“The new Miss Universe is…” (มิสยูนิเวิร์สคนใหม่ก็คือ…)

เสียงประกาศอันเป็นเอกลักษณ์ของรายการประกวดความงามชื่อดัง ‘Miss Universe’ เวทีอันดับหนึ่งที่ครองใจผู้คนหลายๆ ประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นกระแสภายในประเทศไทยที่คอยเอาใจช่วยผู้สวมใส่สายสะพาย ‘ไทยแลนด์’ แต่ยังรวมไปถึงเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน จนบางครั้ง เมื่อเกิดการประกวดครั้งใด มักมีเรื่องราวของ ‘สงครามน้ำลายในโลกออนไลน์’ ระหว่างชาวเน็ตไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง

นอกเหนือจากการส่งกำลังใจให้กับตัวแทนของประเทศที่แบกภาระสายสะพายอันใหญ่หลวง ผู้ชมมากมายยังติดตาม Miss Universe จากเพอร์ฟอร์แมนซ์อันจัดจ้าน นับตั้งแต่การเดินแบบชุดว่ายน้ำ ชุดราตรี หรือการนำเสนอเรื่องราวผ่านชุดประจำชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การตอบคำถามเกี่ยวกับสังคมและการเมือง’ ที่เรียกได้ว่า หากนางงามคนไหนจับไมค์เมื่อไร คำถามนั้นจะกลายเป็นประเด็นถกเถียงต่อในสังคมทุกครั้ง 

เช่นเดียวกับเมื่อครั้ง มารีญา พูลเลิศลาภ ตอบคำถามของพิธีกร สตีฟ ฮาร์วีย์ (Steve Harvey) ว่า “คุณคิดว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) ที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคืออะไร และเพราะอะไร?” หรือดีเบตในโลกออนไลน์ต่อคำถามของ ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น ในการประกวดถึงการเลือกให้ความสำคัญระหว่าง ‘ความมั่นคง (Security) หรือสิทธิส่วนบุคคล (Privacy)’  

อาจกล่าวได้ว่า เส้นทางของเจ้าของมงกุฎ Miss Universe ไม่ได้โรยด้วย ‘กลีบกุหลาบ’ แต่โรยด้วย ‘หนามกุหลาบ’ เสียจะดีกว่า เพราะการเป็นที่หนึ่ง ได้สวมใส่มงกุฎอันแสนสง่า ราคาแพงหูฉี่ ทุกแสงสปอตไลต์จับจ้องมาที่พวกเธอ พร้อมคำชมจากทั่วสารทิศถึงการตอบคำถามอันเป็นปราการด่านสุดท้ายที่แสดงถึง ‘กึ๋น’ ตามมายาคติ ‘ผู้หญิงที่สวยและฉลาด’ ท่ามกลางผู้หญิงหลายร้อยคนไม่ใช่เรื่องง่าย

ฮานาซ สันธุ (Hanaaz Sandhun) Miss Universe ปี 2021 ที่ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงครบเครื่องตามอุดมคติของใครหลายคน (ที่มา: Reuters)

นอกจาก ‘การเป็นสนามอารมณ์’ ที่ต้องรับมือกับข้อครหาจากทุกฝ่าย ในฐานะ ‘ตัวแทนที่เหมาะสมของประเทศ’ ด้วยการเป็นคนฉลาด มีการศึกษา พูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม และแบกรับ ‘ค่านิยมความสวย’ (Beauty Standard) อย่างการมีรูปร่างที่ผอมกว่าคนปกติ การศัลยกรรมตามพิมพ์นิยมของคนในสังคม รวมถึงการวางตัวให้มีจริตจะก้าน ยิ้มรับทุกสถานการณ์แล้ว

ผู้หญิงหลายคนยังต้องอดทนต่อ ‘การคุกคามทางเพศ’ และ ‘การรุกล้ำสิทธิส่วนตัว’ ในกระบวนการประกวด เพียงแค่ภาพจำเดิมๆ และการเหมารวม (Stereotype) ต่อการประกวดนางงาม นับตั้งแต่การต้องเป็นผู้หญิงที่อยู่ในกรอบ มีภาพลักษณ์อ่อนน้อม รักเด็ก ปฏิบัติตามคำสั่ง และที่สำคัญ ‘ไม่ทำตัวขบถ’ (ซึ่งน่าแปลกประหลาดที่สวนทางกับภาพลักษณ์บนเวทีของพวกเธอที่ต้องดูจัดจ้านตลอดเวลา)

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือข้อห้ามมี ‘รอยสัก’ ของ Miss Universe ซึ่งยังรวมไปถึงหลายการประกวดอื่นๆ อย่าง Miss Swaziland (หรือปัจจุบัน คือ Miss Eswatini) ปรากฏกว่าในปี 2014 การประกวดมิสยูนิเวิร์สรอบประเทศในแอฟริกาใต้ (South Africa) มีผู้หญิง 3 จาก 24 ถูกตัดสิทธิ์ในการแข่งขัน เพียงเพราะมีรอยสัก อย่างไรก็ดี ดีไซรี เฟร์เรร์ (Desire Cordero) มิสยูนิเวิร์สสเปนในปี 2014 แหวกขนบทั้งหมด ด้วยการเผยรอยสักข้างเอวซ้ายผ่านชุดว่ายน้ำทูพีชสีส้มในระหว่างการเดินแบบอย่างภาคภูมิใจ 

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าประกวด Miss Universe หลายคนต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวสุดเลวร้ายที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อครั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตผู้นำสหรัฐอเมริกายังเป็นเจ้าของร่วมการประกวด Miss Universe รวมถึง Miss USA และ Miss Teen USA ก่อนจะถูกบังคับให้ขายทิ้งในปี 2015

เพราะผมเป็นเจ้าของการประกวด”: เรื่องราวอันฉาวโฉ่ของทรัมป์จากการเปิดเผยของนางงาม

วีรกรรมอันอื้อฉาวนับไม่ถ้วนจากเวทีการประกวดของทรัมป์ ถูกเปิดเผยออกมา เมื่อเขาเป็นแคนดิเดตเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกกัน (Republican) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Cliton) แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต (Democrat) นำ อลิเซีย มาชาโด (Alicia Machado) อดีต Miss Universe ปี 1996 ขึ้นเวทีปราศรัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอต้องพบเจอภายใต้การบงการของเจ้าของเวทีการประกวด

เมื่อครั้งได้ครองตำแหน่ง Miss Universe มาชาโดในวัย 19 ปี คาดฝันถึงปีแห่งความสุข หลังจากอยู่ในจุดสูงสุดของความฝันผู้หญิงหลายคนในโลกเวลาดังกล่าว เธอบอกกับแม่ว่า ชีวิตของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

มาชาโดกับทรัมป์  (ที่มา: Reuters)

แต่แล้ว ฝันร้ายก็เกิดขึ้น เพราะทรัมป์กลับสร้างปีที่ชอกช้ำที่สุดในชีวิตของเธอขึ้นมา โดยมาชาโดเปิดเผยว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ เรียกเธอว่า ‘นางงามหมูอ้วน’ (Miss Piggy) และ ‘เครื่องกินล้างกินผลาญ’ (Eating Machine) รวมถึงบังคับให้เธอลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เข้มงวด จนเธอกลายเป็น ‘โรคคลั่งผอม’ (Anorexia) 

เธอเล่าเหตุการณ์อันฝังใจต่อว่า เมื่อทรัมป์นัดพบที่โรงยิมในนครนิวยอร์ก แต่เขากลับปรากฏตัวพร้อมตากล้องนับสิบคนที่มารวมตัวกัน เพื่อถ่ายทำบรรยากาศการออกกำลังกายของเธอ ทั้งกระโดดเชือก ยกน้ำหนัก และถีบจักรยานอยู่กับที่ มาชาโดอธิบายถึงความรู้สึกในเวลานั้นว่า ‘น่าสมเพชมาก’ เธอเริ่มแสดงละครทันทีที่ทรัมป์เอียงหน้าเข้าหาเธอ และบรรจงจูบที่แก้มของเขาครั้งหนึ่ง พร้อมหัวเราะไปกับนักข่าว 

“ฉันอยู่ในโรงยิมในนิวยอร์กเหมือนหนูตัวหนึ่งเลย

“ดูหนูตัวนั้นสิ มันวิ่งอย่างไร กระโดดอย่างไรออกกำลังกายอย่างไร แต่นั่นแหละ นั่นมันเป็นช่วงเวลา…ที่ปัญหามันเพิ่งจะเริ่มขึ้น” เธออธิบาย

เพราะสื่อต่างๆ และทรัมป์ชื่นชอบปรากฏการณ์นี้ พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะส่งต่อข่าวลวงอันน่าจดจำ เช่น

“เธอหนัก 118 หรือ 117 ปอนด์ แล้วน้ำหนักก็ขึ้นไปถึง 170 ปอนด์ นี่ก็คือคนที่ชอบกินแหละ” ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในตอนนั้น ซึ่งในความเป็นจริง มาชาโดบอกว่าเธอน้ำหนักน้อยมากๆ แต่ไม่กล้าขัดขวางคำปดของเขา เพราะกลัวว่าทรัมป์จะถอดมงกุฎของเธอจริงๆ หากไม่ทำตามคำสั่งของเขา 

แม้ว่าอดีตนางงามจักรวาลจะดำรงตำแหน่งจนครบวาระ และไม่โดนปลดตามคำขู่ แต่สิ่งที่เธอต้องแลกมาคือสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะมาชาโดต้องต่อสู้กับโรคคลั่งผอมและภาวะการกินผิดปกติ (Bulimia) โดยใช้เวลานานถึง 5 ปีกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงสภาวะบอบช้ำทางจิตใจที่ต้องพบนักจิตวิทยาตลอดเวลา 20 ปี จนสามารถพูดเรื่องราวในอดีตได้อย่างเต็มปาก สำหรับตอนนี้ มาชาโดหวังว่า เธอจะนำประสบการณ์ดังกล่าวช่วยเหลือวัยรุ่นบางกลุ่ม ซึ่งมีปัญหาลักษณะเดียวกัน

มาชาโดในปัจจุบัน (ที่มา: Reuters)

นอกเหนือจากนั้น ยังมีการแฉถึงพฤติกรรมอื่นๆ ของทรัมป์ต่อความบงการและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจนเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ทาชา ดิกสัน (Tasha Dixon) อดีตนางงามจากรัฐแอริโซนา (Arizona) เผยว่า ทรัมป์เข้ามาในห้องแต่งตัวของ Miss USA ในปี 2001 

“เขาเดินเข้ามาเลย พวกเราไม่มีเวลาที่จะใส่เสื้อผ้าหรือหาผ้าคลุมอะไรก็ตาม บางคนเปลือยท่อนบน หรือไม่ก็เปลือยกายหมดเลย การเจอกันครั้งแรกของเรากับเขา คือการซ้อมเปลี่ยนชุด และเปลือยท่อนบนเพื่อเปลี่ยนบิกินี” เธอกล่าว 

นอกเหนือจากนั้น ทรัมป์ยังอวดอ้างอย่างภาคภูมิใจในรายการทีวีเมื่อปี 2005 ว่า เพราะตำแหน่งเจ้าของเวทีการประกวด เขาจึงทำได้ 

“คุณรู้ไหมว่าไม่มีผู้ชายคนไหนเลยในตรงนั้นเลย (ห้องแต่งตัว) และผมได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ เพราะผมเป็นเจ้าของการประกวด

“ดังนั้น ผมเลยเดินไปดูความเรียบร้อยหน่อย เช่น เฮ้ ทุกคนสบายดีไหม คุณรู้ไหมว่า พวกเธอยืนอยู่ตรงนั้นโดยไม่สวมเสื้อผ้า และน่าทึ่งมาก ผมจึงเดินหนีพวกเธอ” ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ และตอบว่าได้ทำพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับอีวานกา ลูกสาวของเขา

รวมถึงมิสยูทาห์ (Utah) เทมเพิล แทกการ์ต (Temple Taggart) เปิดเผยว่า ทรัมป์จูบเธอโดยปราศจากความยินยอม 

“เขาจูบฉันตรงๆ ที่ริมฝีปาก ฉันคิดในใจแล้วว่า ‘แย่แล้ว พระเจ้า!’ ตอนนั้นเขาแต่งงานกับ มาร์ลา เมเปิลส์ (Marla Maples) แล้วยังมีผู้หญิงอีก 2-3 คนที่เขาจูบด้วย ฉันเลยแบบ ‘นี่มันไม่เหมาะสมสุดๆ!’” เธอกล่าว รวมถึงเปิดเผยว่า หลังจากนั้น 2-3 เดือน ทรัมป์ทำแบบเดิมกับเธอที่ตึกของเขา พร้อมเสนอเรื่องให้โกหกอายุของเธอในวงการบันเทิง เธอจำได้ว่าอดีตผู้นำสหรัฐฯ พูดกับเธอว่า “เราจะบอกพวกเขาเองว่าคุณอายุ 17 ปี”

ผลิตซ้ำ ตีตราผู้หญิง เครื่องมือปรนเปรอเพศชาย: อีกแง่มุมของการประกวดนางงาม

จากเรื่องราวของมาชาโดและเด็กสาวหลายคน เป็นเพียงแค่บางส่วนของภาพสะท้อนต่อความโหดร้ายในอุตสาหกรรมนางงาม ซึ่งถูกมองว่าเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง

การผลิตซ้ำตีตราผู้หญิงตามมายาคติ คือหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมส้นสูงและสายสะพาย แม้ว่าเวทีหลายแห่งพยายามปรับเปลี่ยนคอนเซปต์ จากยุคแห่งการขายความงามเพียงอย่างเดียว สู่การเฟ้นหา ‘ผู้หญิงที่ครบเครื่อง’ จนสามารถเสริมสร้างพลัง (Empowering) ผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคมได้ หรือใส่ประเด็นเรียกร้องทางสังคมเพื่อทำลายมายาคติ ‘สวยแต่โง่’ ลง 

แต่หากลองย้อนกลับมองดูความเป็นจริง มีผู้หญิงกี่คนที่สามารถไปถึงจุดสูงสุดดังกล่าวนั้นได้? โดยเฉพาะผู้หญิงจากชนชั้นล่างของสังคม ไม่ได้มีอาชีพการงาน หรือได้รับการศึกษาที่ดี ไม่มีทั้งวาทศิลป์ หรือความรู้มากพอที่จะตอบคำถามจับใจผู้ชมและกรรมการ ผู้ซึ่งเรียกร้องและถวิลหาแต่ ‘นางงามที่เพียบพร้อมและสมบูรณ์แบบ’ ได้อยู่เสมอ และหากขึ้นมาสู่จุดสูงสุดได้ พวกเธอก็ต้องผลิตซ้ำความงามตามมายาคติไปเรื่อยๆ ว่า “คุณก็เป็นแบบเราได้ แค่พยายามมากพอ” ซึ่งไม่เพียงหยุดแค่ในวงการนางงามเท่านั้น แต่นั่นยังรวมไปถึงผู้หญิงทั้งโลกเช่นกัน

เวทีนางงามยังกลายเป็น ‘เครื่องมือปรนเปรอความต้องการของชายผู้มีอำนาจ’ ไปโดยปริยาย ซึ่งทรัมป์เป็นตัวแทนภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด เมื่อเขาอ้าง ‘ความเป็นเจ้าของเวที’ เพื่อที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่คำนึงถึง ‘สิทธิส่วนบุคคล’ และ ‘เสรีภาพในร่างกาย’ เพียงแค่ข่มขู่ใช้อำนาจแค่ปลายมือ ผู้หญิงทุกคนก็พร้อมจะยินยอม ตราบใดที่ไม่ช่วงชิงมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องมือแสดงสถานะทางสังคมของพวกเธอไป 

นอกเหนือจากการตั้งคำถามถึงเรื่องราวอันไม่ชอบธรรมในอุตสาหกรรมนางงามแล้ว อีกคำถามสำคัญที่ต้องฝากให้เป็นข้อถกเถียงต่อไปในบทความนี้ คือ ความจำเป็นของการคงอยู่บนเวทีนางงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางสภาวะปัจจุบัน เมื่อเวทีประกวดดาวเดือนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาทุกที

อ้างอิง

http://www.times.co.sz/entertainment/108827-%E2%80%98no-ink%E2%80%99-rule-for-miss-world.html

https://inked.quora.com/Are-Miss-Universes-allowed-to-have-tattoos

https://www.nytimes.com/2016/09/28/us/politics/alicia-machado-donald-trump.html

https://www.theguardian.com/us-news/2016/sep/27/alicia-machado-miss-universe-weight-shame-trump-speaks-out-clinton

https://www.rollingstone.com/politics/politics-features/a-timeline-of-donald-trumps-creepiness-while-he-owned-miss-universe-191860/

https://feminisminindia.com/2021/06/02/miss-universe-2021-misogyny-offers-anti-racist-allyship/

https://www.bbc.com/thai/thailand-52980849

Tags: , , , , ,