วันนี้ (26 กันยายน 2566) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและคณะ แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดี ‘กำนันนก’ ที่ลูกน้องใช้อาวุธปืนยิงตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ศาลได้ออกหมายจับ ธนัญชัย หมั่นมาก ลูกน้องคนดังกล่าวของกำนันนก ในวันที่ 7 กันยายน 2566 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่น และออกหมายจับกำนันนกในข้อหาเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมองว่า เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล รวมถึงเป็นคดีที่สะเทือนขวัญประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจมาก ดังนั้น วันเดียวกัน (7 กันยายน 2566) จึงโอนคดีให้กับกองบังคับปราบปราม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอิทธิพลหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ได้

พลตำรวจโทจิรภพเริ่มต้นกล่าวว่า ประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายไปร่วมที่งานวันเกิดเหตุ ทางตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบพบว่า ในวันนั้นมีตำรวจไปร่วมงานทั้งหมด 29 นาย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือตำรวจที่เป็นผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ตำรวจที่มีพฤติการณ์ช่วยเหลือผู้ต้องหา 6 นาย ตำรวจที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันทีขณะเกิดเหตุ 6 นาย และตำรวจที่มีพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 15 นาย ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้จะถูกแจ้งข้อหาให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์นี้ (29 กันยายน 2566) และเชื่อว่าตำรวจกลุ่มนี้จะไม่หลบหนี

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ ใช้อาวุธปืนปลิดชีพตนเองในบ้านพักย่านคูคต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจว่า การเสียชีวิตครั้งนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับคดีกำนันนกอย่างไรหรือไม่ พลตำรวจโทจิรภพแถลงว่า พันตำรวจเอกวชิราอยู่ในตำรวจกลุ่มที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยทันที จึงไม่เข้าข่ายความผิดทั้งช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนคดีเรื่องการประมูลงานรัฐของกำนันนก ในตอนนี้ตำรวจสอบสวนกลางได้ทำการสืบสวนคู่ขนานไปกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประเด็นต่อมา เรื่องของ ‘กล้องวงจรปิดจุดเกิดเหตุ’ ที่ถูกทิ้งลงน้ำ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางกล่าวว่า เสาะหาจนพบเพื่อนำมาเป็นหลักฐานและส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานแล้ว โดยกล้องมีจำนวนทั้งหมด 15 ตัว มีบางตัวที่เสียไป บางตัวไม่พบการบันทึก อย่างไรก็ตาม ทางกองสอบสวนกลางมีแผนจะส่งให้ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์และส่งให้ต่างประเทศต่อไป เพื่อให้สามารถยืนยันข้อมูลหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้จุดที่สำคัญที่สุดคือ ‘กล้องตัวที่ 6’ เพราะเป็นจุดที่ถ่ายตรงกับลานจัดงาน ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพ โต๊ะกลม 1 ตัว โต๊ะยาว 1 ตัว โดยย้ำว่า หากกู้กล้องตัวนี้ได้จะมีประโยชน์มาก เพราะจะเห็นทั้งก่อน ขณะ และหลังเกิดเหตุการณ์อย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีการดึงปลั๊กหรือสายแลนออกก่อนเริ่มงานได้

ต่อข้อสอบถามจากสื่อมวลชนว่า คดีนี้ได้ถูกโอนมายังตำรวจสอบสวนกลางเพราะมีความเกี่ยวข้องกับ ‘บิ๊กโจ๊ก’ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล หรือไม่ พลตำรวจโทจิรภพกล่าวว่า ที่คดีนี้ถูกโอนมาที่นี่ เพราะเป็นคดีที่มีความซับซ้อน สะเทือนขวัญ และเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล จึงขออนุมัติไปทางตำรวจแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2566 

สำหรับรายชื่อของนายตำรวจที่รับส่วย ตอนนี้กำลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ สื่อมวลชนจึงถามต่อว่า เพราะเหตุใดตำรวจจึงต้องไปที่บ้านกำนันนก สิ่งนี้กำลังสะท้อนอะไรหรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ใดเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตอบว่า ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสะท้อนถึงปัญหาของตำรวจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่ตำรวจมักไปสนิทสนมกับนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งส่วนตัวตนไม่เห็นด้วย และอนาคตจะจัดการตำรวจที่อยู่ในเครือข่ายของผู้มีอิทธิพล

ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางยืนยันผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ พร้อมย้ำว่า มีการสืบสวนสอบสวน คณะทำงานประชุมทุกวัน เพื่อเร่งให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด และจะไม่ยอมให้ตำรวจยศไหนหรือผู้มีอิทธิพลคนใดมาวิ่งเต้นในคดีนี้อย่างแน่นอน

Tags: , ,