การเมืองภูมิภาคยุโรป ตกเป็นประเด็นใหญ่โตในสายตาชาวโลก หลังจากวันที่ 12 เมษายน 2566 เอ็มมานูเอล มาครง (Emmaneul Macron) แสดงความคิดเห็นเรื่องไต้หวัน ระหว่างนายกรัฐมนตรีแห่งเนเธอร์แลนด์ มาร์ก รุด (Mark Rutte) ว่า “การเป็นพันธมิตรไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นคนรับใช้” อีกทั้ง 3 วันก่อนหน้านั้น ผู้นำแห่งฝรั่งเศส ยังเรียกร้องให้เหล่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) เริ่มมีกลยุทธ์  ‘ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์’ (Strategic autonomy)

หลายคนอาจมองว่า คำพูดทั้งหมดไม่มีนัยสำคัญอะไร หากแต่การกระทำบ่งบอกถึงความต้องการลึกๆ ในใจของเขาได้หมด เมื่อมาครงเดินหน้าผูกมิตร เข้าหาจีนอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มจากการพบ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) เพื่อหารือถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และขอให้เป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อสันติภาพ รวมถึงทิ้ง ‘หมัดเด็ด’ หรือคำพูดอันเป็นเค้าลางแห่งความแตกแยกในยุโรป ระหว่างการสัมภาษณ์ว่า “ยุโรปควรลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันในเรื่องไต้หวัน” 

ภาพ: Reuters

ความพยายามถอยห่างจากสหรัฐฯ และการ ‘ปิดตาข้างหนึ่ง’ ต่อเรื่องราวของไต้หวันในครั้งนี้ ทำให้มาครงถูกตั้งคำถามจากชาวโลกเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในฐานะผู้นำแห่งฝรั่งเศส แต่นั่นคือ ‘ผู้นำแห่งสหภาพยุโรป’ หลังจาก EU สูญเสียเสาหลักคนสำคัญ อังเกลา แมร์เคิล (Angel Merkel) ราชินีหญิงเหล็ก ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับเรื่องราวทุกยุค นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ผู้อพยพ ปัญหาทางการเงินในยุโรป จนถึงโรคระบาดอย่างโควิด-19

แม้ว่าเยอรมนีมีผู้นำคนใหม่ โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) แต่เขาก็ล้มเหลวด้านการรวมยุโรปให้เป็นหนึ่ง เนื่องจากการให้ความสำคัญกับนโยบาย ‘เยอรมันต้องมาก่อน’ (Germany First) สุดท้าย มาครงจึงกลายเป็นผู้นำแห่งสหภาพไปโดยปริยาย 

ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองอันน้อยนิด นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามหนึ่งอยู่เสมอ นับตั้งแต่เขาขึ้นสู่ตำแหน่งว่า “มาครงกำลังพาสหภาพยุโรปไปในทิศทางไหน?” เมื่อคำพูดและการกระทำของเขา ราวกับจะสุมไฟให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง โดยเฉพาะวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ซึ่งมีไต้หวันเป็นหมากเกมหนึ่งในเรื่องราวนี้

สถานการณ์ปัจจุบันในสหภาพยุโรป: ทางสองแพร่งที่ต้อง (จำใจ) เดินร่วมกัน

ความเห็นของมาครงต่อการปลีกตัวออกจากสหรัฐฯ และไม่ยุ่งในความขัดแย้งของไต้หวัน สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศอื่นๆ ใน EU เป็นจำนวนมาก มีรายงานโดย Politco ว่า ผู้นำของกลุ่มประเทศยุโรปขุ่นเคืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะคำพูดนี้สร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศทางตะวันออกของยุโรป ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุน และทำให้อิทธิพลของปักกิ่งยิ่งทวีคูณไปเสียกว่าเดิม

หลายประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่อดีต ออกมาแก้ต่างความคิดเห็นจากผู้นำแห่งฝรั่งเศส เริ่มจากโปแลนด์ “แทนที่จะสร้างเอกราชทางกลยุทธ์ ผมว่าเราควรผลักดันหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) กับสหรัฐฯ เสียดีกว่า” มาเตอุช โมราวีแยตสกี (Mateusz Morawiecki) นายกรัฐมนตรีโปแลนด์กล่าว

รวมถึงเยอรมนี อันนาเลนา แบร์บ็อก (Annalena Baerbock) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นระหว่างการไปเยือนปักกิ่ง แม้ว่าไม่มีการวิจารณ์ถึงคำพูดของผู้นำแห่ง EU อย่างตรงไปตรงมา แต่เธอเน้นย้ำในฐานะตัวแทนของยุโรปว่า ทั้งภูมิภาคต้องการเห็นความรับผิดชอบของปักกิ่ง ต่อการลดระดับความรุนแรง ซึ่งมาจากการซ้อมรบทางทหารในช่องแคบไต้หวัน 

“เราหวังให้ทุกฝ่ายในภูมิภาคสร้างสันติภาพร่วมกัน รวมถึงจีนด้วย…สำหรับสหภาพยุโรป การกระทำทางการทหาร (ของจีนต่อไต้หวัน) ดูราวกับสวนทางต่อเป้าหมายของเรา และเพิ่มความเสี่ยงของการปะทะทั้งสองฝ่ายอย่างไม่ได้ตั้งใจ” โฆษกประจำกระทรวงต่างประเทศกล่าว

ในทางกลับกัน วงการนักการทูตวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาครงอย่างตรงไปตรงมา นักการทูตประจำประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งไม่เปิดเผยตัวตนรายหนึ่ง ถึงกับออกปากว่า เขาไม่ทราบจุดมุ่งหมายของมาครงต่อความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Transatlactic) สหรัฐฯ-ยุโรปควรเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางวิกฤตต่างๆ และการเยือนของฝรั่งเศสในครั้งนี้ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด 

จากความคิดเห็นทั้งหมด เราคงพอคาดเดาได้ว่า ยุโรปแตกเป็นสองฝ่ายไปเสียแล้ว แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความเห็นต่างเกิดขึ้น เพราะมาครงเองก็เคยเสนอให้ยุโรปมีอิสระในการทหารและเศรษฐกิจ และยังไม่รวมถึงความขัดแย้งภายในสหภาพด้วยมูลเหตุอื่นๆ อย่างปัญหาผู้ลี้ภัยอพยพ ปัญหาการเงินจากเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) หรือแม้แต่การประกาศเอกราชของ ‘ซาฮาราตะวันตก’ (Western Sahara) 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะส่งผลต่อบูรณภาพของสหภาพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการแตะประเด็นสุ่มเสี่ยงอย่างการละทิ้งสหรัฐฯ และเข้าหาจีน ที่แม้แต่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกยังไม่สามารถออกตัวได้อย่างตรงไปตรงมา

บทวิเคราะห์: ยุโรปจะสามารถการถอยห่างจากสหรัฐฯ และไต้หวันได้จริงหรือไม่?

คำถามนี้คงอยู่ในใจหลายคน หลังจากผู้นำแห่งฝรั่งเศสเน้นย้ำถึงความเป็นอิสระทางกลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ 

แม้มีบางส่วนเห็นว่า กลยุทธ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะความสัมพันธ์ของยุโรปและสหรัฐฯ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ และดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวตนเองจากโลกระหว่างประเทศ (Isolationism) ละทิ้งประเทศพันธมิตรต่างๆ รวมถึงหยามเหยียดยุโรป ซึ่งเคยเป็นพื้นที่แรกในการให้ความสำคัญว่า “แย่กว่าจีน แต่เล็กกว่า” และ “ศัตรู” จนทำให้ความเชื่อใจของเหล่าประเทศ EU ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูเรื่องราวความสัมพันธ์ของพันธมิตรข้ามสมุทรแอตแลนติกนับตั้งแต่อดีต เริ่มจากการวางกฎระเบียบโลกแบบเสรีนิยมร่วมกัน ภายใต้องค์การสันนิบาตแห่งชาติ (League of Nations: LON) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย ที่ไม่ผูกติดกับทวีปยุโรปเพียงอย่างเดียว เช่น ปฏิบัติการในอิรัก และการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก รวมถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ จากทรัมป์ สู่ ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) ซึ่งให้ความสำคัญต่อยุโรปมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า การละทิ้งความสัมพันธ์จากสหรัฐฯ คงไม่ใช่ความคิดที่ชาญฉลาดนัก โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุโรปไม่สามารถต่อกรกับมอสโกได้ตามลำพัง และจำเป็นอย่างมากต้องพึ่งพาบทบาทของสหรัฐฯ เบนจามิน ทาลิส (Benjamin Tallis) นักวิชาการประจำ German Council of Foreign Relations ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า คำพูดของมาครงไม่เข้าข่ายในทางความเป็นจริง และเป็นอันตรายกับภูมิภาค เพราะยุโรปไม่มีความสามารถในด้านการป้องกันตัว แม้ว่าจะมีรถถังหรือทหารมากมาย แต่ยังขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘กลยุทธ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จ’ และสหรัฐฯ คือหลักประกันความมั่นคงชิ้นสำคัญของยุโรป เพราะอำนาจจากอาวุธนิวเคลียร์ที่ป้องปรามมิให้รัสเซียกล้าลงมือไปมากกว่านี้

นอกเหนือจากนั้น สหภาพยุโรปต่างกลัวภัยจากจีน ทั้งความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอำนาจนิยมของสองฝ่าย เช่น ข้อวิจารณ์เรื่องเสรีภาพในการชุมนุมของฮ่องกง ประเด็นสิทธิมนุษยชนในค่ายกักกันซินเจียง-อุยกูร์ รวมถึงข้อพิพาทความมั่นคงทางเทคโนโลยี อย่างประเด็น 5G และความปลอดภัยทางข้อมูล นักวิชาการบางคนถึงกับเน้นย้ำว่า ‘ภัยคุกคามโดยจีน’ อาจเป็นจุดสำคัญก่อให้เกิดความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างมีประสิทธิภาพ

และสำหรับความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีน ก็เป็นเรื่องยากที่ยุโรปจะนิ่งเฉย ไม่เพียงแต่ความเชื่อมโยงของไทเปต่อสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรโดยตรงแล้ว สื่อชื่อดังอย่างดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ถึงกับวิเคราะห์ไว้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับไต้หวันย่อมสำคัญต่อยุโรปเสมอ” เพราะไต้หวันเป็นสิ่งเดิมพันอนาคตของโลกหลังจากนี้ ทั้งการคงอยู่ระบอบประชาธิปไตย และเทคโนโลยีชั้นนำที่มีค่าต่อการค้าของโลก หากไต้หวันถูกทำลายโดยจีน นั่นหมายความว่ายุโรปในฐานะผู้ยึดมั่นอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นบรรทัดฐานหลัก คงไม่มีที่ยืนอีกต่อไปแล้ว ซึ่งตอกย้ำด้วยคำพูดของคาเทีย ไลเคิร์ต (Katja Leikert) ผู้นำจากกลุ่มฝ่ายค้านแห่งพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Democratic Union: CDU)

“เขา (มาครง) มีวิสัยทัศน์ที่สั้นเหมือนสายตาจริงๆ…ถ้าจีนโจมตีไต้หวันทางทหาร ไม่ว่าด้วยการรุกรานหรือการปิดล้อมทางทะเล มันจะส่งผลทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อเราแน่นอน เราไม่สามารถปล่อยให้มันเกิดได้” เธอกล่าว

มาครงสอบผ่านไหมกับบทบาทเป็นผู้นำของยุโรป?

คำตอบนี้คงขึ้นอยู่กับปัจเจก แม้มาครงอาจมีความดีความชอบในสายตาหลายคน โดยเฉพาะการประนีประนอมเดินหาปักกิ่ง และความต้องการให้ยุโรปมีบทบาทในฐานะ ‘ขั้วอำนาจที่สาม’ เพื่อถ่วงดุลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่หลายประเทศสมาชิกใน EU กลับมองว่า เขาเป็นศัตรูที่ขัดขวางความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และกำลังพูดในฐานะ ‘ผู้นำของฝรั่งเศส’ มากกว่าในนามผู้นำแห่งยุโรปเสียด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งเศสมักนิยมดำเนินกิจการต่างๆ ในนามประเทศ มากกว่าการอ้างอิงถึงสหภาพยุโรป อีกทั้งยังมีธรรมชาติของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือความทะเยอทะยานในการเป็นที่หนึ่งของยุโรปเสมอมา จนมักมีคำถาม ซึ่งตามหลอกหลอนชาวฝรั่งเศสในทุกยุคทุกสมัยว่า “เรายังเป็นมหาอำนาจอยู่หรือไม่?” 

นอกเหนือจากนั้น ปารีสยังมีความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ระหว่างพันธมิตร ‘AUKUS’ เรื่องเรือดำน้ำในปี 2021 หลังจากข้อตกลงระหว่างฝรั่งเศส-ออสเตรเลีย ถูกทำลายลงด้วยความร่วมมือการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของ 3 ชาติ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ในฐานะหัวเรือใหญ่ จากปัจจัยทั้งหมดในข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย หากมาครงจะประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ต้องการวอชิงตันอีกต่อไป และจะเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาความขัดแย้งเสียเอง

หรือวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การแสดงออกของเขาในครั้งนี้ คงมีจุดประสงค์แอบแฝงต่อวาระทางการเมืองภายในอย่าง ‘การประท้วงกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญ’ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือสร้างความนิยมจากกลุ่มฝ่ายขวาในประเทศ

วุฒิภาวะความเป็นผู้นำของมาครง ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคำพูดที่ไม่ระมัดระวัง เริ่มตั้งแต่เขาเคยแสดงความคิดเห็นว่า “นาโตเหมือนพวกสมองตายแล้ว” จนต้องออกมาขอโทษครั้งใหญ่ หรือแม้แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ตาม ไม่เพียงแต่ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อของมาครงลดลงในสายตาของประชาคม EU แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศของปารีสบางส่วนเองก็ไม่พอใจเหมือนกัน

ท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่า การกระทำของมาครงเปรียบเสมือน ‘ระเบิดเวลา’  แม้ไม่ได้ทำลายสหภาพยุโรปในตัวมันเองโดยตรง แต่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดความเปราะบางภายในอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมมือของภูมิภาคเพื่อเผชิญหน้าท่ามกลางวิกฤตการณ์อื่นๆ 

อ้างอิง

Congressional Research Service, “France: Factors Shaping Foreign Policy, and Issues in U.S.-French Relations,” Everycrsreport, April 14, 2011.

https://www.lemonde.fr/en/international/article/2023/04/13/europe-divided-over-macron-s-remarks-on-china_6022789_4.html

https://www.economist.com/leaders/2023/04/12/emmanuel-macrons-blunder-over-taiwan

https://www.politico.eu/article/berlin-aims-to-set-the-record-straight-after-macrons-taiwan-controversy-aggressive-military-maneuvers/

https://prachatai.com/journal/2023/04/103671

https://www.the101.world/eu-disintegration/

https://www.dw.com/en/is-french-president-macrons-eu-vision-more-than-just-a-dream/a-65306760

https://www.intereconomics.eu/contents/year/2021/number/1/article/eu-us-relations-reinventing-the-transatlantic-agenda.html

https://www.economist.com/leaders/2023/04/12/emmanuel-macrons-blunder-over-taiwan

https://www.ips-journal.eu/topics/foreign-and-security-policy/communication-a-la-macron-6638/

Tags: , , , , , , ,