เมื่อวานนี้ (31 ตุลาคม 2023) ตำรวจฝรั่งเศสยิงหญิงมุสลิม หลังได้รับแจ้งเหตุจากผู้คนบนสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีสว่า เธอตะโกนสรรเสริญพระเจ้าด้วยคำว่า ‘อัลลอฮุอักบัร’ (Allahu Akbar) และข่มขู่ผู้คนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งสะท้อนภาวะความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายในฝรั่งเศส
ตามรายงานของเอเอฟพี (AFP) และคำบอกเล่าของพยานในเหตุการณ์ ผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวอายุ 38 ปี เธอสวมฮิญาบปกคลุมทั่วใบหน้า และตะโกนคำสรรเสริญพระเจ้าในศาสนาอิสลาม และข่มขู่ผู้คนบนสถานีรถไฟ
แม้ตำรวจจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และแยกเธอออกจากผู้โดยสารในสถานีรถไฟห้องสมุด ฟรองซัว มิแตร์ร็อง (Bibliotheque Francois Mitterrand) แต่ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของตำรวจ อีกทั้งยังข่มขู่ว่า จะระเบิดพลีชีพตนเอง
นั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คน ตัดสินใจยิงเธอโดยเน้นที่บริเวณช่วงท้อง เบื้องต้น อัยการรายงานว่า เธอได้บาดเจ็บขั้นวิกฤตกระทบถึงชีวิต เพราะบาดแผลจากการยิงทั้ง 8 ครั้ง แม้ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ตำรวจยิงเธอเพียงครั้งเดียว และไม่พบว่า ร่างกายของเธอมีระเบิดหรืออาวุธอื่นๆ ตามคำกล่าวอ้าง
ขณะนี้ เจ้าหน้าที่แบ่งกำลังเป็น 2 หน่วยในการสอบสวนครั้งนี้ โดยหน่วยแรกทำหน้าที่ตรวจสอบหญิงผู้ต้องสงสัย ขณะที่ตำรวจอีกหน่วยสอบสวนการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า สมเหตุสมผลหรือไม่
เสียงที่แตกเป็นสองฝ่าย: ทำเกินกว่าเหตุหรือสมควรแล้ว?
“ในฝรั่งเศส คุณไม่จำเป็นต้องมีปืนหรือมีด แค่ตะโกนว่า อัลลอฮุอักบัร มันก็เพียงพอที่ตำรวจจะฉี่ราดด้วยความกลัว” แอ็กเคานต์หนึ่งในทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็น
“เธอไม่มีอาวุธ ในบริบทนั้นไม่สามารถบอกได้เลยว่า เธอคือภัยคุกคาม ตรงนี้สำคัญนะ” คอมเมนต์หนึ่งตอบกลับในทวิตเตอร์ของสำนักข่าวฟรานซ์ 24 (France 24)
“นี่อาจเป็นเรื่องที่พวกหัวรุนแรงสร้างขึ้นก็ได้หรือไม่? หลักฐานอยู่ตรงไหน? ความหวาดกลัวของคนหัวรุนแรงเป็นสิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันที่สุด”
“พวกเขายิงผู้หญิงที่ไม่มีอาวุธ นั่นไม่ใช่ความแข็งแกร่งหรือความถูกต้องหรอกนะ พวกเขารังเกียจและขี้ขลาดต่างหาก หมาไม่เคยเห่าใส่ผู้หญิง แต่คนขี้ขลาดทำ” คอมเมนต์แสดงความคิดเห็นในวิดีโอของเฟซบุ๊กสำนักข่าวด็อยท์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle: DW) ของเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม มีกระแสเห็นด้วยกับการกระทำของตำรวจ โดยเผยว่า เป็นเหตุจำเป็นที่ต้องทำเพื่อรักษาความสงบสุขของประเทศ
“มันดีแล้ว นี่เพียงพอที่ตำรวจจะเจาะจงคนกลุ่มนี้”
“ฝรั่งเศสอนุญาตให้คนพวกนี้เข้ามาโดยไม่ต้องตรวจสอบใดๆ บางคนมีชีวิตที่ดี ขณะที่บางคนฉวยผลประโยชน์จากสิ่งที่ดี น่าเศร้ามาก” คอมเมนต์บางส่วนที่เห็นต่างในวิดีโอของด็อยท์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle: DW)
ขณะเดียวกัน โอลิวิเย เวอร็อง (Olivier Veran) โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส เผยว่า ตำรวจไตร่ตรองเป็นอย่างดีแล้วว่า สถานการณ์มีความอันตรายสูง เพราะมีประชาชนโทรสายด่วนฉุกเฉินมากกว่า 3 ครั้ง โดยทางการจะสืบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมผ่านกล้อง CCTV ของสถานีเพื่อคลายเหตุสงสัย
นอกจากนี้ เวอร็องยังระบุว่า หญิงผู้ต้องสงสัยเคยมีความผิดฐานข่มขู่ทหารลาดตระเวนมาก่อน แต่เลี่ยงไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิตของเธอ
“เราจะรู้กันในอีกไม่กี่ชั่วโมง” โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสทิ้งท้าย
ฝรั่งเศสกับความหวาดกลัวต่อการก่อการร้าย: ต้นเหตุจากความเกลียดกลัวและการเหยียดเชื้อชาติ
ปัจจุบัน ฝรั่งเศสกำลังอยู่ในคลื่นความหวาดกลัวครั้งใหญ่ หลังชายชาวรัสเซียแทง โดมินิก แบร์นารด์ (Dominique Bernard) อาจารย์ประจำโรงเรียนย่านอารัส (Arras) ทางตอนเหนือของปารีส จนเสียชีวิต ทำให้มีการเฝ้าระวังเหตุในโรงเรียนอย่างเข้มงวด อีกทั้งรัฐบาลยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นสูงสุด และระดมทหาร 7,000 นาย ประจำการในสถานที่สำคัญนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เอ็มมานูเอล มาครง (Emmaneul Macron) แถลงการณ์ยืนยันต่อสาธารณชนว่า รัฐบาลพร้อมทำทุกหนทาง เพื่อจัดการกลุ่มก่อการร้ายอย่างไม่ปรานี
โดยชี้แนะให้ตำรวจตรวจสอบข้อมูลกลุ่มหัวรุนแรงที่หนีออกจากฝรั่งเศส และแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงภายในให้จับตามองกลุ่มชายวัย 16-25 ปีที่มาจากภูมิภาคคอเคซัส (Caucasus) เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ เฌอราลด์ ดาร์มาแน็ง (Gérald Darmanin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงภายในเผยว่า การก่อการร้ายทั้งหมดมาจากปัญหาความขัดแย้งอิสราเอลกับฮามาส ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะในย่านชุมชนอารัสที่มีชาวยิวและชาวมุสลิมอาศัยด้วยกัน
ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝรั่งเศสต้องเผชิญเหตุก่อการร้ายในประเทศ ย้อนกลับไปในปี 2015 ดินแดนแห่งนี้เคยเกิดเหตุก่อการร้าย คือการโจมตีออฟฟิศของนิตยสาร ชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo) หลังเผยแพร่การ์ตูนล้อเลียนผู้นำกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant: ISIL)
ตามมาด้วยเหตุโจมตีครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสยุคใหม่ เมื่อเกิดเหตุระเบิดพลีชีพและมือปืนกราดยิงในปารีส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน และผู้บาดเจ็บ 350 ราย โดยกลุ่ม ISIL อ้างว่า เป็นผู้ลงมือและอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์
นอกจาก ‘การทำสงครามครูเสดยุคใหม่’ หนึ่งในเหตุผลที่กลุ่มก่อการร้ายทิ้งนัยการลงมือครั้งนี้ คือการเหยียดชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงกับยุคอาณานิคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้อพยพ เมื่อในอดีต แรงงานกลุ่มนี้คือกำลังสำคัญพัฒนาประเทศ ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็น ‘ภาระ’ ทันทีที่เกิดปัญหา
อ้างอิง
https://twitter.com/FaganKara/status/1719355491967443214
https://www.facebook.com/deutschewellenews/videos/1504409166988614
สุรชาติ บำรุงสุข, “การก่อการร้ายใหม่: หลังยุคปารีส,” จุลสารความมั่นคงศึกษา, ฉบับที่ 166, (ธันวาคม: 2558), 6-11.
Tags: อิสราเอล, ก่อการร้าย, ปาเลสไตน์, อิสลาม, มุสลิม, ยิว, การก่อการร้าย, รัฐบาลฝรั่งเศส, ยุโรป, การเมืองฝรั่งเศส, Terrorism, ฝรั่งเศส