“ไม่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม”

“การแสดงออกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

“ชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้กำลัง และต้องไม่มีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่นักศึกษา นักเรียน และผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมการชุมนุม”

ข้อความข้างต้นคือเงื่อนไขบางส่วนในประกาศว่าด้วยการขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามและประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา 

ประกาศฉบับนี้ยังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ตามหลัก ‘เสรีภาพแห่งวิชาการ’ 

เสรีภาพแห่งวิชาการกลายเป็นหนึ่งข้อถกเถียงว่า มหาวิทยาลัยที่ประกาศข้อจำกัดการแสดงออกตั้งแต่ประเด็นสถานที่และเวลาในการพูด ไปจนถึงการบังคับว่าหากจะจัดงานใดๆ ต้องส่งหนังสือขออนุญาตและต้องมีผู้รับผิดชอบชัดเจน สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่เสรีภาพทางวิชาการได้อย่างไร?

ภายหลังที่ประกาศจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมา SAAP 24:7 องค์กรอิสระที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและพื้นที่สาธารณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมาเคลื่อนไหวผ่านการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ร่วมลงชื่อคัดค้านประกาศขออนุญาตชุมนุมใน มช.พร้อมกับเปิดเวทีเสวนาในมุมมองหลากหลายต่อประกาศขออนุญาตชุมนุมใน มช.ในวันพรุ่งนี้ (12 กรกฎาคม 2566) 

The Momentum ชวนคุยกับ นาวินธิติ จารุประทัย นักศึกษาปี 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม SAAP 24:7 เกี่ยวกับปัญหาของประกาศฉบับนี้ว่า ลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการและนักศึกษาอย่างไร?

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประกาศฉบับล่าสุดว่าด้วยการขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมใน มช.

เบื้องต้นเราได้ยินข่าวว่า มช.จะออกประกาศทำนองนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้รู้เนื้อหา แต่พอเห็นประกาศที่ออกมาว่ามีหลักคิดแบบไหน อาศัยอำนาจอะไร จึงรู้สึกว่ามันตลก เพราะตัวประกาศระบุว่า ‘มีพันธกิจในสถาบันการศึกษาในการทำให้เกิดเสรีภาพทางวิชาการในการศึกษาและการเรียนรู้’ และอ้างถึงสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

แต่พอเข้าไปดูในเนื้อหากลับพูดถึงแต่การควบคุม โดยเฉพาะข้อ 5 ว่าด้วยแนวทางการจัดกิจกรรม ที่ต้องขออนุญาตจากผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้ชุมนุมหรือไม่ รวมถึงต้องขอการชุมนุมผ่านระบบ CMU mobile ซึ่งเป็นแอปฯ ของ มช. 

เราจะเห็นได้ชัดว่า มันควบคุมทั้งประเด็นที่พูด เวลา และสถานที่ ซึ่งตัวประกาศนี้คำโปรยก็กล่าวว่าจำกัดเรื่องอะไรบ้าง เช่น การศึกษา สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม จนถึงการเมือง

อีกทั้งเมื่อตัวเนื้อหาถูกควบคุมด้วยคำว่า ‘ขออนุญาต’ ในแนวทางการปฏิบัติมันกลายเป็นว่าไม่ว่าจะอนุญาตให้จัดชุมนุมหรือไม่ แต่การชุมนุมต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ไม่เสี่ยงความขัดแย้ง ไม่สร้างความวุ่นวาย ไม่ขัดขวางการเรียนการสอนและบริการของมหาวิทยาลัย และจะเห็นว่าหลายข้อเปิดโอกาสให้คนที่มีอำนาจตีความได้กว้างมากว่าจะให้หรือไม่ให้จัดการชุมนุมในแต่ละครั้ง ซึ่งเวลาเราพูดถึงความขัดแย้งหรือการไม่สร้างความเดือดร้อน ก็จะเห็นวาทกรรมแบบนี้ในสังคมที่ฝ่ายอำนาจนิยมใช้ในการโจมตี

ประเด็นต่อมาเรื่องรัฐธรรมนูญ คือประกาศฉบับนี้อ้างถึงสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่ตัวเนื้อหากลับขัดรัฐธรรมนูญเอง เช่น เรื่องการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ระบุไว้ทั้งทางตรงและอ้อม ซึ่งจริงๆ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามพาดพิงสถาบันฯ เพราะเวลาเราพูดถึงการพาดพิงทางใดก็ตาม จะดีหรือไม่ดีก็เป็นการพาดพิงทั้งหมด 

เนื้อหาตรงนี้นอกจากจะขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังทำให้เกิดสถาบันเป็นของตัวเอง หมายถึง มช.พยายามจะเคลมว่า สถาบันกษัตริย์เป็นของตัวเองกลุ่มเดียวในพื้นที่ของตัวเอง เพราะเนื้อหาอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่ มช.ไม่เห็นดีเห็นงาม มช.ก็จะไม่ให้พูดในพื้นที่ของตัวเอง

เมื่อเราพิจารณาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่จริงเราจะเห็นว่า กษัตริย์จะอยู่ในฐานะประมุขของรัฐที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ มีการทำนุบำรุงประเทศให้เจริญในด้านต่างๆ แต่พอไปดูตรงหัวประกาศที่ระบุว่าเป็นเสรีภาพสามารถกล่าวได้ แต่ที่จริงแล้วกลับไม่อนุญาตให้ใครก็ตามใน มช.พาดพิงถึงสถาบันฯ เสียอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกว่า ตรงนี้มันสร้างคำถามใหญ่ว่า สิ่งนี้ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อ มช. และประชาชนจริงหรือ?

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประกาศฉบับนี้

ผมมี 2 ข้อหลัก คือ

1. การเพิ่มเติมเนื้อหาจากประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการจัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลขึ้นมา เหมือนเป็นการสถาปนาความชอบธรรมที่ มช.จะใช้กฎหมายเล่นงานคนที่เห็นต่าง เพราะระบุไว้ชัดว่าการกระทำใดๆ ก็ตามที่ผิดกฎหมายให้เป็นความรับผิดชอบของตัวบุคคลผู้เป็นคนขอยื่นจัด ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สำคัญมาก

2. เรื่องเนื้อหาต่างๆ ในตัวประกาศ ในฐานะที่เราทำกิจกรรมหลายอย่างใน มช.ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นเสมอว่า ประเด็นทุกอย่างที่ มช.นำมาเขียนในประกาศฉบับใหม่ เป็นประเด็นที่ มช.คงจะสังเกตการณ์ในสิ่งที่ตัวเองรับมือกับความขัดแย้ง ว่ามีการเคลื่อนไหวเรื่องใด วิธีไหนไม่ได้บ้าง เขาก็นำมาเขียนในประกาศฉบับนี้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สภานักศึกษาเคยออกแถลงการณ์ประณามรัฐทหารพม่าที่มีการประหารชีวิตนักศึกษาพม่า 7 คน โดยตอนนั้นมีการยื่นหนังสือที่กงสุลอเมริกาที่เชียงใหม่และกงสุลพม่า ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องที่ มช.โดนกดดันจากทุกทาง เขาเลยหยิบตรงนี้มาอุดรอยรั่วของตัวเอง

สิ่งที่เพิ่มมาจากประกาศปี 2563 คือต้องมีคนรับผิดชอบการชุมนุม นอกจากประเด็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพแล้ว ในแง่กระบวนการทำไมต้องหาคนรับผิดชอบ

ในเชิงบริบทก่อนที่จะมาถึงประกาศตัวนี้ เพราะประกาศตัวนี้ไม่ใช่จู่ๆ จะโผล่มา อย่างที่บอกไปว่า มช.เอาบทเรียนเก่าๆ ของตัวเองมาสร้างการรับมือใหม่

ถ้าเราจะพูดถึงคลื่นความตื่นตัวทางการเมืองช่วงสามสี่ 3-4 ปีหลังมานี้ เราจะต้องพูดถึงตั้งแต่ปี 2562 ที่มีม็อบคนอยากเลือกตั้ง แล้วค่อยๆ เป็นคลื่นใหญ่สุดในปี 2563 จนเป็นการตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่มาก เพราะมีการชุมนุมในหลายจังหวัดควบคู่ไปกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มไปคลุกคลี เราถามกลุ่มที่จัดชุมนุมใน มช.ช่วงนั้น ตอนนั้นประกาศฉบับนี้ออกมาในช่วงที่มีการจัดชุมนุมครั้งใหญ่ในชื่อ ‘มอชองัดข้อเผด็จการ’ ที่มีนักเรียนขึ้นปราศรัยด้วย ที่จริงประกาศนี้ก็มีการพัฒนามาถึงปัจจุบัน

มช.พยายามแสดงภาพลักษณ์ให้เหมือนตัวเองให้เสรีภาพในการชุมนุมผ่านประกาศตัวนั้น แต่เราจะเห็นอีกทางที่มหาวิทยาลัยกำลังพยายามไต่อันดับตามดัชนีวัดความยั่งยืน (SDGs) ที่ช่วงนี้มหาวิทยาลัยในไทยกำลังแข่งกัน

มีช่วงหนึ่งในปี 2564 ที่ มช.นำประกาศชุมนุมปี 2563 ไปเคลม SDGs ในเรื่องของสิทธิการเมือง ซึ่งตรงนี้เหมือนกับเขาจะให้ความสำคัญกับเสรีภาพทั้งที่ความเป็นจริงเขาขัดขวางสารพัดอย่าง พยายามจะควบคุมทั้งประเด็นและสถานที่

ต่อมาเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ถูกคุกคามและควบคุมตลอดเวลา เราจะเห็นหลายประเด็น เช่น การเข้ามายึดผลงานนักศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ และการเสวนาการกระจายอำนาจ

เราจะเห็นได้ชัดว่า มีการคุกคามเสรีภาพทุกรูปแบบอยู่แล้ว สิ่งที่ มช.มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มี คือ ‘กลไกอำนาจรัฐ’ มช.ทำทุกอย่างผ่านอำนาจที่ มช.ได้รับผ่านรัฐ ทั้งตัวพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยที่ให้อำนาจในการออกประกาศและข้อบังคับ และตัวกฎหมายกรรมสิทธิ เราจะเห็นได้ว่าใน มช.มีการใช้เหมือนเป็น ‘นิติสงคราม’ ในการใช้กฎหมายปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPP) การดำเนินงานที่เป็นการปิดปากเราจะเห็นบ่อยใน มช.

ฉะนั้น ลักษณะการดำเนินการทางวินัยทั้งตัวอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ มีคนโดนถูกฟ้องเยอะมาก ซึ่งการฟ้องลักษณะนี้เป็นการฟ้องทั้งคนของ มช.และฟ้องโดย มช.ในฐานะนิติบุคคล อีกทั้ง มช.มีกองกฎหมายเป็นของตัวเองหลายทีม ไหนจะระบบอุปถัมภ์ต่างๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าบางคดีมันถูกทำให้หายไปได้อย่างไร พอนักศึกษาและอาจารย์ถูกเล่นงานด้วยวิธีการทางอำนาจแบบนี้บ่อยๆ มันก็สร้างความขัดแย้งทางชนชั้นในมหาลัยด้วย

คิดว่า มช.มีเหตุผลอะไรในการออกประกาศฉบับล่าสุดออกมา

ในวิธีคิดของผู้บริหารคงคิดว่า เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวมากๆ อย่างที่ผมเกริ่นไปว่า มีการสถาปนาความชอบธรรมทางกฎหมาย วิธีการฟ้องเขาก็จะใช้ประกาศพวกนี้ในการเบิกความคดีว่ามหาวิทยาลัยประกาศแล้วนะ ให้ต้องทำแบบไหน แต่คุณไม่ทำเอง ดังนั้น มันเป็นความรับผิดชอบของคุณ แต่นี่ มช.เพิ่มบทบัญญัติเนื้อหาเข้าไปเพิ่มเติมว่า รายละเอียดของเนื้อหาตรงนี้มีอะไรบ้างที่ต้องควบคุมเพิ่มไป มันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ปกติ มช.ทำอยู่แล้ว แต่นำจุดที่ตกหล่นในประกาศครั้งก่อนมาเพิ่มในประกาศส่วนนี้ ซึ่งเป็นการเล่นงานคนอื่นด้วยกฎอย่างชอบธรรมมากขึ้น

อีกอย่างที่ได้มา คือภาพลักษณ์การเปิดกว้างว่ามีประกาศสำหรับการชุมนุมที่ชัดเจน ใช้สถานที่ได้ด้วย มีพื้นที่จัดการให้เรียบร้อย และมีระบบขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราว แต่เวลาเราพูดถึงเสรีภาพ เสรีภาพตรงไหนที่มันต้องให้ขออนุญาตล่ะ และผมคิดว่า มช.อาจจะเอาไปเคลม SDGs ในปีนี้ด้วยซ้ำ

ประกาศฉบับนี้ที่บังคับใช้ จะส่งผลอย่างไรกับการขับเคลื่อนในอนาคตบ้าง

ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงเสรีภาพมักจะเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ขาดกับพื้นที่สาธารณะและประชาธิปไตย

แต่พอมาดูประกาศทั้งฉบับนี้และทุกฉบับก่อนหน้าของ มช. มันไม่ได้มีอณูไหนเลยที่ใครควรจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ ดังนั้น การออกประกาศฉบับนี้คือการพยายามเคลมของ มช.หรือไม่ที่จะบอกว่า ‘พื้นที่ของ มช.ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ’ มันเป็นการพยายามจะทำให้เป็นเอกชนหรือเปล่า

ในสถาบันการศึกษาทุกที่ ผมคิดว่าในยุคเสรีนิยมใหม่นี้มันมีความพยายามจะทำให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบและมีความพยายามทำให้เป็นเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราถามว่ามหาวิทยาลัยเป็นของใครมันจะเกิด Dilemma ทันที เพราะพวกตำแหน่งต่างๆ มันเปลี่ยนตามวาระและข้อบังคับ พันธกิจของสถานศึกษาที่มันจะยึดโยงกับตัวสังคมมันก็ต้องมีการยึดโยงกับตัวสังคมอยู่วันยังค่ำ

ประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้มีแค่อาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และตัวผู้บริหาร แต่ยังรวมถึงตัวชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยด้วย มันมีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ดังนั้น การที่ มช.พยายามประกาศว่า เราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง แถมยังต้องขออนุญาตมช.ก่อน คือการประกาศอย่างชัดเจนทันทีว่า พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ของพวกคุณ ประเด็นอะไรก็ตามที่ มช.ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยก็จะพูดไม่ได้

สุดท้ายทางกลุ่ม SAAP 24:7 กำลังจะจัดเสวนาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เกี่ยวกับประกาศฉบับนี้ และการใช้พื้นที่แสดงการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน มช. อยากให้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับงานให้ฟัง

ด้วยบทบาทเบื้องต้นของ SAAP 24:7 เป็นกลุ่มที่พูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะและเสรีภาพ นี่เป็นจุดมุ่งหมายหลักในการพูดเรื่องนี้ใน มช.

งานนี้ชื่อว่า ‘ประกาศชุมนุม ขยุ้มหัวใจ’ เราจะจัดในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเตรียมงานเราก็คุยกันว่าเรื่องนี้ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (steakholder) บ้างที่จะสามารถนำเสนอมุมมองได้กับประกาศที่ออกมา เราพยายามชวนทุกฝ่ายมา ทั้งฝ่ายบริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ที่จริงพวกเราคำนึงถึงระบบตัวแทนอยู่ว่า อาจไม่ครอบคลุมกับเจตจำนงของทุกคนทั้งหมด แต่ที่จัดงานนี้ขึ้นมาเพราะต้องการนำเสนอมุมมองหลายๆ ฝ่ายให้ผู้บริหารว่าเขาไม่ควรคิดแค่ฝั่งตัวเองฝ่ายเดียว

โดยเราแบ่งเป็น 3 ช่วงการเสวนา ช่วงแรกคุยเรื่อง ประกาศขออนุญาตชุมนุมใน มช. กับสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ถัดมาเป็นวงเสวนา ‘พื้นที่สาธารณะใช่มุ้ยนะ’ พูดคุยกันเรื่องประกาศขออนุญาตชุมนุมใน มช.กับหลักการพื้นที่สาธารณะ และสุดท้ายเป็นกิจกรรม ‘ไม่ได้เรียกร้อง… แต่ของมันต้องมี’ แถลงข้อเรียกร้องต่อประเด็นการออกประกาศขออนุญาตชุมนุมใน มช. และแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประกาศขออนุญาตชุมนุม

ตอนนี้คนยังลงชื่อไม่มากนัก แต่เราก็หวังว่า การที่ขับเคลื่อนในตอนนี้และวงเสวนาที่กำลังจะถึงนี้จะสามารถสะท้อนเสียงของเราไปให้ผู้บริหาร มช. ฟังบ้างว่า การที่มาตัดสินใจและทึกทักเอาเองมันไม่ถูกต้อง

Fact Box

คลิกเพื่อลงชื่อสนับสนุน 2 ข้อเรียกร้องแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อกรณีการออก ‘ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2566

ซึ่งมีเนื้อหาลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออก ไม่คำนึงถึงหลักการพื้นที่สาธารณะ และสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

ท่านสามารถลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ถึงวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 19.00 น. ผ่านช่องทาง https://forms.office.com/r/kr22GR3S7A

 

Tags: