เขานั่ง ‘รถเข็น’ ออกมา ร่างกายดูอ่อนแอ แขนทั้งสองข้างเต็มไปด้วยรอยเข็ม เท้าบวม ตัวดูเหลืองน้อยลงแล้ว แต่ตายังดูเหลืองมากอยู่ – บันทึกจากห้องพิจารณา โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ของ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว วัย 48 ปี

ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา เขาได้รับการตรวจช่องท้องด้วยการอัลตราซาวนด์ พบว่าเจอก้อนเนื้อขนาด 11×8 เซนติเมตร อยู่บริเวณช่องท้องด้านล่างขวา ซึ่งเอกชัยกล่าวว่า เป็นตำแหน่งใกล้กับนิ่วถุงน้ำดีที่เคยผ่าตัดเมื่อปี 2548

หากย้อนดูไทม์ไลน์อาการป่วยตัวเหลือง ตาเหลืองของเอกชัย จะพบว่ามีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา กินอาหารได้น้อย ไม่อยากอาหาร มีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น และมีเหงื่อออกตลอด 2 ชั่วโมง ต่อมาเอกชัยลงชื่อขอพบแพทย์ ภายหลังตรวจพบก้อนเนื้อมีการเจาะเลือดอีกครั้ง เพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง 

เมื่อทราบว่าพบก้อนเนื้อ เอกชัยมีความประสงค์ต้องการผ่าตัดที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่เวลาร่วงโรยมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าเอกชัยป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่

ล่าสุดวันนี้ (14 กันยายน 2566) ทนายความของเอกชัยยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เร่งส่งตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากกังวลว่าอาการจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

เข้าสู่วันที่ 24 ของการอดอาหาร และวันที่ 21 ของการจำกัดน้ำดื่ม ภายหลังที่ น้ำ-วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ในคดีอาญา มาตรา 112 กรณีโพสต์ภาพพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงประกอบพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต โดยตัดต่อให้พระแก้วมรกตใส่ชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI และเพิ่มรูปสุนัขนั่งอยู่ข้างๆ พร้อมแคปชัน “แก้วมรกต X SIRIVANNAVARI Bangkok”

นอกจากน้ำหนักที่ลดลงมากกว่า 6 กิโลกรัม และอาการข้างเคียงต่างๆ ของการอดอาหารและจำกัดน้ำแล้ว เธอยังมีโรคประจำตัวคือโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์ ซึ่งต้องกินยาทุกวันและพบจิตแทพย์เดือนละครั้ง ซึ่งตอนเข้าห้องขังช่วงแรก กรมราชทัณฑ์ไม่มีการจัดหายาให้ 

“เดือนเดือนหนึ่งหนูต้องโอนค่าใช้จ่ายให้น้องประมาณ 4-5 หมื่นบาท หนูรับผิดชอบครอบครัวอยู่ ถ้าหนูไม่ได้ประกัน ไม่ได้ออกไปทำงาน น้องหนูจะทำอย่างไร” วารุณีกล่าว “หนูต้องเป็นบ้าไปเลยใช่ไหมพี่ ถึงจะได้ออกไป” บันทึกเยี่ยมจากศูนย์ทนายฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“เขาตัวผอมเล็ก ขณะลุกนั่งออกจากโต๊ะเยี่ยมต้องค่อยๆ ประคองตัวเองให้ยืนขึ้นและต้องใช้มือจับโต๊ะประคองตอนเดิน ขณะเดินช้าๆ เข้าประตูไป เวหามีอาการเซเล็กน้อย” บันทึกเยี่ยมประจำวันที่ 12 กันยายน 2566 จากศูนย์ทหนายฯ

“ขนาดผมไม่ได้อดอาหาร 100% มีจิบน้ำ จิบเกลือแร่ น้ำหวาน ยังรู้สึกร่างกายไม่ไหวขนาดนี้ ก็อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราต้องเรียกร้องขนาดนี้ มันเสียสุขภาพในระยะยาว เราเสียอะไรไปบ้างในชีวิตกับความผิดนี้” เวหาอธิบายต่อว่า ตอนนี้เขาน้ำหนักลดไปประมาณ 7 กิโลกรัม

เวหาถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 18 เดือน ในคดีอาญา มาตรา 112 กรณีทวีตข้อความเกี่ยวกับคุกวังทวีวัฒนา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงวันที่ 4 กันยายน 2566 มีประชาชนชนถูกคุมขังในคดีแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ได้รับประกันตัวระหว่างสู้คดีอย่างน้อย 19 คน ถือเป็นอัตราที่พุ่งสูงขึ้น และเป็นผู้ต้องขังในคดีสิ้นสุดแล้ว 10 ราย

ในเดือนกันยายนนี้มีคดีอาญา มาตรา 112 ที่นัดฟังคำพิพากษาอีก 7 คดี โดยหนึ่งในนั้นเป็นคดีจากคดีของ อานนท์ นำภา กรณีปราศรัยในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งนับเป็นคดีอาญา มาตรา 112 ของอานนท์คดีแรกที่จะมีคำพิพากษาในวันที่ 26 กันยายนที่จะถึงนี้

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่หยุดนิ่ง แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ท่ามกลางความโกรธที่คุ้มคลั่ง พวกเขาเหล่านี้ยังอยู่ ยังถูกคุมขัง จับกุม และไม่ได้รับการประกันตัวตามสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ

ในขณะที่หนึ่งหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยกำลังจะเปลี่ยนไป (เปลี่ยนแบบไหนว่ากันอีกที) นับตั้งแต่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มาช่วยกันทำให้แน่ใจว่า พวกเขาเหล่านี้จะไม่ถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ 

และประวัติศาสตร์ที่มีจุดจบแบบเดิมๆ ควรจบเสียเพียงเท่านี้ ร่วมส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจและ ‘พวกเรา’ ที่ยังสู้อยู่ หรือบางคนอาจหมดหวังว่า ‘เราไม่ลืม’ ประชาชนยังอยู่ ยังสู้ต่อ เพราะไม่มีใครที่สามารถต้านทานความเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า ‘เวลา’ ได้ 

ยังมีคนอีกจำนวนที่ถูกกุมขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/52351

 

ที่มา:

https://tlhr2014.com/archives/59422

https://tlhr2014.com/archives/59377

https://tlhr2014.com/archives/59433

https://tlhr2014.com/archives/59336

Tags: , , , ,