วันนี้ (12 กรกฎาคม 2567) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวดสุดท้ายของปี ซึ่งจะถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับหน่วยละ 46.83-182.99 สตางค์ โดยเป็นผลจากปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและค่าก๊าซธรรมชาติเหลวปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการจ่ายคืนภาระต้นทุนต่อเนื่อง (คงค้าง) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด หรืองวดค่าไฟฟ้าที่จะจัดเก็บในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 อยู่ที่หน่วยละ 4.65-6.01 บาท
พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการและโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันปัจจัยที่ส่งผลยังเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ได้แก่
1. แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอยู่ในระดับ 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
2. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งมีต้นทุนราคาไม่สูง มีความพร้อมในการผลิตลดน้อยลง
3. สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LPG Spot) ในตลาดโลกปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 3.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ตามสถานการณ์ความต้องการที่มีมากขึ้นจากฤดูหนาวที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งราคาเฉลี่ยของ LPG Spot จะอยู่ในระดับ 10-12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และคาดว่าจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในช่วงปลายปี 2567
พูลพัฒน์ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยในการพิจารณาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ที่เพิ่มขึ้น ยังมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งก๊าซในอ่าวไทยและการนำเข้า LNG Spot ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีการปรับราคาสูงขึ้น เพราะได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนจากค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับ
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง
“สามสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้า ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงปลายปีนี้อาจจะต้องปรับเพิ่ม” พูลพัฒน์ระบุ
ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังการผลิตกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว โดยทุกแหล่งมีปริมาณการผลิตรวมกันเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียูต่อวัน แต่แหล่งก๊าซในประเทศเมียนมายังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เฉลี่ย 468 ล้านบีทียูต่อวัน จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 483 ล้านบีทียูต่อวัน ส่งผลต้องมีการนำเข้า LNG Spot เข้ามาทดแทน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมของ กกพ.เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 พร้อมทั้งให้ กกพ.นำค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ของ กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 กรกฎาคม 2567 ก่อนมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
Tags: พลังงาน, เชื้อเพลิง, ค่าไฟฟ้า