วันนี้ (26 กรกฎาคม 2565) ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวตอนหนึ่งในงาน ‘Circular Living Symposium: Together to Net Zero’ ซึ่งจัดโดย บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคัล ว่าตอนทำแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มองเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญที่ต้องพูดถึง และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับประเด็น Net Zero หรือเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ในระดับโลกทุกคนอาจมองเห็น แต่เมื่อเป็นระดับท้องถิ่น ทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นเห็นชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทย ปีที่แล้วมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 52 เปอร์เซ็นต์ และเดือนที่แล้วบางจุดในกรุงเทพฯ มีฝนตกหนักถึง 140 มิลลิเมตร โดยแนวโน้มคือฝนจะตกเป็นหย่อมๆ อย่างรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันในต่างประเทศ ทั้งเกาหลีและจีนก็เจอปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ในยุโรปก็เจอปัญหาคลื่นความร้อน เพราะฉะนั้น สภาวะโลกรวนนั้นรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบกับประเทศไทยแน่นอน
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เหตุที่ต้องรณรงค์เรื่องโลกรวน เพราะไทยเป็นอันดับ 9 ที่มีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสูงสุด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ สำหรับเป้าหมาย Net Zero มีเรื่องหลักๆ ที่สำคัญก็คือการจัดการเรื่องการใช้ยานพาหนะ การลดการใช้พลังงานในอาคาร การจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม โดยเรื่องการปลูกต้นไม้นั้น กทม. เริ่มทำไปแล้ว และขณะนี้มีคนสัญญาว่าจะร่วมปลูกแล้วกว่า 1.6 ล้านต้น ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน
สำหรับบทบาทของภาครัฐ ชัชชาติเห็นว่าจำเป็นต้อง ‘อำนวยความสะดวก’ ให้กับภาคเอกชนที่ต้องการจะร่วมทางในเป้าหมายนี้ และต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า แม้จะเป็นปัญหาระดับโลกก็ต้องให้ภาคเอกชนในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป้าหมายทั้งหมดควรต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อให้คนเห็นว่าเรื่องโลกรวนไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเห็นว่าการกำหนดเป้าหมายระยะสั้นหรือ Quick Win นั้นทำได้ทันที เพราะประเทศไทยละเลยเรื่องดังกล่าวมานาน เป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีเป้าหมายระยะกลางและระยะยาว
“เป้าหมาย Net Zero ต้องปรับให้ realistic มากขึ้น เช่น เรามีทาร์เก็ต 2593 เกือบ 30 ปี คนส่วนใหญ่จะบอกว่า ให้กูรอดปีหน้าก็บุญแล้ว คนไม่นึกถึงอีก 30 ปี Net Zero 2593 หรอก เศรษฐกิจแบบนี้ ให้กูรอดปีหน้าก็บุญแล้ว พอเราเซ็ตทาร์เก็ตใหญ่มาก แล้วก็รองมาก จะหาคนร่วมยาก ต้องซอยย่อย
“ปัญหาหลักของไทยคือเราไม่ได้ศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง ถามว่าคาร์บอนฟุตปรินต์ กทม. เท่าไร ผมยังไม่รู้เลย ต้องไปค้นงานของไจกา บอกว่าประมาณ 40 ล้านตัน ฉะนั้น ต้องมีข้อมูล ต้องเซ็ตเป้าหมายให้ชัดเจน มีเป้าหมายประมาณการที่เข้าถึงได้ในปีหน้า ปีที่สอง ปีที่สาม ไม่ใช่รออีก 30 ปี และต้องมีเป้าหมายที่ไปถึงได้”
ผู้ว่าฯ กทม. ยังบอกด้วยว่า ไม่ได้เป็นห่วงบริษัทใหญ่ๆ ในการลดคาร์บอน แต่เป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก-กลาง 3.1 ล้านรายในประเทศ ที่จ้างงานแรงงานเกือบสิบล้านคน ที่อาจทำได้ยาก และไม่อาจเข้าถึงเป้าหมาย Net Zero ด้วยตัวเอง ฉะนั้น ภาครัฐควรต้องโปรโมตเรื่องนี้ไปที่ชุมชน และคนตัวเล็กตัวน้อย
สำหรับสิ่งที่ภาครัฐควรทำเพื่อเอื้อให้ไปถึงเป้าหมาย Net Zero ที่ชัชชาติแนะนำ ได้แก่
1. ภาครัฐต้องมีเซอร์วิสที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบอกประชาชนให้แยกขยะ เพื่อลดปัญหาโลกรวน รถเก็บขยะก็ต้องแยกขยะให้
2. ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ยกตัวอย่างเช่น มีการพูดถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถอีวีมากมาย แต่ประชาชนยังไม่สามารถมีที่ชาร์จด้วยตัวเองได้ เมืองก็ต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้
3. ต้องมีแรงจูงใจ ให้เอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมในเป้าหมาย Net Zero โดยหากเอสเอ็มอีเหล่านี้มีนโยบาย หรือมีการทำงานที่สามารถลดคาร์บอนได้ ก็อาจต้องมีข้อกำหนดพิเศษ มีคะแนนเพิ่มในการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ มิเช่นนั้น ทุกคนก็จะแข่งกันที่ราคาต่ำสุด ซึ่งสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เอสเอ็มอีจะเข้าแข่งขันยาก
4. ภาครัฐอาจต้องมีแรงจูงใจในด้านภาษีเข้ามาช่วย สำหรับบริษัทที่ช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย Net Zero
สำหรับ กทม. เริ่มมีการดำเนินการหลายอย่างแล้ว เช่นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพิ่งมีการประชุมกับองค์กรไจกา และทำความเข้าใจกับหน่วยงานใน กทม. ทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจเรื่อง Net Zero ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการต่างๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เช่น ปลูกต้นไม้ล้านต้น โครงการแยกขยะ ซึ่งจะเริ่มนำร่องใน 3 เขต คือสาทร ปทุมวัน และหนองแขม ในวันที่ 4 กันยายนนี้
ขณะเดียวกันก็มีแผนในการทำกรุงเทพฯ ให้เย็นลงให้ได้ ด้วยการมีพื้นที่สีเขียวแนวดิ่งบนหลังคา การออกกฎหมายควบคุมอาคารเพื่อให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น และทำให้เอกชนลงทุนในการประหยัดพลังงานมากขึ้น
สำหรับเป้าหมาย Net Zero 2050 เป็นเป้าหมาย ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ที่ทั่วโลกให้คำมั่นไว้ว่าในปีดังกล่าวจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศบนเวทีสุดยอดผู้นำโลก COP26 ที่ประเทศสก็อตแลนด์เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาว่า ไทยจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2593
Tags: คาร์บอนฟุตปรินต์, Report, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, carbon footprint, Net Zero