และกักตัวเธอเป็นเวลา 10 ชั่วโมง เพียงเพราะหนูน้อยและครอบครัวมีเชื้อสายตุรกี

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัญหาที่ยังเด่นชัดและเกิดขึ้นยาวนานในฝรั่งเศส คือการเหยียดชาติพันธุ์ (Racism) และการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ซึ่งอยู่ในทุกมิติและระดับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือแม้แต่นักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศสหลายรายที่เป็นฮีโร่ของคนในชาติก็ตาม

แน่นอนว่า ปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มตำรวจ มีรายงานจาก La Défenseur des Droits ในปี 2017 ว่า เด็กหนุ่มผิวดำหรือมีเชื้อสายอาหรับ มักตกเป็นเป้าการใช้ความรุนแรงจากตำรวจถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไป

ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปตามที่รายงานกล่าวอ้าง นาเฮลไม่ใช่คนแรกที่ต้องเสียชีวิตเพราะความวู่วามของตำรวจ หากย้อนกลับไปในปี 2005 ฝรั่งเศสเคยเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ เพราะการเสียชีวิตของ ไซเอ็ด เบนนา (Zyed Benna) และบูนา ทราโอเร่ (Bouna Traoré) เด็กหนุ่มเชื้อสายอาหรับ-แอฟริกัน ที่ถูกไฟฟ้าช็อตจนเผาไหม้ร่างกาย เพราะวิ่งหนีการไล่จับกุมของตำรวจ เมื่อมีผู้แจ้งความว่า พวกเขาจะก่ออาชญากรรมในไซต์ก่อสร้าง 

ยังไม่รวม อดามา ทราโอเร่ (Adama Traoré) ชายผิวดำวัย 24 ปี ที่ถูกตำรวจจับกุมจนเสียชีวิต ความตายของเขาก่อให้เกิดการประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมครั้งใหญ่อย่าง Black Lives Matter ในเวอร์ชันฝรั่งเศส เมื่อปี 2016 ตามมา

หากพิจารณาปัญหาในระดับโครงสร้าง ต้นตอของเหตุการณ์ทั้งหมดคงหนีไม่พ้น ‘การปลูกฝังเชิงระบบ’ ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะการสร้างอคติทางเชื้อชาติต่อกลุ่มคนผิวดำหรือคนอาหรับ ที่ไม่ใช่ ‘ฝรั่งเศสแท้’ ตามมายาคติ และแสดงออกผ่านกลยุทธ์ในการปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นการไล่ล่า การจับกุม หรือแม้แต่การล่วงละเมิดร่างกาย ซึ่งวิธีการทั้งหมดนี้มีรากฐานจากระบอบอาณานิคมของฝรั่งเศสในอดีต

ข้อความภาษาฝรั่งเศส ‘ล้างแค้นเพื่อนาเฮล’ (ที่มา: Reuters)

The Momentum ชวนทุกคนร่วมย้อนประวัติศาสตร์อาณานิคมฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและอคติทางเชื้อชาติ ซึ่งความคิดดังกล่าวยังส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน

‘ภาระของคนผิวขาว’: จุดเริ่มต้นของอคติทางเชื้อชาติในระบอบอาณานิคมฝรั่งเศส

จากหลักฐานที่ค้นพบ การใช้ความรุนแรงในอาณานิคม เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) ซึ่งเป็นช่วงปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงและกลุ่มตำรวจ โดยเฉพาะบทบาทในการปราบปรามผู้ก่อความวุ่นวายในประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจลงโทษได้โดยไม่ต้องพิจารณาคดี

ฝั่งนิติบัญญัติเองก็ปรากฏถึงหลักฐานความรุนแรงนี้ด้วยเช่นกัน มีกฎหมายมาตราหนึ่งที่พูดถึงการปฏิบัติต่อคนผิวดำหรือทาสชาวแอฟริกันระบุว่า ทาสที่หลบหนีเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จะต้องถูกตัดหูและตีตราบนไหล่ 1 ข้าง ในกรณีที่ทำผิดซ้ำสอง จะถูกตัดเอ็นร้อยหวายและตีตราบนไหล่ครบ 2 ข้าง แล้วหากมีการหลบหนีครั้งที่สามเกิดขึ้น จะได้รับโทษเพียงสถานเดียวเท่านั้น คือการประหารชีวิต 

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบกฎหมายฉบับหนึ่งในปี 1777 ที่เผยให้เห็นทัศนคติลึกๆ ของชาวฝรั่งเศสที่มองว่า คนผิวดำคือกลุ่มผิดปกติ เป็นอันตรายมากกว่าสร้างประโยชน์ และตีตราพวกเขาว่า มีนิสัยไม่เชื่อฟัง เป็นพวกดื้อด้าน คอยคิดแต่จะโหยหาอิสระ ซึ่งทางการฝรั่งเศสมีมาตรการว่า ถ้าคนกลุ่มนี้เข้ามาในประเทศ ต้องถูกเนรเทศกลับไปยังอาณานิคมของตนเอง

ความเกลียดชังทางเชื้อชาติในระบอบอาณานิคมยังคงดำเนินมาเรื่อยๆ ทั้งนโยบายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ที่ตรวจตราคนเชื้อสายแอฟริกันเป็นพิเศษ รวมถึงบทบาทของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่สถาปนาระบบทาสขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และสร้างระบบสำมะโนประชากรเพื่อแบ่งแยกคนดำหรือกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสผิวขาว 

ยังไม่รวมนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะฝรั่งเศสและชาติยุโรปมีความเชื่อว่า ประเทศของตนเองมีความเป็นอารยะ ไม่ป่าเถื่อน และสูงส่งกว่าชาติไหนๆ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของคนผิวขาวที่ต้องจัดระเบียบคนกลุ่มนี้ หรือเป็นที่รู้จักกันในแนวคิด ‘ภาระของคนผิวขาว’ (The White’s Man Burden)

ในเวลานั้น ฝรั่งเศสขยายกองกำลังตำรวจตามเมืองใหญ่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเงินและการค้าในรัฐอาณานิคม มีรายงานว่า กลุ่มตำรวจเหล่านั้นบังคับเด็กผู้ชายนับไม่ถ้วนให้ทำงานโดยไม่มีวันหยุด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1.5-3 หมื่นคน

การสังหารหมู่ปารีส 1961: เงากระจกสะท้อนอคติทางชาติพันธุ์ยุคหลังอาณานิคม 

แม้หลายประเทศประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด และเกิดระเบียบโลกแบบเสรีนิยม นำโดยสหรัฐอเมริกาที่เสนอ ‘หลักการกำหนดการปกครองตนเอง’ (Self-Determination) ในองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) แต่วิธีคิดเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ยังส่งผลมาถึงยุคหลังอาณานิคม (Post-Colonialism) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสยังมีอคติและเกลียดกลัวคนผิวดำและชาวอาหรับอยู่ 

มายาคตินี้นำไปสู่ ‘เหตุการณ์การสังหารหมู่ในปารีส’ ปี 1961 หลังตำรวจเคอร์ฟิวชาวแอลจีเรียในปารีส ท่ามกลางกระแสมวลชนในประเทศแอลจีเรีย ที่ต้องการปลดแอกจากฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคม 

ชาวแอลจีเรียกว่า 3 หมื่นคน ประท้วงอย่างสันติต่อการเคอร์ฟิวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่พวกเขากลับถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด นำโดย มอริซ ปาปอง (Maurice Papon) ผู้นำตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของ ชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ประธานาธิบดีในขณะนั้น

 ร่างไร้วิญญาณนับ 100 ศพ ถูกกระแสน้ำพัดขึ้นมาเกยฝั่งในแม่น้ำแซน ที่แปรเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรายงานว่า บุคคลที่อายุน้อยที่สุดในการสังหารหมู่วันนั้น คือฟาติมา เบดา (Fatima Beda) วัย 15 ปี ยังไม่รวมผู้คุมขังอีกนับ 1.4 หมื่นชีวิต

เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนใจใครหลายคนว่า รากเหง้าของระบอบอาณานิคมไม่เคยหายไปจากฝรั่งเศส ประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย’ เพราะในช่วงเวลานั้น ทางการฝรั่งเศสปิดงำความโหดร้ายของการสังหารหมู่ต่อชาวโลก ซึ่งแม้แต่พรรคฝ่ายซ้ายและสื่อก้าวหน้ายังมีส่วนร่วม 

จนกระทั่ง 14 ปีต่อมา ฟรองซัวส์ ออล็องด์ (Francois Hollande) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ออกมายอมรับว่า ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสคือเรื่องจริง 

รวมถึง เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่สัญญากับประชาชนว่า จะแก้ไขปัญหาเพื่อเยียวยาบาดแผลในอดีต แต่ก็ยังไม่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพนัก อีกทั้งยังใช้คำพูดในเชิง ‘ดูหมิ่น’ ประวัติศาสตร์ของแอลจีเรีย

ไม่ใช่ ‘คนผิวขาว’ จึงต้องอยู่แบบ ‘ไม่ใช่มนุษย์’ ในดินแดนแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย

แม้จะมีการพูดถึงความโสมมในอดีต และความพยายามสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1998 แต่สถานการณ์การเหยียดเชื้อชาติยังคงเลวร้ายเช่นเดิม 

จากคำบอกเล่าของเหยื่อ ฮิวแมนไรต์วอชต์ (Human Rights Watch: HRW) รายงานในปี 2020 ว่า ชาวอาหรับและคนผิวดำยังตกเป็นเป้าการใช้ความรุนแรงจากตำรวจ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อตำรวจมีอำนาจมากเป็นพิเศษ

วาล็องแต็ง ช็องดรอต์ (Valentin Gendort) นักข่าวที่แทรกซึมไปในพื้นที่อาศัยของเยาวชนผิวดำ อาหรับ และแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า คนกลุ่มนี้กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เพราะตำรวจโจมตีพวกเขาทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งรัฐบาลอังกฤษก็สมรู้ร่วมคิดกระบวนการนี้ ด้วยการจ่ายเงิน 55 ล้านปอนด์ แก่ตำรวจตระเวนชายแดนของฝรั่งเศส

แม้กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ออกมาเรียกร้องถึงวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาการปลูกฝังเชิงระบบ ทั้งในแง่การขัดเกลาผู้คนในสังคม หรือการศึกษาที่สะท้อนลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งสะท้อนผ่านความนิยมของประชาชนต่อ มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) นักการเมืองขวาจัดที่นิยมชมชอบระบอบอาณานิคม และด่าทอผู้อพยพอย่างไม่กระดากปาก 

แต่รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันในเหตุการณ์ของนาเฮลว่า ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติอยู่จริง รวมถึงมาครงที่แสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ก็พูดในทิศทางเดียวกันว่า เขาหาสาเหตุอธิบายเหตุการณ์นี้ไม่ได้ และเร่งให้กองกำลังตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมต่อไป

“ข้อกล่าวหาใดๆ ที่เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติหรือการเลือกปฏิบัติในกองกำลังตำรวจฝรั่งเศสนั้น ไม่เป็นความจริงเลย” กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสระบุ

“เยาวชนถูกสังหาร เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ และไม่ควรได้รับการให้อภัย” มาครงแสดงความคิดเห็นระหว่างการเยือนมาร์กเซย (Marseille) 

ที่มา: Reuters

“มันไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องที่หาคำอธิบายไม่ได้ นี่คือการเหยียดผิว” คริสตัล เฟรมมิง (Crystal Fleming) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยสโตนีบรูก (Stony Brook University) ตอบโต้มาครงผ่านด็อยท์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle: DW) พร้อมอธิบายว่า การประท้วงเกิดขึ้นจากความโกรธแค้นของประชาชน เพราะปัญหาเหยียดเชื้อชาติของฝรั่งเศสที่เชื่อมโยงกับอาณานิคม มักถูกจำกัดออกจากความทรงจำของผู้คนในประเทศ

เธอเสริมว่า รัฐบาลฝรั่งเศสยังคงแสดงตนเรื่อยๆ ว่า ไม่ใช่กลุ่มเหยียดผิว แม้ว่าข้อเท็จจริง ฝรั่งเศสไม่เคยใส่ใจการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ เพราะทางการไม่เคยทำสถิติบันทึกจำนวนเชื้อชาติพลเมืองในประเทศเลยก็ตาม

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการอคติทางชาติพันธุ์ในฝรั่งเศส นับตั้งแต่การรื้อโครงสร้างที่ปลูกฝังเชิงระบบต่อผู้คนในอดีต และหันมาทำความเข้าใจกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น 

โดยเฉพาะความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) เมื่อฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้เกิดการตีตราและใช้ความรุนแรงกับกลุ่มชาวอาหรับเป็นพิเศษ

นอกจากนั้น การพูดถึงต้นตอของปัญหาอย่างการนิยามคำว่า ‘ความมั่นคงของชาติ’ ในกลุ่มตำรวจก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะปัจจุบันนิยามดังกล่าวจำกัดไว้สำหรับ ‘คนผิวขาว’ เพียงเท่านั้น แม้ว่าความรุ่งโรจน์ของฝรั่งเศสทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะคนทุกกลุ่ม 

เพราะสุดท้ายแล้ว อาจจะดูมือถือสาก ปากถือศีล ถ้าผู้คนทั่วโลกยังต้องเห็น ‘นาเฮลคนต่อไป’ ในดินแดนที่มีคำขวัญประจำชาติว่า ‘เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ’

ที่มา: Reuters

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2023/06/30/travel/france-paris-violence-safe-travel/index.html

https://www.bbc.com/news/world-europe-66052104

https://www.bbc.com/news/world-europe-66075798

https://www.nytimes.com/2023/06/29/world/europe/nahel-france-police-shooting-nanterre.html

https://www.aa.com.tr/en/europe/france-4-children-terrorized-by-police-for-11-hours/2035384

https://www.bbc.com/news/world-europe-52898262

https://jacobin.com/2020/07/police-racism-france-africans-colonialism

https://www.theguardian.com/world/2015/mar/15/trial-france-racial-divide

https://www.aljazeera.com/news/2023/6/30/security-heightened-in-france-as-police-violence-in-the-spotlight

https://www.newarab.com/opinion/colonial-roots-french-policing-cannot-be-ignored

https://www.newarab.com/opinion/macrons-1961-massacre-remarks-show-frances-colonial-apathy

https://www.dw.com/en/frances-colonial-past-and-racism-play-a-role-in-the-uprising-following-nahels-killing-by-police/a-66098959

https://www.aljazeera.com/news/2023/6/28/french-president-says-teenagers-killing

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,