ในภารกิจการเยือนสหรัฐอเมริกา 3 วัน ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส พัฒนาความสัมพันธ์กับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผู้นำชาติยุโรปคนอื่นๆ เลือกที่จะรักษาระยะห่าง

ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา ทั้งสองคนจับมือ หอมแก้ม และตบหลังกันหลายครั้ง

แต่ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสในวันสุดท้ายของภารกิจ มาครงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทรัมป์รุนแรงโดยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อทรัมป์เลย รวมทั้งเห็นว่า การที่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสและข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเป็นการคิดแบบคนสายตาสั้น

มาครงเตือนให้สหรัฐฯ ระวังลัทธิชาตินิยม และลัทธิโดดเดี่ยวตัวเอง และเรียกร้องให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับโลกมากขึ้น ร่วมกันต่อสู้กับภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เพราะการเข้าร่วมกับชุมชนโลกของสหรัฐอเมริกาสำคัญมาก

มาครงย้ำว่าเศรษฐกิจสมัยใหม่และความท้าทายด้านความมั่นคงต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของโลกที่วางอยู่บนความร่วมมือแบบพหุภาคี “สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นความร่วมมือแบบพหุภาคี เป็นผู้หนึ่งที่ต้องรักษาและนำมันมาใช้อีกครั้ง”

“เราอาจจะเลือกลัทธิโดดเดี่ยว ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส และลัทธิชาตินิยมได้ มันอาจดึงดูดใจเราในฐานะที่เป็นการเยียวยาความกลัวของเราแบบชั่วคราว แต่การปิดประตูปิดกั้นตัวเองจากโลกจะไม่สามารถหยุดวิวัฒนาการของโลกได้ ผมถูกทำให้เชื่อว่าถ้าเราตัดสินใจที่จะเปิดตาให้กว้างขึ้น เราจะเข้มแข็งขึ้น แล้วเราจะเอาชนะอันตรายต่างๆ เราจะไม่ยอมให้พฤติกรรมรุนแรงของชาตินิยมสุดขั้วสั่นคลอนโลกที่เต็มไปด้วยความหวังอันรุ่งเรืองที่ยิ่งใหญ่”

มาครงยังเตือนว่าสงครามการค้าจะทำลายงาน และเพิ่มค่าใช้จ่ายของชนชั้นกลาง เขาโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกากลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสและสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพราะว่า “ไม่มีโลกใบที่ 2” โดยใช้คำพูดที่ทรัมป์ใช้หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2016 เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา “ทำให้โลกของเรายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

นอกจากนี้มาครงยังกล่าวว่าฝรั่งเศสจะยังคงเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่าน เพราะเชื่อว่า เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย รักษาสันติภาพ และหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของระเบิดนิวเคลียร์

สุนทรพจน์ของมาครงได้รับเสียงเชียร์และเสียงปรบมือจากสภาคองเกรส โดยเฉพาะจากสมาชิกพรรคเดโมแครต

ช่วงเช้าวันเดียวกัน ทรัมป์เพิ่งจะทวีตข้อความว่า “รอวันที่จะได้เห็นประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศสกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสภาคองเกรส ซึ่งนับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ไม่ค่อยมีใครได้รับโอกาสนี้นัก เขาจะต้องเยี่ยมมาก”

ทำเนียบขาวยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อการกล่าวสุนทรพจน์นี้

มาครงเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนที่ 8 ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส ถัดจากประธานาธิบดีนิโคลัส ซาร์โกซี เมื่อปี 2007 ส่วนผู้นำต่างประเทศคนก่อนหน้านี้คือ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียเมื่อปี 2016

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Brian Snyder

ที่มา:

Tags: , , , ,