เช้าวันนี้ หลายคนคงทราบข่าวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับมาของทั้ง 5 คน ใน ‘เรือไททัน’ หรือเรือดำน้ำพาชมซากเรือไททานิก ที่ขาดการติดต่อไปตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ยามฝั่งสหรัฐอเมริกาแจ้งว่า พบชิ้นส่วนเรือไททันจากการระเบิดในกลางดึกเมื่อเวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

มากกว่าทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง ‘อาถรรพ์เจ้าหญิงมัมมี่’ ในเรือไททานิก โศกนาฏกรรมนี้คงมีบทเรียนมากมายให้จารึกประวัติศาสตร์โลก นับตั้งแต่ประเด็น ‘ความประมาท’ ของผู้คนที่มีส่วนร่วมกับเรือไททัน ซึ่งเหมือนกันกับเหตุการณ์การล่มของเรือไททานิก 

ที่มา: Reuters

มีรายงานโดยบีบีซี (BBC) ว่า อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเรือดำน้ำของโอเชียนเกต (OceanGate) ฝ่ายที่ริเริ่มการจัดทัวร์ชมเรือไททานิก ออกมาพูดถึงอันตรายของเรือดำน้ำพาทัวร์ชนิดนี้ เช่น ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์มีปัญหากับการเจอแรงดันสูงในท้องทะเล หรือหน้าต่างเกิดข้อบกพร่อง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรม

ที่มา: Reuters

ขณะเดียวกัน หากเราย้อนประวัติศาสตร์โลกเมื่อครั้งเรือไททานิกล่ม จะพบว่าเรือใกล้เคียงเตือนเรื่อง ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ถึง 5 ครั้งด้วยกัน แต่ แจ็ก ฟิลิปส์ (Jack Phillips) พนักงานวิทยุโทรเลขประจำเรือ ไม่ได้บอกกับเจ้าหน้าที่คนไหน เพราะวุ่นวายกับข้อความของผู้โดยสาร แม้ว่าเขาจดบันทึกพื้นที่ที่มีภูเขาน้ำแข็งแล้วก็ตาม นั่นจึงนำมาสู่เรื่องราวอันน่าเศร้าในเวลาต่อมา

“รู้ทั้งรู้ว่าอันตราย จะไปทำไม”

“เงินเกือบ 9 ล้านบาท เราไม่โง่เสียเงินไปหรอก”

มากกว่าการถอดบทเรียนจากการสูญเสีย สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งไทยและต่างประเทศ คือข้อถกเถียงต่อความเสี่ยงการทัวร์ในครั้งนี้ นับตั้งแต่การตั้งคำถามว่า “รู้ว่าเสี่ยง รู้ว่าอันตราย แต่ทำไมพวกเขาถึงอยากไป” จนถึง “เราไม่ควรท้าทายหรือยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้ดีพอ” 

ไม่ว่าความเห็นจะเป็นอย่างไร แต่ทุกคนคงมีคำตอบในใจ ‘ที่เชื่อว่าถูกต้อง’ อยู่แล้ว เพราะสำหรับผู้คนบางส่วน ‘ความท้าทาย’ และ ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ ก็กระตุ้นต่อมการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นธุรกิจที่แพร่หลายในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือการท่องเที่ยวที่เรียกว่า ‘Extreme Tourism’ หรือการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมภายใต้ความเสี่ยง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรวย 

เพื่อนำเสนอข้อมูลอีกด้านต่อข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ว่าด้วย “รู้ว่าเสี่ยง แต่ทำไมยังไป” The Momentum พาทุกคนไปเจาะลึก Extreme Tourism การท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมที่ ‘แบกรับความเสี่ยงมหาศาล’ แต่ผู้คนบางส่วนอยากลองสักครั้งในชีวิต รวมถึงข้อถกเถียงในมิติใหม่ๆ อย่าง ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ จากการท่องเที่ยวดังกล่าวที่ไม่ค่อยมีใครหยิบยกขึ้นมา

‘Extreme Tourist’ การท่องเที่ยวแบบเสี่ยงๆ ที่ราคาแพง แต่หลายคนอยากลอง โดยเฉพาะมหาเศรษฐี

อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด การท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีม คือการท่องเที่ยวภายใต้ความเสี่ยงสูง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสถานที่ห่างไกลที่อันตราย และเป็นการท่องเที่ยวที่แตกต่างจากประเภทอื่นๆ เพราะมอบประสบการณ์และความน่าตื่นเต้นที่ไม่เหมือนใครให้กับผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะการเล่นกับความท้าทายขีดจำกัดทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ 

ปกติแล้ว กิจกรรมการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมมักจำกัดแค่เพียงการปีนเขา กระโดดร่ม กระโดดบันจีจัมป์ และล่องแก่ง ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่า สิ่งเหล่านี้มีพัฒนาการและซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะกิจกรรมแปลกๆ ที่ไม่คาดคิดว่าจะมีคนทำ กลายเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวแบบเสี่ยงๆ เป็นที่เรียบร้อย 

ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าชมกอริลลาสีเงินในรวันดา ทัวร์อวกาศของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทัวร์เรือดำน้ำในเวียดนามที่กลายเป็นรีสอร์ทใต้น้ำ หรือแม้แต่การชมซากเรือไททานิกใต้มหาสมุทรแอตแลนติก กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมามีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ พอๆ กับราคาที่แพงขึ้น จนคนที่ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ไม่สามารถใช้เงินไปกับการสันทนาการอันสุดระทึก นั่นจึงทำให้การท่องเที่ยวในลักษณะหลังกลายเป็นเทรนด์ของคนรวยระดับอภิมหาเศรษฐีของโลกขึ้นมา 

ที่มา: Reuters

ทั้งราคาแพง น่ากลัว และเสี่ยง แต่เศรษฐีหลายคนก็เลือกจะไป นั่นก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มอบ ‘ประสบการณ์ที่เหนือชั้นและไม่มีวันลืม’ สำหรับพวกเขา

“สิ่งที่ผมเห็นจากคนร่ำรวยมหาศาล (ในการเลือกทัวร์) เงินไม่เป็นปัญหา เมื่อเป็นเรื่องของประสบการณ์ พวกเขาแค่ต้องการบางสิ่งที่พวกเขาจะไม่มีวันลืม” นิก อันนันซิโอ (Nick D’Annunzio) เจ้าของ TARA, Ink. บริษัทประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยว อธิบายเบื้องลึกของคนรวยที่ต้องการท่องเที่ยวแบบสุดโต่ง

เพราะบางคนมีเงินมากมายที่ไม่มีวันหมด เบื่อกับชีวิตการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ไร้ความท้าทายในชีวิต หลังจากมีโอกาสทำทุกอย่างที่อยากทำแล้ว กลับกัน พวกเขาอยากทดลองอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะการเป็นไม่กี่คนบนโลก ผู้มีโอกาสได้เห็นหรือสัมผัสในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยได้ลิ้มลอง

การลงไปดูซากเรืออับปางในหน้าประวัติศาสตร์โลก การได้เห็นโลกนอกท้องนภาด้วยตาของคุณเองจากที่เคยได้ยินได้ฟังผ่านตำราเรียน หรือแม้แต่การเล่นสกีโดยอาศัยเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบนยอดเขา แทนการใช้ลิฟต์สกีธรรมดา (Heli-Skiing) ในเทือกเขาหิมาลัยที่ปกคลุมด้วยหิมะในแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย จึงเป็นอะไรที่คุ้มค่าสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้มาก 

ที่มา: Reuters

และหากรอดชีวิตกลับมา ก็เปรียบเสมือนได้ ‘รางวัลชีวิต’ เพราะอีกนัยหนึ่ง การท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมคือการเผชิญขีดจำกัด ขีดความกลัวของมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาก็จึงภาคภูมิใจในเรื่องเหล่านี้ และต้องการส่งต่อประสบการณ์สุดระทึกกับคนอื่นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวซ้ำๆ อย่างไม่มีวันเบื่อหน่าย 

การแข่งขันของทัวร์อวกาศและธุรกิจทัวร์แปลกๆ: นัยสำคัญถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ

การแข่งขันทำการตลาดในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศของสามอภิมหาเศรษฐีของโลก เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) บ่งบอกได้อย่างดีว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมกำลังดำเนินไปทิศทางไหน 

ริชาร์ด แบรนสันกับการเฉลิมฉลองธุรกิจของเขา ที่มา: Reuters

ฟังแล้วอาจดูเหลือเชื่อและห่างไกลตัวใครหลายคน เพราะมีคนยอมจ่ายค่าตั๋วราคาถึง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 990 ล้านบาท) ให้บริษัทบลูออริจิน (Blue Origin) ของเบซอส เพื่อแลกกับการอยู่ชมอวกาศประมาณ 10 นาที รวมถึงยอดขายตั๋วเยือนอวกาศของเวอร์จินแกแล็กติก (Virgin Galactic) ของแบรนสัน ในราคา 4.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 15 ล้านบาท) ที่ขายไปแล้วถึง 800 ใบ

แต่หากพิจารณาในเชิงตัวเลขและสถิติ จำนวน ‘คนรวยระดับอภิมหาเศรษฐี’ ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อ้างอิงจากรายงานของ Knight Frank บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของโลกที่เผยว่า บุคคลที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,057 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 44% ตั้งแต่ปี 2017

นอกเหนือจากความสนใจส่วนตัว และการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมก็เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคระบาดโควิด-19 ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตขึ้น เพราะผู้คนต่างอัดอั้นที่จะอยู่แต่ในบ้าน และอยากลองเผชิญโลกกว้างในรูปแบบแปลกๆ

ขณะที่ฝ่ายทำธุรกิจก็ภูมิใจไม่น้อย เจฟฟรีย์ เคนต์ (Geoffrey Kent) ผู้ก่อตั้งบริษัทท่องเที่ยวสุดหรู อเบอร์ครอมบีย์แอนด์เคนต์ (Abercrombie & Kent) แสดงความรู้สึกผ่านซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า การมอบประสบการณ์สุดระทึกให้กับแขก ถือเป็นความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง และเผยว่า เขากำลังวางแผนการเดินทางใหม่ๆ สำหรับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการขับรถแข่งบนน้ำแข็งในฟินแลนด์ และเดินป่าชมอุรังอุตังในเกาะบอร์เนียว 

ป่าในเกาะบอร์เนียว ที่มา: Reuters

อีกมุมหนึ่งก็น่าเศร้า เพราะ กิเดียน คิมเบรลล์ (Gideon Kimbrell) CEO และผู้ก่อตั้ง InList แอปพลิเคชันจองสถานที่พักผ่อนสุดหรูในวันหยุด ทิ้งคำพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มคนรวยที่ปลอดภัยจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้ ทำให้คนทั่วไปได้แต่นั่งจินตนาการการท่องเที่ยวเหล่านี้แทน ซึ่งประโยคนี้แอบแฝงไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมล้วนๆ

เสียงที่ไม่มีใครสนใจ: ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจากทัวร์แปลกๆ ของคนรวย

นอกเหนือจากประเด็นความเหลื่อมล้ำ ‘คนรวยกระจุก คนจนกระจาย’ ที่เกิดอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์ตรีมยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานที่มากกว่าคนทั่วไป ด้วยยานอวกาศ เครื่องบินไพรเวตเจ็ต (Private Jet) หรือแม้แต่การรุกล้ำพื้นที่ทางธรรมชาติจนกระทบต่อระบบนิเวศ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจน กรณีทวีปแอนตาร์กติกาที่ผู้คนเข้าไปท่องเที่ยว ที่จริงแล้ว ทวีปแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะ ‘สมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ’ (Common Heritage of Mankind) ไม่มีรัฐบาลไหนหรือหน่วยงานใดที่มีสิทธิขาดในอาณาเขตแห่งนี้ ซึ่งมีข้อตกลงภายใต้ระบบสนธิสัญญาแอนตาร์กติก (Antarctic Treaty System: ATS) 

อย่างไรก็ตาม แอนตาร์กติกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแปลกยอดฮิตแห่งหนึ่งของโลก เพราะการเข้าถึงง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ การทัวร์ทวีปอันหนาวเย็นแห่งนี้เริ่มต้นในปี 1950 ต่อมาถูกพัฒนาภายใต้บริษัททัวร์เอกชน 7 แห่ง ที่รวมตัวกันในนามของสมาคมผู้ประกอบการทัวร์แอนตาร์กติการะหว่างประเทศ (International Association of Antarctica Tour Operators: IAATO) ในปี 1991

ที่มา: Reuters

แม้จะมีข้อห้ามที่ควรปฏิบัติในระหว่างการท่องเที่ยว แต่การทัวร์ก็ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย เช่น มีการเปิดเผยว่า เพนกวินตาย 2 ตัว หลังจากมนุษย์เข้าไปถ่ายรูปและใช้เส้นทางที่พวกมันเคยเดิน เจ้าสัตว์น้อยต้องถูกบังคับให้ใช้เส้นทางอื่น จึงโดนแมวน้ำทับจนเสียชีวิต หรือการล่องเรือสำราญ Coral Princess ที่ก่อให้เกิดมลพิษกระทบต่อสัตว์และมหาสมุทรในพื้นที่ ทั้งจากเครื่องยนต์และของเสียของมนุษย์

สิ่งเหล่านี้ยังซ้ำเติมความบอบบางทางระบบนิเวศในทวีป เพราะแอนตาร์กติกาเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดเป็นพิเศษจากสภาวะโลกรวน (Climate Change) หรือกิจกรรมที่หลายคนคาดไม่ถึง เช่น การแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการตกกุ้งเคย ปลาฟันปาตาโกเนียน รวมถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภายใต้ ATS

จากเรื่องราวทั้งหมด เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงการสูญเสียของผู้คนบนเรือไททัน หากคิดให้ลึกซึ้งมากกว่าแค่ ‘เรื่องราวของมนุษย์ขี้สงสัย’ หรือ ‘มนุษย์ที่ชอบท้าทายกับความเสี่ยง’ 

‘ส่วนที่มองไม่เห็นใต้ภูเขาน้ำแข็ง’ จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ล้วนสมควรได้รับการพูดถึงไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่งในโลก ซึ่งสะท้อนจากการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมของคนรวย 

หรือแม้แต่ความสนใจของผู้คนที่จับจ้องการสูญหายของเรือดำน้ำ มากกว่าโศกนาฏกรรมใน ‘การล่มของเรือผู้อพยพ’ นอกชายฝั่งกรีซ ก็เกี่ยวข้องกับ ‘ความเป็นความตาย’ เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

https://www.nationalgeographic.co.uk/history-and-civilisation/2022/04/despite-the-warning-iceberg-right-ahead-the-titanic-was-doomed

https://www.bbc.com/thai/articles/c9rn16yw5n6o

https://www.bu.edu/articles/2023/extreme-tourism/

https://edition.cnn.com/2023/06/21/business/oceangate-expeditions-titanic-tourism-cost-dangers/index.html

https://www.reuters.com/world/extreme-tourism-allows-ultra-wealthy-explore-new-frontiers-2023-06-21/

https://edition.cnn.com/travel/article/transparent-tourist-submarine-launches-at-vietnam-resort/index.html

https://www.axios.com/2023/06/22/titanic-submarine-space-everest-extreme-travel-danger

https://www.bbc.com/thai/articles/c9rn16yw5n6o

https://www.nytimes.com/2020/02/26/travel/antarctica-tourism-environment-safety.html

Tags: , , , , , , , , , , , , ,