จากประเด็นเด็ก 10 ขวบ ขึ้นปราศรัยทางการเมืองในกิจกรรม ‘ขอบคุณประชาชน ฟังเสียงทุกคนก่อนโหวตนายกฯ’ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 การให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะขึ้นเวทีการเมืองครั้งนี้เปรียบเหมือนการฉายภาพซ้ำของเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่แกนนำเยาวชนช่วยชาติวัย 15 ปี ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มไทยภักดี ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมออนไลน์อย่างหนักว่า “ควรให้เด็กพูดปราศรัยในเวทีการเมืองหรือไม่”

เด็กไม่จำเป็นต้อง ‘พร้อม’ ก็สามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง

เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ตอบกลับทวิตของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นว่า “ไม่ใช่การขึ้นเวทีฆ่าเวลานะครับ แต่เราอยากฟังเสียงของทุกคนทุกเพศทุกวัย ในหัวข้ออยากเห็นอะไรจากนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย การรับฟังความต้องการของน้องก็เป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการงานนี้ครับ”

การรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีในสังคม เพราะการเปิดพื้นที่พูดคุยประเด็นทางการเมืองให้แก่เยาวชนนั้น ช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่าง และทำให้เข้าใจความต้องการของเด็กและเยาวชนมากขึ้น แน่นอนว่า เด็กทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดความต้องการของตนเอง มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในประเด็นสังคม และมีสิทธิที่จะขับเคลื่อนบ้านเมืองให้ดีขึ้น ตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ข้อ 13 ซึ่งกล่าวถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสตามกฎหมาย) ไว้ว่า “เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับหรือส่งต่อข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่จำกัดเขตแดน ไม่ว่าจะโดยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปศิลปะหรือผ่านสื่อใดๆ ตามที่เด็กเลือก” 

และเพื่อลดจุดอ่อนของเด็กที่ขาดอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจ อนุสัญญาฯ จึงระบุไว้ในข้อ 12 ว่า “รัฐภาคีจะประกันแก่เด็กให้สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนเองโดยเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กนั้น”

อย่างไรก็ตาม เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ควรได้รับการคุ้มครองทั้งร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของพวกเขาเช่นกัน ตามอนุสัญญาฯ ข้อ 19 และ 36 ซึ่งกล่าวถึงสิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองของเด็กไว้ว่า “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ด้านนิติบัญญัติ บริหาร สังคมและการศึกษา ในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากรูปแบบทั้งปวงของความรุนแรง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

การทำร้ายหรือการกระทำอันมิชอบ การทอดทิ้งหรือการปฏิบัติโดยประมาท การปฏิบัติที่ผิดหรือการแสวงประ โยชน์ รวมถึงการกระทำอันมิชอบทางเพศ ขณะอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเด็กนั้นอยู่ในความดูแล” และ “รัฐภาคีจะคุ้มครองเด็กจากการถูกแสวงประ โยชน์ในทุกรูปแบบอื่นทั้งหมดที่เป็นผลร้ายต่อสวัสดิภาพของเด็กไม่ว่าในด้านใด” ตามลำดับ

เมื่อเด็กคือ ‘ผู้ปราศรัย’ บนเวทีการเมือง พวกเขาอาจกลายเป็น ‘เครื่องมือทางการเมือง’ จากการชักนำของผู้ใหญ่ในสังคมซึ่งต้องการแสวงหาผลประโยน์จากเด็ก

บทเรียนจากอดีต: ไม่ได้กีดกันเด็กออกจากการเมือง แต่ปกป้องเด็กจากพื้นที่อันตราย

“การที่คุณเอาเด็กมาขึ้นเวทีการเมืองแบบนี้มันคือเคสเดียวกับการประกอบสร้างคชโยธีเลย แค่สลับฝั่งขั้วความคิด มันไม่ใช่ว่า ‘ฝ่ายดี’ หรือ ‘ฝ่ายร้าย’ มันคือการ Install ความเชื่อทางการเมืองให้คนที่ Conscious และวิจารณญาณมันไม่ถึง มันส่งแต่ผลเสีย มันสร้าง Footprint และมันผลักให้เด็กที่ถือว่าเป็นมนุษย์ที่บอบบางมาอยู่ในพื้นที่ๆ อันตรายต่อเขา แม่งคิดอะไรอยู่ ไอสัตว์ เห็นละโกรธ Don’t touch kids” ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่ง

นอกจากนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยังแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul อีกว่า “เด็กอายุ 10 ขวบ ย่อมจะมีความคิดเห็นได้ คุยกับเพื่อน คุยกับผู้ใหญ่ แต่เราไม่ถือว่า การคุยเหล่านี้ต้องมีรับผิดชอบตามมา อาจจะเปลี่ยนใจ อาจจะเลิก ฯลฯ ดังนั้น เราจึงไม่ให้เด็กขนาดนี้ไปแสดงความคิดเป็นในที่สาธารณะ เพราะอย่างหลังต้องมีความรับผิดชอบ ผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบแล้ว ให้เด็กไปพูด #เท่ากับเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาด คืออยากจะแสดงความคิดเห็นดังกล่าว แต่ให้เด็กพูด บอกว่า “ก็เรื่องของเด็ก” ครั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จะทำอะไรเด็กก็ไม่ได้ จะทำอะไรผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้พูดเอง “ก็เด็กมันพูด” โดยสรุปแล้ว นับเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาดและไร้ความรับผิดชอบโดยแท้”

การเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีรายละเอียด เงื่อนไข และเบื้องลึกเบื้องหลังมากมาย มิได้แบ่งแยกเพียงฝั่งซ้าย-ขวา ฝ่ายประชาธิปไตย-เผด็จการ หรือสีขาว-ดำ การมองภาพรวมทางการเมืองผ่านเลนส์ของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงอาจตื้นเขิน เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือวิจารณญาณที่มากพอในการพิจารณา วิเคราะห์ และแยกแยะสารที่ได้รับมาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้น หรือพวกเขาอาจถูกกำหนดกรอบความคิดมาจากผู้ใหญ่รอบตัว มิใช่อุดมการณ์โดยแท้จริงของตนเอง รวมถึงเด็กอาจเลียนแบบคำพูดหรือพฤติกรรมของผู้ใหญ่โดยมิได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ซึ่งชุดความคิดของเด็กในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมากพอจึงไม่ควรกลายเป็น ‘หุ่นเชิด’ ทางการเมืองที่อาจถูกควบคุมโดยนักการเมือง ผู้ใหญ่ในสังคม หรือแม้แต่ติดสอยห้อยตามพ่อแม่มาอีกทีหนึ่ง

สังคมไทยเคยได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตอย่าง ‘ม็อบ กปปส.’ มาแล้ว โดยสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเคยคิดว่า ‘ถูก’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นอาจกลายเป็น ‘ความผิด’ ที่ไม่น่าให้อภัย เด็กนกหวีดในตอนนั้นอาจไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องหรือวิถีของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เข้าร่วมม็อบเพราะพ่อแม่พาไป หรือเพราะพวกเขายังไม่มีวุฒิฒิภาวะในการตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยตนเอง เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของนักแสดงวัยรุ่นหลายคน ที่ต้องออกมาก้มหน้ารับผลการกระทำของตนเองในอดีตที่พ่อแม่ของพวกเขาเป็นผู้ชักจูงให้ก่อ เพราะใบหน้าที่แผ่ชัดอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตคอยตอกย้ำถึงเหตุการณ์ในอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมันจะไม่มีวันหายไป

‘ความคิดเห็นทางการเมืองของสังคมในวันนี้อาจไม่ใช่ความจริงอันเป็นนิรันดร์ แต่ Digital Footprint หรือร่องรอยบนโลกดิจิทัลจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กไปตลอดกาล’

สอดคล้องกับการกำหนดอายุขั้นต่ำในการเลือกตั้ง

“เข้าใจแล้วว่าทำไมเวลาเลือกตั้ง ต้องเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะ เพราะวัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว แต่เด็กยังอยู่วัยที่ต้องเจริญเติบโตทั้งร่างกายและความคิด การทำแบบนี้เหมือนเป็นการชักนำเด็ก ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ยังตั้งคำถามเชิงลึกไม่ได้เต็มที่” ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่ง

โดยหนึ่งในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น มีวิจารญาณในการตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเกิดการถกเถียงให้ลดอายุขั้นต่ำผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็น 15 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนคนรุ่นใหม่กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ส่งเสียงผ่านการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น รวมถึงร่วมกำหนดอนาคตประเทศชาติ ซึ่งคืออนาคตของพวกเขาเอง

‘เด็ก’ ไม่ควรถูกกีดกันออกจากการเมือง แต่ ‘เด็ก’ ควรเป็นผู้ปราศรัยทางการเมืองหรือไม่? นี่คือคำถามที่สังคมต้องร่วมหาคำตอบ

Tags: , , ,