เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือที่เรียกกันว่า ‘รัฐธรรมนูญ 60’ แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกประกาศใช้ 

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฉายชัดให้เห็นว่า คณะทหารหลายยุคหลายสมัยยังพยายามหาวิธีฉีกรัฐธรรมนูญ และขีดเขียนใหม่เพื่อประโยชน์ฝ่ายตนหลายครั้ง เฉกเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับนี้ ที่สร้างกฎกติกาหรือเกณฑ์ต่างๆ ที่แปลกประหลาด และส่งผลโดยตรงต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ เช่น ไม่คุ้มครองเสรีภาพประชาชน ไม่เชื่อมั่นในประชาชน มากไปถึงการเป็นมรดกสืบทอดจากยุค คสช. 

The Momentum พูดคุยกับ นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร หนึ่งในสมาชิก ‘กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของเครือข่ายนักกิจกรรมและองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง ที่กังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและแนวทางการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นำทีมโดย ไอลอว์ (iLaw) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) และกลุ่มศิลปะปลดแอก (FreeArts) ในแคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ ผ่านการทำคำถามประชามติ โดยหมุดหมายสำคัญคือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะเริ่มไล่เรียงตั้งแต่การทำประชามติเพื่อเลือกตั้ง สสร. จากภาคประชาชน ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ สิ่งตกค้างที่หลงเหลือจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ส่งผลมาถึงตอนนี้ รวมไปถึงความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้

 

‘กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และจุดมุ่งหมายคืออะไร

อย่างที่ทราบกันว่า ช่วงนี้จะมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 สิงหาคม 2566) ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยในฐานะแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า สิ่งแรกที่เขาจะทำอย่างเร่งด่วนที่สุดเมื่อได้เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ การทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเขาใช้คำว่า ‘การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะมาจากการจัดตั้ง สสร.’ ซึ่งสิ่งที่เรากำลังเห็นคือ เราเกิดความไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงขั้นการทำประชามติแล้ว คำถามประชามติจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เรามองว่าคำถามประชามติ คือสิ่งสำคัญที่สุดเพราะถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการ คือการส่งสารนี้ให้เป็นวาระของสังคม ประชาชนต้องสามารถกำหนดคำถามในการทำประชาชามติได้ ซึ่งการที่ออกมาเคลื่อนไหวในตอนนี้เราใช้ช่องทางตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติ – ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 หรือ พรบ.ประชามติ 2564) ทุกประการ

โดยที่ พ.ร.บ.ประชามติดังกล่าว จะเริ่มจากการเข้าเสนอชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 คน เพื่อเสนอต่อ ครม. ในการทำประชามติกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีคำถามประชามติของตัวเองมาเสนอ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีคำถามแล้วฝ่ายรัฐบาลจะมีการปฏิบัติอย่างไร คำถามที่เราเสนอ คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ในรัฐบาลผสมข้ามขั้ว นำโดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นปัญหาหรือไม่

พอเห็นจุดนี้ก็คิดนะว่า ‘เขาจะทำอย่างไร’ รู้สึกว่าถ้ารอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ้นวาระไป หรือจะรอให้มี สว.ชุดใหม่ ก็ไม่รู้ว่าภาครัฐจะมีท่าทีอย่างไร และไม่รู้ว่าการมีประชามติ หรือการตั้งคำถามประชามติจะอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนมากน้อยขนาดไหน ถ้าถามว่าเราสบายใจไหม ก็พูดได้ไม่ 100% ใช้คำนี้ดีกว่า

 

คนไทยยังสามารถวางใจในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่?

การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่อยู่ด้วยความไม่ไว้วางใจกันอยู่แล้ว เราจึงเกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล ดึงอำนาจ ซึ่งการตรวจสอบอะไรต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อการสนองความไม่ไว้วางใจว่า ไม่ให้คนที่ทรงอำนาจสามารถควบรวมอำนาจเข้าสู่ตัวเองฝ่ายเดียว นี่คือแก่นสำคัญ

เราคิดว่าในเรื่องนี้ ต่อให้เป็นใครก็ตามที่จะเข้ามาทำตรงนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบ การที่เราไม่ไว้วางใจไม่ได้หมายความว่าไม่เอาเขา แต่เป็นไปเพื่อการตรวจสอบ ซึ่งเขามีหน้าที่ผูกพันกับประชาชน มีหน้าที่จะต้องตอบสนองประชาชนอยู่แล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพื่อดูว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นไปตามที่เขาลั่นวาจาไว้หรือไม่ หรือเขาทำไปโดยยึดโยงกับพวกเราไหม ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ที่กลุ่มอำนาจเก่าเริ่มกระชับอำนาจเข้ามาใช้สนามการเมือง ใช้กลไกตรงนี้ในการจัดการ เราต้องยิ่งตรวจสอบให้หนักขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นใครหรือจะอยู่ฝ่ายไหน แต่เมื่อมาทำงานตรงนี้หรือมาเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ความไม่ไว้วางใจมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้เราอาจจะต้องตรวจสอบกันให้เข้มข้นขึ้น

 

เป็นห่วงกระบวนการประชามติหรือไม่ ว่าจะเป็นเหมือนตอนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการพูดว่า “รับๆ ไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง”

จุดที่น่าสนใจในเรื่องของวาทกรรม ‘รับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง’ คือสถานการณ์การเมืองตอนรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คือช่วงปี 2559 ในช่วงเวลานั้นมีความพยายามจำกัดตัดทอนกระบวนการรณรงค์ พูดง่ายๆ คือถ้าเมื่อใดมีการรณรงค์โหวต NO จะโดนจับ ถูกดำเนินคดี ถูกคุมขังเยอะมาก และบรรยากาศตอนนั้นเป็นบรรยากาศที่มีการสร้างเงื่อนไขจำนวนมาก คุณจะบอกว่าคุณเห็นต่างก็ได้ แต่คุณต้องมีงานวิจัยที่เป็นหลักการทางวิชาการชัดเจนแน่นอนมา แต่ชาวบ้านเขาจะไปมีแบบนี้ได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีอำนาจของมาตรา 44 (กฎหมายอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ว่าด้วยเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม) อยู่ ในตอนนั้นหัวหน้า คสช. สามารถใช้อำนาจนี้ได้ เราเลยคิดว่าวาทกรรม ‘การรับไปก่อน’ มันคงเกิดขึ้นจากผลพวง ณ ตอนนั้นด้วย

หากถามว่าวันนี้จะแตกต่างกันไหม คิดว่ามีจุดที่แตกต่างและจุดที่น่ากังวลอยู่ จุดแตกต่างคือ ณ วันนี้เราไม่มีอำนาจที่ผูกขาดอยู่กับคนใดคนหนึ่ง เราไม่ได้มีสถานการณ์ทางการเมืองที่โน้มเอียงไปทางการจำกัดเสรีภาพเป็นหลัก ในเมื่อสถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างเปิดกว่าตอนนั้น การรณรงค์สามารถทำได้กว้างขึ้น เราก็ต้องทำโดยเฉพาะในส่วนของการทำให้คนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอย่างไร เช่นการเลือกนายกรัฐมนตรี เราก็เห็นแล้วว่าพลังของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เป็นอย่างไร ไปจนถึงความตัวพองตัวใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ

ขณะเดียวกันเราก็คิดว่า ต้องกลับไปหาสิ่งสำคัญที่บอกไปข้างต้น คือต้องตรวจตราตรวจสอบ เพราะเราไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองจะออกมาตรการอะไรเพื่อเร่งให้เกมนี้รีบจบ อาจจบด้วยการปิดปากประชาชน หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เราจึงคิดว่าการรณรงค์ให้รับไปก่อนในวันนี้อาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่าวันนั้น แต่สิ่งที่ต้องสู้คือเราก็ต้องสู้กับสภาวะทางการเมือง สู้กับพรรคการเมืองว่าเขามีเป้าหมายว่าเขาอยากจะไปในทางไหน และเราต้องยืนยันให้ได้ว่า เสรีภาพของเราในการเสนอความเห็นในการนำเสนอการตั้งคำถามยังมีอยู่ตลอดและต้องมีต่อๆ ไป การรณรงค์ในเชิงเนื้อหาทั้งปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 การเปิดพื้นที่ให้คนพูดคุย ตั้งคำถาม นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เสนอร่างใหม่ๆ พูดได้ทุกเรื่อง ทุกมาตราก็ต้องมีเช่นเดียวกัน ซึ่งเราต้องพยายามทำให้ได้และต้องพยายามไม่ให้รัฐมาจำกัดพื้นที่นี้

 

กระบวนการออกแบบคำถามในร่างรัฐธรรมนูญควรออกแบบอย่างไร ให้มีความชัดเจนแบบที่ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมคิดได้

ประชาชนต้องมีอำนาจกำหนดคำถามเองตั้งแต่การร่างประชามติ สมมติว่าอย่างวันนี้ที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีคำถามนี้เกิดขึ้นมา แต่มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งอยากเข้ามาเสนอคำถาม เขาก็ต้องเสนอได้นะ และเมื่อเขาเสนอภาครัฐก็ต้องฟังเสียงเขา ต้องยืนยันเสียงที่เขาพูด เพราะนี่คือคำถามจากประชาชน และเราอยากเห็นภาพที่รัฐธรรมนูญมันเปิดกว้าง ให้มีการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยน ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องโอบรับประชาชนโดยไม่ถูกปิดช่องคำถาม มีการสร้างเงื่อนไข และไม่ควรใช้คำที่อ่านแล้วงง อย่างเช่น คำถามของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่อ่านแล้วมันซ่อนหลุมพรางเอาไว้ 

 

หากสมมติว่าไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ พอจะมีวิธีแก้หรือจะสามารถพลิกแพลงสถานการณ์นี้ได้บ้างไหม

ที่จริงเราค่อนข้างมั่นใจว่า การรณรงค์ครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลที่ดีไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร อย่างตอนนี้ประชาชนเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาอย่างไร ไม่ว่ามันจะมาจากความไม่ชอบธรรมแบบไหน ทำให้เราอยู่ภายใต้กติกาแบบใด ตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำคือโยนวาระสังคมเข้าไปว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พวกเรามีส่วนร่วม เมื่อเป็นแบบนี้แปลว่าเรากำลังสื่อสารความต้องการของประชาชนว่าต้องการอะไร ซึ่งอาจเป็นการท้าทายกับภาคการเมือง ในเมื่อคุณพูดไว้ว่าอยากจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ อยากให้มีทำการทำประชามติ คุณจะกลับคำไหม 

เพราะคุณหาเสียงด้วยรัฐธรรมนูญ และมีหลายพรรคที่กล่าวไว้ว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้คุณสามารถเข้าถึงอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แล้ว แต่ถ้าคุณไม่ทำ นั่นแปลว่าคุณกำลังตระบัดสัตย์ต่อประชาชนที่กาเลือกคุณมา อีกสิ่งที่สะท้อนได้ชัดคือ หากแคมเปญนี้พัง หรือเกิดปัญหาไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ ก็เป็นการยืนยันแล้วว่า ‘ภาคการเมืองไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสายตา’ ไม่ได้สนใจคำพูดที่ตัวเองให้กับประชาชนไว้ และไม่เคยเห็นปัญหาที่กดทับและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่า ชนชั้นนำกำลังดิ้นรนอยู่ ยิ่งเราทำตามกติกาเท่าไร ถ้าเกิดเขาไม่ให้ โดยที่เขาไม่ยอมหรือเขาบิดพลิ้ว แปลว่าเขาพยายามที่จะรักษาอำนาจไว้ เหล่านี้ คือสิ่งที่เราอยากให้เห็นว่าทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันคือสิ่งที่ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นโล่ป้องกันฝ่ายอำนาจในการสรรหาประโยชน์ เป็นฉบับที่ลิดรอนสิทธิประชาชน และสร้างกติกาที่เอื้อกับการได้มาซึ่งอำนาจ เราจึงคิดว่าแคมเปญนี้ตอบโจทย์ เพราะทำให้เห็นภาพมากกว่านั้นคือเรากำลังชี้ให้เห็นว่านี่แหละคือปัญหาที่ซ่อนอยู่ ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้น หรือไม่เกิดตามที่พวกเขาพูดไว้ เราก็จะรู้เลยว่าใครเป็นตัวปัญหา และสามารถขยายวาระนี้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราเริ่มสิ่งนี้เพื่อเป็นการบอกว่า “ประชาชนเริ่มแล้วแล้ว พวกคุณล่ะพร้อมหรือยัง?”

 

คุณอาจเคยได้ยินบางคนกล่าวว่า “ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย ไม่เหมือนอังกฤษที่ใช้ฉบับเดียวมาแล้วไม่เคยเปลี่ยน” คิดว่าการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยดีหรือไม่ หรือว่าสิ่งนี้กำลังบอกอะไร

ถ้าตอบแบบผู้ที่มองการเมืองเป็นแบบประชาธิปไตย คือเชื่อในความมั่นคง ความแน่นอน ความต่อเนื่อง การที่มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับอาจเป็นสิ่งที่แสดงว่า ‘รัฐไม่ได้มีเสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด’ ในทางกลับกันถ้าเรามองในมุมมานุษยวิทยาหรือชาติพันธุ์วรรณา รัฐธรรมนูญหลายฉบับอาจสะท้อนถึง ‘ความต่อเนื่องของรัฐ’ ก็ได้ สะท้อนความต่อเนื่องของคุณค่าบางอย่าง สะท้อนว่ารัฐมีแนวโน้มที่จะไปแบบไหนอย่างไร หรืออาจมองได้ทั้งว่าเป็นปัญหาถ้ามองผ่านในแว่นของการเมืองแบบประชาธิปไตย และในทางกลับกันถ้าเรามองในเชิงวัฒนธรรมการเมือง รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนบ่อยๆ นี่แหละคือการตอกย้ำว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมไทยมันยึดโยงและอิงกับอำนาจนำชนชั้นนำ

Fact Box

  • แคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ จัดทำโดยกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของเครือข่ายนักกิจกรรม และองค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งที่กังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล และแนวทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยวาระแรกหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี คือการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคำถามประชามติ จะมีผลผูกพันในการกำหนดว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะออกมามีหน้าตาอย่างไรโดยดำเนินการตามกลไก พ.ร.บ. ประชามติ 2564 
  • ทางกลุ่มต้องการอย่างน้อย 50,000 ชื่อ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติทำประชามติโดยใช้ ‘คำถามที่ประชาชนกำหนดเอง’ ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ โดยคำถามที่เสนอ คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
  • โดยสามารถลงชื่อได้ผ่าน https://conforall.com/ และจุดตั้งโต๊ะลงลายมือชื่อบนกระดาษทั่วประเทศ
Tags: , , , , , , , ,