เมื่อวันที่ 18 ต.ค. รัฐบาลสกอตแลนด์ยืนยันแล้วว่าวัวอายุ 5 ปีในฟาร์มแห่งหนึ่งที่เมืองอะเบอร์ดีนมีเชื้อวัวบ้าจริง มีประกาศพื้นที่กักกันเชื้อโรคบริเวณโดยรอบของฟาร์ม และยังอยู่ในช่วงค้นหาต้นตอของเชื้อนี้

การตรวจพบเชื้อโรควัวบ้าหรือ Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE) ในกรณีนี้เป็นผลมาจากระบบเฝ้าระวังของรัฐบาลสกอตแลนด์ที่กำหนดว่า กรณีที่สัตว์อายุ 4 ปีขึ้นไปตายในฟาร์มต้องมีการตรวจหาเชื้อวัวบ้า และตามกฎของสหภาพยุโรปต้องทำลายลูกของมันถ้าตรวจพบเชื้อ

โรควัวบ้าเกิดจากโปรตีนที่ผิดปกติในเนื้อเยื่อสมองที่เรียกว่า พรีออน (prion) วัวส่วนใหญ่จะติดโรคจากการกินเนื้อป่นและกระดูกป่นของสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งมีพรีออนปนเปื้อน  เชื้อวัวบ้าทำลายระบบสมอง วัวจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อและการทรงตัว ทำให้มีอาการตัวสั่น เดินกระโผลกกระเผลก ส่ายตัวไปมา พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น ตื่นเต้น ดุร้าย และ คลั่ง และอาจมีน้ำหนักหรือน้ำนมลดลง วัวที่ติดเชื้อทุกตัวจะตาย

คนก็ติดเชื้อวัวบ้าได้จากการกินเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้า และก่อให้เกิดโรคที่เรียกว่า variant Creutzfeldt-Jakob (vCDJ) และทำให้เสียชีวิตได้

เฟอร์กัส เอวิง (Fergus Ewing) รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจชนบทของสกอตแลนด์กล่าวว่า รัฐบาลห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายสัตว์จากฟาร์มนี้ ตามกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน และยังกล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าระบบเฝ้าระวังที่ให้ตรวจจับโรคนี้ใช้การได้

เนื่องจากวัวที่ตายถูกแยกออกมาตรวจต่างหาก ดังนั้นเชื้อโรควัวบ้าจึงยังไม่ทันเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารของคน ทางการสก็อตแลนด์ยืนยันว่านี่เป็นผลจากการใช้มาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด

กรณีนี้ถึอเป็นครั้งแรกที่พบโรควัวบ้าในสกอตแลนด์นับตั้งแต่การระบาดครั้งใหญ่ที่ทำลายอุตสาหกรรมปศุสัตว์เมื่อหลายปีก่อน เชื้อวัวบ้าถูกค้นพบในวัวอังกฤษเมื่อปี 1986 ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปี 2001 มีวัวที่ดิดเชื้อ 180,000 ตัว ในช่วงที่การระบาดรุนแรงที่สุดเมื่อมกราคม 1993 มีรายงานว่าทุกสัปดาห์จะมีวัวติดเชื้อใหม่ 1,000 ตัว การระบาดครั้งนั้น มีการฆ่าวัวราว 4.4 ล้านตัวเพื่อกำจัดโรค

ในปี 1996 เป็นครั้งแรกที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อโรควัวบ้า และต่อมามีผู้เสียชีวิตรวม 178 คน สันนิษฐานว่ามาจากการกินเนิ้อวัวที่ติดเชื้อเข้าไป และผู้ที่ติดเชื้อมีพันธุกรรมที่ไวต่อเชื้อมากกว่าคนส่วนใหญ่ หลังจากนั้น จึงเกิดมาตรการติดตามวัวอย่างใกล้ชิดของรัฐบาล

ตั้งแต่ปี 2011 ในสหราชอาณาจักร มีการพบวัวที่ติดเชื้อวัวบ้า 16 กรณี กรณีสุดท้ายคือในปี 2015 ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเวลส์

ทั่วโลกห้ามสหราชอาณาจักรส่งออกเนื้อวัวตั้งแต่มีนาคม 1996 จนกระทั่งอียูยกเลิกข้อห้ามนี้เมื่อปี 2006 ส่วนจีนเพิ่งจะยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากอังกฤษในปีนี้เอง

ชีลา โวแอส (Sheila Voas) หัวหน้าหน่วยสัตวแพทย์ของสก็อตแลนด์กล่าวว่า ตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าโรคนี้มาจากไหน แต่การที่เจอวัวที่ติดเชื้อนี้ก็พิสูจน์ว่าระบบเฝ้าระวังของเราทำงานดี เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยสุขภาพสัตว์และพืชเพื่อตอบคำถามว่าโรคมาจากไหน  และขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวที่กังวลปรึกษาสัตวแพทย์ทันที

 

ที่มา:

Tags: , ,